ไม่เคยคิดโทษ เวรกรรม แม้ ‘ซันซัน’ ลูกฉันจะไม่เหมือนใคร (ตอนจบ)

เวรกรรม อาจเป็นคำปลอบใจเวลาที่คนเราเจอเรื่องหนักหนาสาหัสในชีวิต แต่ไม่ใช่คำที่ ‘ล้วน-กรวรา อัศวลาภนิรันดร’ จะนำมาใช้เพื่อจำนนต่ออาการของ ‘ซันซัน’ ลูกสาวที่เธอรักดังแก้วตาดวงใจ

วันที่หมอหมอฟันธงว่าลูกสาวมีปัญหาทางการได้ยิน  ความเหนื่อยทั้งหมดทำให้คุณแม่อย่างเธอจิตตก แต่นั่นก็เป็นเพียงชั่วแวบเดียว เพราะหลังจากนั้นเธอก็ตั้งปณิธานว่าจะจะสู้ไปพร้อมกับลูก โชคยังดีว่าท่ามกลางแสงมัวหม่น คุณหมอที่รักษาหนูซันซันก็ยังมีข่าวดีมาบอกกล่าวบ้าง

“หมอบอกว่าเรื่องการได้ยินสามารถรักษาหายได้ด้วยการฝังประสาทหูเทียม  แต่ซันซันพิเศษกว่านั้น  คือเส้นประสาทหูเขาเล็กกว่าปกติ  จึงไม่สามารถผ่าได้  ต้องรอให้น้ำหนักขึ้นถึง 6 กิโลกรัมก่อน  ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่  มีอีกวิธีคือฝังประสาทหูที่ก้านสมอง  แต่ทั้งโลกเพิ่งมีแค่  50 ราย อัตราเสี่ยงสูงมาก  เมื่อเข้าตาจน  ล้วนส่งอีเมลรูปและผลการตรวจไปขอคำแนะนำหมอจากทั่วโลก  คิดว่าหากตอบมาสักคนก็ประสบความสำเร็จ ทำให้รู้ว่ายังมีน้ำใจอยู่รอบตัวพร้อมจะหยิบยื่นมาในยามที่ร้องขอ  เพราะมีหมออเมริกันที่มีชื่อเสียงตอบกลับมาว่าควรผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม

“ล้วนจึงนำมาปรึกษากับหมอที่เมืองไทย  ตัดสินใจทำพร้อมกับผ่าตัดเพดานโหว่  กระทั่งซันซัน 8 เดือนก็ยังไม่ชันคอ  ตัวอ่อนปวกเปียก  พอดีว่าล้วนต้องเดินทางไปดูงานที่เยอรมนี  นึกถึงว่าเคยฟังเรื่องราวของคุณวอลเตอร์ ลี  ในทีวี  เขาพาลูกที่ไม่มีแขนขาไปรักษาที่เยอรมนี  จึงเขียนอีเมลไปปรึกษา  อย่างน้อยจะได้ทำความรู้จักกับหมอ  ซึ่งคุณวอลเตอร์ก็กรุณาแนะนำให้ไปที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก

“เมื่อเราได้รับน้ำใจที่ดี  จึงอยากตอบแทนน้ำใจนั้นกลับ  ด้วยการเสนอตัวทำงานกับมูลนิธิ ZMF (Zy Movement Foundation)  ทำให้เราเห็นว่าจากที่ทำเพื่อตัวเองมาตลอด  เราสามารถตอบแทนกลับสู่สังคมได้ กลายเป็นว่ายิ่งให้ยิ่งได้  เพราะภรรยาคุณวอลเตอร์ใช้เทคนิค ‘วอลต้า เทอราปี’ นวดน้องซายแล้วดีขึ้น  ล้วนจึงเริ่มมีความหวังว่าจะช่วยให้ซันซันเดินได้ ไหม  เพราะตอนนั้นเขา 8 เดือน  แต่พัฒนาการเท่ากับเด็ก 2 เดือน  วันหนึ่งหมอจากเยอรมนีมาดูงานที่ศูนย์สิรินธร  ล้วนจึงพาซันซันไปตรวจ  เป็นข่าวดีว่าสามารถรักษาได้  จึงเดินทางไปฝึกเทคนิควอลต้าที่เยอรมนี  หมอบอกว่าไม่ต้องบังคับให้เด็กเป็นไปตามพัฒนาการ  หากเขาพร้อมเมื่อไหร่ จะทำเอง  ซึ่งขัดกับที่เคยฝึกจากโรงพยาบาลในเมืองไทย

“ล้วนคิดว่าเราฝึกมาปีกว่าก็ยังไม่เห็นผล  หากช้าอีกนิดจะเป็นไร  จึงทิ้งที่เรียนทั้งหมดมาเริ่มต้นใหม่  ด้วยการกดจุดเพื่อกระตุ้นการรับรู้ของสมองให้เกิดปฏิกิริยากับกล้ามเนื้อโดยอัตโนมัติ  ตอนแรกเขาร้องไห้เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอยู่เฉยๆ วันละ  4 ครั้ง  ล้วนจึงบอกเขาว่าเราต้องช่วยกันนะ  หนูจะได้นั่งได้ เดินได้  เขาอาจจะไม่เข้าใจ  แต่ก็ให้ความร่วมมือ  คิดดู  จากที่พาไปฝึกพัฒนาการที่โรงพยาบาลเป็นปี  ไม่สามารถชันคอได้  แต่เพียงแค่  3 เดือน สามารถชันคอได้เลย  สักพักตั้งศอกแล้วเริ่มถัดตัวมาข้างหน้า  จนสามารถตั้งศอกข้างหนึ่งเพื่อเอื้อมมือไปหยิบของเล่น  จนถึงนั่งได้  แม้เป็นตุ๊กตาล้มลุก  แต่ก็ทำให้เรามีความหวัง  จึงลุยเต็มที่

“พอซันซันผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแล้ว  เราก็พาไปฝึกพูด  เขาสามารถทำรูปปากได้  แต่ออกเสียงไม่ได้  มิสเตอร์ไป๋ซึ่งเป็นคนแนะนำหมอให้คุณวอลเตอร์  เราเจอเขาที่เยอรมนี  แฟนเขาเป็นหมอเชี่ยวชาญทางหู  คอ  จมูก  ได้ตรวจซันซัน  พบว่าเส้นประสาทจากหูไปสู่ประสาทส่วนกลางไม่ตอบสนอง  จึงไม่สามารถแปรเป็นเสียงได้  กระทั่งเขาอายุ  5 ขวบ  เริ่มหงุดหงิด  อยากได้อะไรก็บอกไม่ได้  เราเดาถูกบ้าง  ไม่ถูกบ้าง ไม่สบายตัว  หิว  เบื่อ  กลัว  เป็นอะไรก็สื่อสารไม่ได้  ที่ผ่านมาลูกก็ได้พยายามเต็มที่แล้ว  จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะช่วยลูกบ้าง

“ล้วนจึงไปถามที่วิทยาลัยราชสุดา  มหาวิทยาลัยมหิดล  มีเปิดสอนภาษามือหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี  แต่กว่าจะสื่อสารกับลูกได้ต้องรอ  4 ปี คงไม่ทันกาล  ถึงอย่างไรก็ยังไม่หมดหวัง  ลองอ่านหนังสือที่เขาให้มา  ซึ่งมีแค่คำว่า  สวัสดี  ขอบคุณ  ขอโทษ  หิว  อิ่ม  ชอบ  ไม่ชอบ  นับ 1-20 คงไม่พอ  ลองเปิดเว็บไซต์ไทยก็พบแต่คำว่า Under Development ลองเสิร์ชหาเว็บภาษาอังกฤษ  สะดวกกว่ามาก  อยากรู้คำไหนสามารถเปิดดูได้เลย  โชคดีว่าภาษามือในภาษาอังกฤษเหมือนกับภาษามือของไทย 52 เปอร์เซ็นต์  ล้วนจึงสมัครออนไลน์  มีซีดีที่เราสามารถเปิดดูเมื่อไหร่ก็ได้  เริ่มต้นล้วนเลือกเรื่องใกล้ตัวที่จะทำให้ชีวิตลูกอยู่รอด  เช่น  สี  ผลไม้  น้ำ  นม  ข้าว  ไข่  คิดว่าจะเตรียมอุปกรณ์การสอนอย่างไร  หรือ พาเขาไปเจอสถานการณ์จริงอย่างไร  แล้วเรียนรู้ไปกับลูก

“ความที่เขาอยู่ท่ามกลางความเงียบ ทางเดียวที่ลูกจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกได้ก็จากสีหน้า และท่าทางของเรา  เพราะฉะนั้นจึงต้องสนุกให้มากกว่าปกติ  ตั้งเป้าหมายว่า ใน 1 สัปดาห์จะสอนลูกกี่คำ  ซึ่งซันซันไม่ทำให้ผิดหวัง  แค่เดือนกว่าเขาสามารถสื่อสารด้วยคำง่ายๆ  นับวันก็ยิ่งคุยเก่ง  เล่าเรื่องได้

“ตอนนี้ซันซันสามารถเดินโดยใช้ไม้เท้า หมอบอกไม่น่าเกิน 2 ปีจะเดินได้  เขากำลังเรียนเพื่อเตรียมพร้อมเข้าเรียน  บวกกับล้วนช่วยสอนลูกที่บ้านด้วย  ความที่เขาเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใส  เราจึงไม่ทุกข์  หาความสุขง่าย ๆ ได้จากสิ่งรอบตัว  อยู่กับปัจจุบัน  อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ไม่คาดหวัง  พอเขาทำได้  เราแฮ็ปปี้  คุยกับสามีว่า  เขาไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร  คนทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

“พัฒนาการเขาอาจช้ากว่า แต่ลูกไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร  เขาทำได้แค่ไหนก็ต้องภูมิใจทั้งนั้น ที่สำคัญคืออย่ามัวไปโทษ ‘เวรกรรม’ เพราะมันจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาได้เลย”

เรื่อง : แดนเจอร์

ภาพ : โยธา รัตนเจริญโชค

 

ไม่เคยคิดโทษ เวรกรรม แม้ ‘ซันซัน’ ลูกฉันจะไม่เหมือนใคร (ตอน1)

Praew Recommend

keyboard_arrow_up