ไม่ท้อ ไม่กลัว! ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรหญิงโลกไม่ลืม

Alternative Textaccount_circle

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ “ไม่ท้อ ไม่เหนื่อย ไม่กลัว” คำพูดนี้ติดตัวเธอมานับตั้งแต่ปี 2538 ที่คลอดยา “ซิโดวูดิน”ช่วยลดการถ่ายทอดเชื้อเอดส์จากสตรีสู่ทารกในครรภ์ ผ่านมาถึงวันนี้เธอได้รับรางวัลปริญญาและฉายามากมาย กระทั่ง บิลล์ เกตส์ ยังยกย่องให้เป็น “Heroes in the Field”

ไม่ท้อ ไม่กลัว! ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรหญิงโลกไม่ลืม

Role Model ที่มาของทุกตำแหน่ง ทุกรางวัล และทุกฉายา

“สิ่งที่ทำให้ดิฉันเป็น ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของฉายา ‘เภสัชกร ยิปซี’ ที่คุณดำรง พุฒตาล ตั้งให้ เริ่มจากคุณพ่อ (นายแพทย์สมคิด) ทำงานเป็นหัวหน้าอนามัยอำเภอที่สมุย คุณแม่ (เฉลิมขวัญ) เป็นพยาบาล เปิดคลินิกเล็กๆ ที่บ้าน ทำให้ดิฉันเห็นความยากลำบากและการเสียสละของท่าน และซึมซับการให้มาตั้งแต่เด็ก

“ดิฉันเลือกเรียนเภสัชศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก กลับมาเป็นอาจารย์ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ แต่ตอนนั้นเภสัชเคมียังไม่เป็นที่สนใจ จึงไม่สามารถทำประโยชน์ให้บ้านเกิดได้ ถ้าดิฉันทำงานวิจัยยาน่าจะช่วยผู้คนได้มากกว่า จึงลาออกมาทำงานองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเอดส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดิฉันเริ่มจากการศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ ‘Zidovudine’ (AZT) ได้เป็นครั้งแรกของโลก ตามด้วย ‘GPO-VIR’ ซึ่งรวมตัวยารักษาโรคเอดส์ 3 ชนิดไว้ในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกของโลกอีกเช่นกัน ทำให้ยารักษาโรคเอดส์ราคาถูกลง ลดการกินยาจากวันละ 6 เม็ด เหลือ 2 เม็ด ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาจากหลักหมื่นเป็นหลักพันบาท ทำให้รัฐบาลไทยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ได้เพิ่มขึ้น ส่วนตัวดิฉัน ถูกบริษัทยาฟ้องร้อง ข่มขู่ ขึ้นศาล ติดแบล็กลิสต์ เพราะทำให้เขาเสียผลประโยชน์ แต่ดิฉันถือว่าคนจะตาย รอไม่ได้ ต้องช่วยเหลือ”

“นางสิงห์” พิฆาตเอดส์แห่งทวีปแอฟริกา

“ต่อมาประเทศไทยประกาศในที่ประชุมองค์การอนามัยโลกว่าจะช่วยแอฟริกาผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ในโลก อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา 30 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90 แต่แล้วโครงการเงียบหายไป แอฟริกาทวงถามดิฉันทุกวัน ความที่เราไม่อยากเสียคำพูด จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม เพื่อไปช่วยแอฟริกาเต็มตัว

“เริ่มจากประเทศคองโก ซึ่งมีความขัดแย้งที่สุดในโลก ปลุกปั้นอยู่ 3 ปี สามารถผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ‘afri-vir’ ได้สำเร็จ แต่เกือบแลกมาด้วยชีวิต เพราะมีการยิงปืนยิงระเบิดมาบ้านพักดิฉัน แต่ยิงพลาดไปตกบ้านข้างๆ แต่ไม่ได้ทำให้ดิฉันกลัวหรือเปลี่ยนความตั้งใจ

“จากนั้นไปประเทศแทนซาเนีย สอนชาวบ้านผลิตยามาลาเรียและยาต้านไวรัสเอดส์ ที่นั่นมีโรงงานและเครื่องจักรสร้างโดยชาวฟินแลนด์ ไม่ได้ใช้งานมานานกว่า 40 ปี สามารถผลิตยาช่วยชาวบ้านได้สำเร็จ ทำให้ราคายาที่เขาเคยซื้อจากยุโรปแผงละ 8 ยูโรเหลือแค่ 40 เซ็นต์

“ส่วนที่เบนิน (Banin) ดิฉันช่วยเขาผลิตยาเหน็บทวาร ‘อาร์เตซูเนท’ รักษามาลาเรียในเด็ก ปกติก่อนนำยาไปใช้ต้องส่งตรวจวิเคราะห์ก่อน ปรากฏว่าเจอเด็กเป็นโรคมาลาเรียขึ้นสมอง ไข้ขึ้นสูงมาก จึงใช้ยานี้กับเขาภายใน 1 ชั่วโมง เด็กน้อยรอดชีวิต ทำให้ดิฉันเกิดปีติว่าการเรียนเภสัชฯ ช่วยชีวิตมนุษย์ได้ทันตา จึงตั้งใจว่าจะช่วยคนให้ได้มากกว่าเดิม”

โมเดลโรงงานผลิตยาสมุนไพรของคนไทย

“ก่อนลาออกจากองค์การเภสัชกรรม ดิฉันผลิตยาสมุนไพร 64 รายการให้มีมาตรฐาน จึงอยากนำความรู้นั้นไปทำประโยชน์ให้ดินแดนที่ตัวเองผูกพัน เช่น สมุย ซึ่งเป็นบ้านเกิด ไร่เชิงตะวันของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธีที่เชียงราย และร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ (มอ.) พัฒนาการผลิตยาสมุนไพรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยตั้งชื่อว่า ‘ลังกาสุกะโมเดล’ มาจาก 3 จังหวัดคือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี สอนเภสัชกรในโรงพยาบาลและชาวบ้านในชุมชนที่เป็นอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์ผลิตยาสมุนไพร จนสามารถเปิดโรงงานผลิตยาสมุนไพรแห่งแรกที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และอีกหลายโรงงานตามมา

“ล่าสุดดิฉันออกแบบโรงงานยาเคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ผลิตยาสมุนไพรทั้งหมดน้ำหนักรวม 20 ตัน บนรถ 6 ล้อ เตรียมนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ มีคนแนะนำให้จดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญา ดิฉันบอกใครอยากจดก็จดเลย รวมถึงสูตรยาที่ดิฉันคิดค้นด้วย เพราะยามีความจำเป็นกับชีวิต หากต้องหาเงินบนชีวิตคน ดิฉันทำไม่ได้ แค่เห็นชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ใช้ยาสมุนไพรที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนยาจนโรงงานผลิตไม่ทันก็ดีใจแล้ว แม้ต้องทำงานเสี่ยงตายก็ไม่กลัว”

อีกมุมของเภสัชกรยิปซีที่โลกไม่รู้

“ดิฉันคิดว่าชีวิตตัวเองไม่เคยขึ้นจึงไม่มีวันตก ต่อให้ใครจะพูดว่า อะไรก็ไม่สามารถกระทบใจเราได้ และเมื่ออายุมากขึ้น เราต้องจัดสรรเวลาให้เกิดประโยชน์ที่สุด จึงเลือกเฉพาะงานสำคัญจริงๆ ไม่ยอมให้งาน รบกวนชีวิตและความชอบส่วนตัวแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีคลาสสิก งานศิลปะ การเขียนหนังสือ หรือแต่งกลอน

“ล่าสุดดิฉันได้รับคัดเลือกจากบิลล์ เกตส์ ให้เป็น ‘Heroes in the Field’ เป็น 1 ใน 2 คนจากทั่วโลก แน่นอนว่าดีใจที่ได้รับเลือก แต่ ไม่เท่ากับสิ่งที่เราทำให้ชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความสุขกับการใช้ยา ล่าสุดพาชาวบ้านไปอบรมการปลูกป่าสมุนไพรอินทรีย์ที่ป่าฮาลาบาลา จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่สีแดงจัด ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้าไป ถามว่ากลัวไหม ดิฉันตอบเลยว่าตายเป็นตาย เพราะนี่คือเป้าหมายการทำงาน “จึงไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะทำไม่ได้ นอกจากเราจะไม่ทำเอง”


เรื่องและภาพ : นิตยสารแพรว ฉบับ 927 คอลัมน์ SPECIAL SCOOP หน้า 134 – 135
ภาพ FB : มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ Krisana Kraisintu Foundation

Praew Recommend

keyboard_arrow_up