เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก ฝึกปฏิบัติการหลากรูปแบบ (ตอนที่25)
หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก ฝึกปฏิบัติการหลากรูปแบบ (ตอนที่25)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก รสชาติชีวิตที่ได้จากการฝึก 

หม่อมเจ้าการวิก และคณะเพื่อนนายทหารเสรีไทย ยังคงฝึกปฏิบัติการต่อไปในหลากหลายวิชา ทั้งการปฏิบัติวิชาสงครามจิตวิทยา  การจารกรรม การโฆษณาชวนเชื่อ การใช้อาวุธปืนและระเบิดจริง ขณะที่ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ กับเพื่อนอีกสองคน ได้เตรียมตัวลักลอบเข้าเมืองไทยเป็นคณะแรก

หลักสูตรของโรงเรียนนี้ พวกเราได้เรียนวิชาจารกรรมและโจรกรรมอย่างละเอียดมาก จนเกือบจะใช้ประกอบอาชีพได้ ไม่ว่าวิธีจัดระบบหน่วยสืบราชการลับ การรักษาความลับ การสะกดรอย การวางแผนและทำลายขวัญข้าศึกในประเทศที่ถูกยึดครอง การยุให้ประชาชนต่อต้านผู้รุกราน ผู้เข้าอบรมต้องฝึกหัดล้วงความลับตามจุดยุทธศาสตร์ เช่น ท่าเรือและสนามบิน ทำแผนผังและรายงานเสนอสำนักงาน ต้องเรียนรู้หลักเกณฑ์ของระบบรหัสต่างๆ วิธีถอดรหัส วิธีเขียนหนังสือที่มองไม่เห็น ฯลฯ ในวิชาสงครามจิตวิทยา พวกเราต้องฝึกหัดทำใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปลุกใจประชาชนในประเทศที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองและบั่นทอนกำลังใจของทหารญี่ปุ่น ครูผู้ฝึกสอนก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความชำนาญและผลงานดีเด่นตามเฉพาะสาขาของตนมาแล้วทั้งนั้น

คราวหนึ่งในการฝึกปฏิบัติวิชาสงครามจิตวิทยา ผมทำหนังสือพิมพ์ ‘เมฆทูต’ (เป็นตัวอักษรบรรจงภาษาไทย เหมือนขึ้นแท่นพิมพ์) และเขียนการ์ตูนประกอบ ในเล่มมีเรื่องปลุกใจคนไทย ล้อเลียนญี่ปุ่นและมีบทความแสดงว่า ทหารญี่ปุ่นถูกมอมเมาโดยนายทุนญี่ปุ่นซึ่งมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ทางการค้า พันตรี รอย ชอบมาก ถึงกับขอเอาไว้ดูเป็นตัวอย่างแก่นักเรียนรุ่นต่อๆ มา

(พันตรี รอย ยังสอนหลักสงครามจิตวิทยาว่า ควรใช้สมอง ปัญญา ปฏิภาณและไหวพริบในการปฏิบัติงานชักจูงให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับฝ่ายเราในการต่อต้านศัตรู รู้จักการเก็บความลับ ไม่อวดเก่ง ไม่ทำตัวแปลกจากคนอื่น และพยายามอย่าใช้อาวุธแก้ปัญหาในยามคับขัน)

การปฏิบัติงานอีกคราวหนึ่ง พันตรี รอย สั่งให้พวกเราไปเขียนคำขวัญปลุกระดมขับไล่คนอังกฤษออกจากอินเดีย ตามสถานที่ซึ่งมีคนผ่านไปมามากๆ การปฏิบัติงานอย่างนี้เสี่ยงพอควร เพราะถ้าเราถูกจับขณะกำลังเขียนคำขวัญ อาจจะถูกขังฟรีคืนหนึ่ง ก่อนที่หน่วยงานต่อต้านจารกรรมจะรู้จากฤาษีครอสเล่ย์ว่า พวกเรามาฝึกปฏิบัติงาน ไม่ใช่จารชนญี่ปุ่น เพราะในอินเดียตอนนั้นมีกลุ่มต่อต้านอังกฤษที่เคยปลุกระดมแบบนี้มาแล้ว และถูกขังคุกกันไปนับร้อย มหาตมะคานธีและเยาวฮาร์ลาล เนห์รู ผู้นำสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของอินเดียก็ถูกสั่งขังอยู่หลายปี

หม่อมเจ้าการวิก ทรงชุดนายทหารอังกฤษ

หลังได้รับคำสั่ง เที่ยงวันหนึ่งผมชวนเพื่อนอีก 2 คนไปเขียนคำขวัญบนกำแพงภัตตาคารหรูชื่อเฟอร์โป (FIRPO) ซึ่งมักมีนายทหารอังกฤษมานั่งดื่มน้ำชากันมาก ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเชาว์ริงกี (CHOWRINGHEE) เป็นถนนสายธุรกิจสำคัญของกัลกัตตา พวกเราทั้งสามแต่งตัวปอนๆทำท่าเป็นกุลี ผมถือกระป๋องสีและแปรงทาสี อีกสองคนถือกระป๋องน้ำและผ้าขี้ริ้ว ที่กำแพงด้านข้างของร้านมีตำรวจแขกคนหนึ่งยืนทำหน้าเซ็งอยู่ เพื่อนสองคนถือกระป๋องกรากเข้าไปเช็ดถูกำแพงทำให้แกหายเบื่อ เพราะนิสัยแขกชอบดูคนอื่นทำงานอยู่แล้ว

เมื่อผมเห็นตำรวจแขกคนนี้ทำท่าสนใจ เลยพยักพเยิดกับเขาให้มีส่วนร่วมโดยช่วยถือกระป๋องสี แล้วผมเอาแปรงจุ่มสีเขียนคำว่า INDIA ก่อน เขาชอบใจมาก แสดงท่าทีเต็มใจที่จะร่วมงานด้วย จึงเขยิบเข้ามายืนใกล้ๆให้ผมจุ่มสีสะดวกขึ้น ผมเขียนคำว่า QUIT เติมลงไปข้างหน้า รวมความเป็น QUIT INDIA หมายถึงให้ฝรั่งออกไปเสียจากอินเดีย

เสร็จแล้วผมใช้ชอล์กเขียนอักษรตัวขนาดย่อมไว้ใต้คำนั้นอีกว่า WISH WE COULD (ถ้าเป็นไปได้ก็ดีน่ะสิ) เป็นการสมมติแทนความรู้สึกของทหารอังกฤษที่เบื่ออินเดียและคิดถึงบ้านเต็มทน ปรากฏว่าครูชอบใจมากที่สามารถเขียนแทนความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย

อีกคราวหนึ่ง ในขณะนั้นเกิดความขาดแคลนอาหารในกัลกัตตา มีคนอดอยากนอนรอความตายกันนับร้อย ครูรอยก็ให้ไปเขียนคำขวัญโจมตีรัฐบาลว่า เมื่อไม่สามารถปันส่วนอาหารให้ทั่วถึงคนทุกชั้นได้ก็ควรลาออกไปเสีย หลายคนใช้คำว่า ‘RATION OR RESIGN’ จงปันส่วนอาหาร ไม่ก็ลาออกไป)

พวกเรากลุ่มหนึ่งเขียนคำขวัญไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง แล้วเขียนคำแถมไว้ใต้นั้นด้วยภาษาที่ไม่ควรใช้ในสังคมชั้นสูงอีกว่า ‘SHARE FOOD RAIRLY OR FUCK OFF FAST’ (จงปันอาหารอย่างยุติธรรม ไม่งั้นไสหัวไปให้พ้น)

คำว่า FUCK OFF เป็นคำหยาบมากและแสดงความสะใจได้ดี ทหารอังกฤษชอบใช้แทนคำว่า GO AWAY ซึ่งครูชอบใจเป็นพิเศษสำหรับงานนี้

กิจกรรมพรรค์นี้มีอีกครั้งที่ทำให้พวกเราพลาดท่าถูกจับติดคุกแขกคือ ครูรอยสั่งให้ไปทำจารกรรมด้วยการเขียนป้ายคำขวัญในที่แห่งหนึ่ง และห้ามนำหลักฐานประจำตัวหรือสิ่งอื่นใดติดตัวไป ยกเว้นเงินจำนวน 20 รูปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่สามารถเอาไปเช่าโรงแรมนอนได้ พวกเราจึงต้องหลบไปนอนกันที่สถานีรถไฟชานเมืองเล็กๆ ปรากฏว่ามีสารวัตรทหารมาตรวจและขอหลักฐาน ก็ไม่มีแสดงให้ดู พวกเราเลยถูกจับไปนอนคุกกันครบทุกคน ในข้อหาเร่ร่อนพเนจรเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แม้พวกเราจะบอกว่าเป็นคนจีนและเป็นนักเรียน ก็ไม่มีใครเชื่อ ซึ่งพวกเราถูกสั่งห้ามบอกว่าเป็นคนไทยและอยู่ในกองกำลัง 136 เด็ดขาด มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายและความลับรั่วไหล เป็นอันว่าต้องนอนถูกเห็บกัดในคุก 1 คืน แสนทรมาน รุ่งเช้าถึงมีนายทหารมาติดต่อรับตัวกลับ มารู้ทีหลังว่าครูฝึกเขาแกล้ง เพราะอยากให้พวกเรารู้ว่า รสชาติของการติดคุกนั้นเป็นอย่างไร

ในเรื่องผลงานการปฏิบัติงานล้วงความลับที่ผมประทับใจคือ ผมจับสลากได้คำสั่งให้ไปปฏิบัติงานล้วงความลับและทำรายงานเกี่ยวกับสนามบิน ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะมีการตรวจบัตรคนเข้า-ออกเข้มงวด ทีแรกผมคิดว่าจะทำบัตรปลอมเป็นคนงานแขกเข้าไปดังที่เคยทำมาก่อนหลายหน แต่คราวนี้ไม่กล้าใช้วิธีเดิม เพราะเห็นคนงานแขกถูกตรวจค้นอย่างละเอียด และเห็นป้ายติดรั้วไว้หลายแห่ง มีข้อความข่มขวัญว่า

“ถ้าใครเข้ามาใกล้รั้วกว่า 100 หลา เราจะยิงก่อนแล้วสอบถามภายหลัง”

ผมจึงต้องเลิกล้มความคิดที่จะหาทางลอดรั้วหนามเข้าไป ได้แต่สังเกตการณ์อยู่ห่างๆรอบๆสนามบิน ไม่มีพุ่มไม้หรือพงหญ้าสำหรับซ่อนดูเหตุการณ์ มีแต่โรงงานร้างขนาดใหญ่อยู่ทางด้านตะวันออกของสนามบิน มีปล่องก่อด้วยอิฐสามปล่อง ผมเดินเข้าไปสำรวจโรงงานแล้วรู้สึกท้อใจ เพราะไม่สามารถมองเห็นอะไรมากนัก แต่ผมต้องส่งรายงานภายใน 7 วัน คิดไม่ตกว่าจะเข้าไปได้อย่างไร ขณะที่ผมเดินคอตกออกจากประตูโรงงาน พลันแหงนหน้าขึ้นไปดูปล่องโรงงาน ก็สังเกตพบว่าปล่องหนึ่งมีช่องโหว่อยู่ไม่สูงกว่าโคนปล่องนัก ผมตื่นเต้นมากรีบย้อนกลับเข้าไป และหาทางปีนขึ้นไปบนโคนปล่องจนได้ จากจุดโหว่นี้สามารถมองเห็นบริเวณสนามบินชัดเจนมาก

ผมใช้ปล่องนี้เป็นจุดสังเกตการณ์ 4 วัน บันทึกความเคลื่อนไหวและอาคารสถานที่อย่างละเอียด ได้แก่ ที่พักทหาร โรงอาหาร โรงเก็บรถดับเพลิง คลังน้ำมัน คลังอาวุธ โรงเก็บเครื่องบินทิ้งระเบิด โรงเก็บเครื่องบินขับไล่ โรงเก็บยานพาหนะ หอบังคับการ ที่ตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน รังปืนกล จำนวนปืนใหญ่ ท่าขนของจากแม่น้ำฮุกลี ฯลฯ ผมร่างแผนผังสนามบินได้ครบถ้วน และบันทึกกิจกรรมของแผนกต่างๆ นับจำนวนเครื่องบินแบบต่างๆ ได้เห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดชนิด BLENHEIM ออกไปปฏิบัติการบันทึกเวลาเปลี่ยนยาม สังเกตการณ์การตรวจคนงานเข้าออก ฯลฯ โดยผมเขียนแผนที่และรายงานอย่างละเอียดประณีต และใช้สีระบายเป็นสัญลักษณ์แต่ละแผนกด้วย

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

เมื่อครบกำหนดเวลา พวกเราได้แสดงผลงานและอธิบายวิธีการหาข้อมูลในห้องเรียนกัน หลายคนมีวิธีอันน่าทึ่ง พันตรี ครอสเล่ย์ได้นำรายงานและแผนผังสนามบินที่ผมทำไปให้ผบ.สนามบินดู เมื่อเขากลับมาได้เล่าให้ฟังว่า ในห้องผบ.สนามบินนั้นมีแผนผังสนามบินแผ่นใหญ่แขวนอยู่บนผนัง มีรายงานเกือบเหมือนแผนผังที่ผมทำขึ้น รวมทั้งสีสันก็ใกล้เคียงกันมาก ท่านผบ.เห็นแล้วหน้าซีดพูดว่า “IMPOSSIBLE” และมีคำสั่งให้รีบมาอุดปล่องโรงงานร้างเสียโดยเร็ว ฟังความเก่งของผมแล้วคงต้องหารนิดหน่อย

เมื่อครบกำหนดในการฝึกอบรมที่โรงเรียนนี้แล้ว พวกเราได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนราวสัปดาห์หนึ่ง แต่ละคนต่างแยกย้ายกันไปพักผ่อนตามอัธยาศัย จากนั้นจึงกลับมารายงานตัวที่สำนักงานใหญ่ของกองกำลัง 136 ในกัลกัตตา พันโท พอยน์ตันสั่งให้พวกเราเดินทางกลับมายังค่ายคารัควัสลา เพื่อซ้อมรบใหญ่ร่วมกันอีกครั้ง ที่นั่นพวกเราได้พบกับป๋วย ประทาน และสำราญ ถึงทราบว่าทั้งสามคนได้กลับจากการเดินทางโดยเรือใต้น้ำชื่อ แท็กติเชียน (TACTICIAN) ในแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า ‘พริตชาร์ด’ (PRITCHARD) ร่วมกับไอ้เฟิ้มและร้อยโทไวท์ลอว์ และเจ้าหน้าที่ประจำเรือจำนวนหนึ่งในระหว่างที่พวกเราฝึกอบรมอยู่

เรือใต้น้ำของพวกเขาได้แล่นอยู่ในน่านน้ำบริเวณระนองและพังงาเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อรอดูสัญญาณตามที่กองกำลัง 136 ได้แจ้งให้ฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยทำไว้ แต่ได้รับความผิดหวัง จึงต้องเดินทางกลับและไม่ได้ขึ้นฝั่งไปเหยียบผืนแผ่นดินไทย ยกเว้นไอ้เฟิ้มกับไวท์ลอว์ที่ได้ขึ้นฝั่งและไม่พบใคร จึงเก็บเอาก้อนกรวดจากริมหาดกลับมาอวดพวกเรา

ในช่วงที่ป๋วยและเพื่อนเดินทางเข้าน่านน้ำไทย ทางสวัสดิ์ ศรีสุข และจุ๊นเคง (พัฒพงศ์) รินทกุล ได้รับเลือกเข้าอยู่ในแผนกประสานงานระหว่างหน่วย (INTERSERVICE LIAISON DEPARTMENT-ISLD) ตั้งแต่ตอนที่มาถึงอินเดียใหม่ๆ หน่วยงานนี้เป็นหนึ่งในหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ (BRITISH INTELLIGENCE SERVICE) ทั้งสองได้รับคำสั่งให้ไปฝึกอบรมการสืบราชการลับ และเดินทางเข้าเมืองไทยอีกสายหนึ่งทางเรือใต้น้ำ เท็มพลาร์ (TEMPLAR) ในช่วงเวลาเดียวกัน และได้เข้าเมืองไทยที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นคณะแรก ก่อนคณะของกลุ่มช้างเผือก โดยมีหน้าที่สืบสภาพทั่วๆไปในประเทศไทย เช่น การคมนาคม ค่าครองชีพ การใช้บัตรประจำตัว สินค้าที่ขาดแคลน ความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อทหารญี่ปุ่น กำลังทหารญี่ปุ่นในเขตปัตตานีถึงชุมพร เป็นต้น จนกระทั่งเข้ากรุงเทพฯ และถูกจับในภายหลัง

ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2486 ก่อนที่แผนการลักลอบเข้าเมืองไทยจะเริ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายต่างได้พบกันโดยบังเอิญในเมืองกัลกัตตา แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เปิดเผยว่า ตนทำอะไรที่ไหน และจะไปที่ใด เพราะถูกอบรมกันมาว่าควรเก็บเรื่องที่ควรรู้เฉพาะตัว และแยกย้ายกันไปโดยต่างฝ่ายก็ไม่รู้ว่ากำลังจะไปลอดใต้มหาสมุทรอินเดียเหมือนกัน

ที่ค่ายคารัควัสลา พวกเราออกซ้อมรบนอกสถานที่ตลอดเวลารวม 5 วัน วันสุดท้ายขึ้นเขาสิงหะและอยู่ค้างคืนบนนั้น แต่ไม่มีอะไรมาสร้างความแปลกใจอีก จากนั้นต่างแยกย้ายกันไปเข้ารับการฝึกอบรมตามศูนย์ฝึกต่างๆ รวมทั้งการฝึกใช้อาวุธปืนและระเบิด (ของจริง) รวมทั้งกระสุนส่องวิถีในสมรภูมิจำลองเหมือนจริง ทั้งนี้เพื่อให้เคยชินกับสภาพการรบที่แท้จริง

ก่อนจะจบหลักสูตร พวกเราทุกคนได้รับคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ให้เดินทางกลับมารวมกันเพื่อเตรียมตัวฝึกขั้นตอนสำคัญที่สุดสำหรับการที่จะเข้าปฏิบัติงานในเมืองไทย คือ

การกระโดดร่มจากเครื่องบิน…!

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up