หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก เสรีไทย(ใต้ดิน)ในเมืองไทย (ตอนที่24)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก อุทิศตัวฝึกฝน อดทน เพื่อประเทศชาติ 

หม่อมเจ้าการวิก และคณะเพื่อนทหารเสรีไทย ยังคงฝึกความทรหดอดทนอย่างหนักในอินเดีย แล้วทางคณะเสรีไทยในเมืองไทยก็ได้เตรียมการที่จะต้อนรับเสรีไทยจากต่างแดนที่จะลักลอบเดินทางเข้ามาปฏิบัติการในเมืองไทย

ตะวันดวงกลมโตสาดแสงอ่อนเป็นลำสุดท้าย ก่อนจะค่อยๆเคลื่อนลับไป ปล่อยให้ความมืดคืบคลานเข้ามาปกคลุมดังการณ์ปกติแห่งกาลเวลา…

ในช่วงที่ผมรับการฝึกอบรมอยู่ในอินเดียนั้น ผมคอยเร่งนับวันเวลาให้ล่วงไปด้วยความหวังที่จะได้เข้ามารับใช้บ้านเมืองอย่างเต็มล้น แต่การฝึกความพร้อมของสมรรถภาพทั้งทางด้านกำลังใจและกำลังกายนั้นยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อเข้ามาปฏิบัติการแล้วจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์เท่าที่จะเป็นไปได้

หลังจากที่พวกเราผ่านการฝึกซ้อมรบอันทรหดในอินเดียฝั่งตะวันตกเรียบร้อยแล้ว ทุกคนใน ‘กลุ่มช้างเผือก’ ได้รับยศร้อยตรีกันเป็นบำเหน็จ เมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2486 และได้รับอนุญาตให้พักผ่อนได้ 10 วัน ก่อนจะมีคำสั่งให้ย้ายมาฝึกในอินเดียฝั่งตะวันออก

ในเดือนเดียวกันนี้ พวกเราได้รับข่าวที่สร้างกำลังใจและความเชื่อมั่นว่า ความตั้งใจของทุกคนที่เดินทางจากอังกฤษมาฝึกซ้อมรบด้วยหวังจะรับใช้ชาติ คงจะไม่สูญเปล่าและคงจะได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติงาน เพราะมีขบวนการในประเทศเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านผู้รุกราน คือคุณจำกัด พลางกูร (พี่ชายคุณกำแหง) ซึ่งเป็นผู้แทนขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ลักลอบออกจากเมืองไทยไปยังจุงกิง ประเทศจีน (ขณะนั้นจีนยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์) พร้อมกับคุณสงวน ตุลารักษ์ และคุณแดง คุณะดิลก เพื่อจะหาทางติดต่อขอความช่วยเหลือจากเหล่าเสรีไทยในต่างประเทศ และทางการอังกฤษก็ได้มอบอำนาจให้พันตรี หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ วงศ์สนิท ซึ่งทรงใช้พระนามแฝงว่า ‘อรุณ’ ในการปฏิบัติการเดินทางโดยเครื่องบินจากอินเดียไปยังจีน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2486

จำกัด พลางกูร เสรีไทยที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่และเสียชีวิตที่จีน

ทั้งนี้เป็นการติดต่อกับคุณจำกัดและเพื่อหาผู้ที่จะนำสารไปให้หัวหน้าขบวนการในประเทศ ซึ่งทราบภายหลังว่า คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ให้เตรียมจัดการต้อนรับพวก ‘ช้างเผือก’ คณะแรกที่จะเดินทางไปโดยเรือใต้น้ำ ขึ้นบกทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย ราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของปีเดียวกัน โดยจะนำเครื่องรับวิทยุรับ-ส่งวิทยุไป เพื่อตั้งสถานีวิทยุติดต่อระหว่างไทยกับฐานทัพอังกฤษในอินเดีย นอกจากนี้พวกเรายังทราบข่าวว่า เสรีไทยจากสหรัฐอเมริการาว 20 คนได้เดินทางเข้ามาในเมืองจีน และกำลังหาทางเข้าประเทศไทยด้วย

ช่วงเวลา 10 วันที่หยุดพักผ่อน พวกเราหลายคนเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนเสรีไทยที่ฝึกปฏิบัติการด้านการสื่อสารในเดลี บางคนก็ไปเที่ยวที่บอมบ์เบย์ เมื่อครบกำหนดจึงมารายงานตัวต่อพันโท พอยน์ตัน ผบ.สำนักงานกองกำลัง 136 ประจำแผนกประเทศไทยที่เมืองกัลกัตตา ซึ่งกลิ่น เทพหัสดินฯได้ย้ายมาทำงานประจำสำนักงานแห่งนี้ ในหน้าที่ผู้กรองข่าวจากวิทยุแห่งประเทศไทย และปลุกใจชาวไทยด้วยวิธีต่างๆ ความสามารถพิเศษของเขาในการคิดคำคม เขียนบทกลอนและวาดรูปสำหรับทำใบปลิว (ใช้โปรยในเมืองไทย) เป็นที่พอใจของผบ.พอยน์ตันมาก

พวกเรามาทราบภายหลังว่า ป๋วยและสำราญได้รับคำสั่งให้แยกไปรับการอบรมการสืบราชการลับในที่แห่งหนึ่งนอกเมืองกัลกัตตา และประทานก็ไปเรียนการแก้เครื่องวิทยุที่โรงเรียนช่างวิทยุที่เมืองมีรุต (MEERUT) เพื่อเตรียมตัวเดินทางเข้าเมืองไทยเป็นคณะแรก (การลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทย พันโท พอยน์ตันได้กำหนดให้พวกเสรีไทยกลุ่มช้างเผือกต้องมีเครื่องรับ-ส่งวิทยุขนาดใหญ่และหนักกว่าเครื่องเล่นวิทยุสมัยใหม่ พวกเราต้องผ่านการฝึกวิทยุด้วยกัน 13 คน ได้แก่ จีริดนัย ภีศเดช ประพฤทธิ์ เปรม รจิต วัฒนา ปัทม์ ประโพธ ธนา กฤษณ์ ประเสริฐ และผม ส่วนประทานเป็นคนเดียวที่ได้เรียนการแก้เครื่องวิทยุเป็นพิเศษ)

ในระหว่างที่ทั้งสามไปรับการอบรมนั้นพวกเราก็ไม่ได้อยู่เฉย หากได้รับคำสั่งให้ไปฝึกอบรมอยู่เรื่อยๆ เพื่อมิให้พละกำลังถดถอยหรือละลืมสิ่งที่ฝึกฝนมา

สำนักงานกองกำลัง 136 ในกัลกัตตา มี 3 แผนก คือ แผนกประเทศไทย พม่า และอินโดจีน ตั้งอยู่ในอาคารหลังเดียวกัน คือ เลขที่ 53 ถนนการีอาหัต (GARIAHAT ROAD) เมื่อพวกเรามาถึงก็พบไอ้เฟิ้มและร้อยโท คอลลิน ไวท์ลอว์ มายืนแสยะยิ้มต้อนรับ โดยเขามีหน้าที่จะพาพวกเราเดินป่าเบงกอลใกล้ๆกัลกัตตา เป็นเวลา 9 วัน เพื่อมิให้เสียเวลาและป้องกันกลิ่นอายชาวป่าของพวกเราจางหาย ด้วยขณะนั้นโรงเรียนสืบราชการลับชานเมืองกัลกัตตายังรับพวกเราเข้าอบรมไม่ได้

หม่อมเจ้าการวิก ทรงชุดทหารกูรข่า

ป่าเบงกอลหนาทึบพอๆกับป่าเบลกอม และที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งล่าสัตว์ของบรรดามหาราชาแขกด้วยคงเป็นดงเสือใหญ่ที่สุดในโลก (ระหว่างที่เดินป่า ผมไม่พบเสือสักตัว) พวกเราเข้าป่าคราวนี้กินอยู่ไม่ลำบากเหมือนครั้งก่อน เพราะไม่มีฝน อากาศเย็นสบาย ไม่มีทากคอยดูดเลือดให้รำคาญ แต่ยุงชุม และไม่ต้องสร้างที่พัก เพราะได้อยู่ในกระต๊อบร้างของชาวป่า

ตอนเช้าตรู่ของวันที่สอง กำแหงตื่นขึ้นมาแล้วเล่าว่า เมื่อคืนฝันเห็นพี่ชาย (จำกัด) มาเขย่าเท้าบอกว่าตัวเองตายแล้ว ซึ่งตอนนั้นพวกเราทราบแค่ว่าคุณจำกัดได้เล็ดลอดไปยังจุงกิง และไม่ได้ข่าวคืบหน้าแต่อย่างใด จึงไม่ค่อยมีใครสนใจความฝันของกำแหง จนกระทั่งในเดือนมีนาคม พ.ศ.2487 พวกเราถึงได้ทราบข่าวว่าทางจีนได้แจ้งมาว่า คุณจำกัดเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับลำไส้ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2486!

พวกเราออกจากป่าตอนต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งย่างเข้าฤดูหนาว แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองรู้สึกอบอ้าว อึดอัด คงเป็นเพราะชินกับอากาศที่เย็นสบายในป่ามาถึง 9 วัน

เมืองกัลกัตตาเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีพลเมืองหนาแน่นที่สุด มีคนจนและขอทานมากที่สุดเช่นกัน พวกเราพักอยู่ในบ้านหลังใหญ่ราว 2 วัน และต้องหาซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าพลเรือนสำหรับใช้ใส่ตลอดเวลา 6 สัปดาห์ที่เข้ารับอบรม โดยไม่ต้องแต่งเครื่องแบบทหารเวลาเข้ารับการอบรม

เนื่องจากสถานที่พวกเราเข้าไปรับการฝึกนั้นคือ โรงเรียนล่ามภาษาตะวันออก (SCHOOL OF EASTERN INTERPRETERS) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้น เพื่ออำพรางให้คนเข้าใจผิดในวิชาที่สอนในโรงเรียน ด้วยในการฝึกปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาและสืบราชการลับทางการทหารของพวกเราที่นี่ เป็นลักษณะที่เสี่ยงต่อการถูกจับฐานเป็นจารชนของญี่ปุ่น เพราะในกัลกัตตามีจารชนของญี่ปุ่น มีชาวอินเดียที่ต่อต้านอังกฤษและมีหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษและอเมริกันอยู่มาก ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะคำพูด

โรงเรียนตั้งอยู่ที่ตำบลอาลัมบาซาร์ (ALUMBAZAR) ห่างจากเมืองกัลกัตตาราว 5 กิโลเมตร อยู่ใกล้แม่น้ำฮุกลี (HOOGHLI) ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของอินเดียในการขนส่งสินค้า บริเวณโรงเรียนมีสนามหญ้ากว้าง มีต้นไม้ใหญ่หลายต้น มีสระน้ำข้างหน้า และตึกใหญ่แบบโบราณสมัยสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ตึกสองหลังเป็นที่พักของผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูผู้ฝึกสอน ตึกหลังหนึ่งเป็นที่พักของพวกเรา หลังหนึ่งเป็นอาคารเรียนและมีห้องอาหารอีกหลังหนึ่งเป็นโรงครัวและที่พักของทหารแขกรับใช้

ผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อว่า พันตรีครอสเล่ย์ (CROSSLEY) ครูฝึกสอนมีสี่คน แต่บางครั้งมีนายทหารหรือตำรวจมาสอนวิชาพิเศษเฉพาะเรื่อง ตัวพันตรี ครอสเล่ย์สอนวิชาจารกรรมร่วมกับนายทหารอีกคนหนึ่ง คือ พันตรี รอย (ROY) ซึ่งเป็นคนอินเดีย สอนวิชาจิตวิทยาที่พวกเราเคยเรียนมาก่อนบ้างในค่ายคารัควัสลา ครูคนนี้พูดภาษาอังกฤษชัดเปรี๊ยะ ไม่มีกลิ่นโรตีปนเลย เพราะเขาจบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และแต่งงานกับแหม่มอังกฤษ พอเขากลับมาก็เข้าร่วมกับองค์การต่อต้านอังกฤษ ส่วนภรรยาก็ร่วมต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของอังกฤษ ด้วยพอญี่ปุ่นเข้าสงครามเอเชียบูรพา เขาบอกว่าขอพักรบกับฝ่ายอังกฤษเป็นการชั่วคราว ขอรับใช้โดยการทำสงครามจิตวิทยาต่อต้านญี่ปุ่นก่อน

วิชาหนึ่งที่พวกเราสนใจคือ การโจรกรรม หรือหน่วยงัดแงะ ครูผู้สอนมียศร้อยโท อดีตเคยเป็นหัวขโมยชั้นยอดแห่งลอนดอน เพราะเขาปล้นร้านเพชรและหลบหนีได้อย่างลอยนวลหลายครั้ง สร้างความปั่นป่วนแก่ตำรวจอังกฤษอยู่นานกว่าจะถูกจับได้ ด้วยผลงานดีเด่นนี้เอง ทางการทหารจึงขอเชิญเขาออกจากคุกมาเป็นครูสอนวิชาชั้นยอดแก่หน่วยจารกรรม ซึ่งเขาตอบรับยินดีที่จะรับใช้ชาติ วิชาที่สอนได้แก่ การกรีดกระจกหน้าต่าง วิธีตัดลูกกรงเหล็ก วิธีทำลูกกุญแจ แต่วิชาที่ยากที่สุดคือ วิธีสะเดาะกุญแจด้วยลวดเส้นเดียว ที่พวกเราหลายคนแม้ได้รับคำชมเชยว่าฝีมือดี แต่ก็ไม่มีใครเข้าขั้นถึงชั้นมิจฉาชีพระดับสูง สถานที่ทดสอบวิชาของพวกเราได้แก่ บ้านพักของผอ.และนายทหารนั่นเอง

สงวน ตุลารักษ์

ส่วนที่โรงเรียน พวกเราทุกคนต้องฝึกโยคะตอนเช้าตรู่ทุกวัน เนื่องจากพันตรี ครอสเล่ย์ เขาปฏิบัติตัวเคร่งครัดราวกับเป็นฤาษีของอินเดีย ให้พวกเราฝึกท่าโยคะอาสนะแทนการฝึกกายบริหารแบบทหารตามปกติ โดยให้พวกเรานุ่งกางเกงขาสั้นตัวเดียว ห้ามสวมเสื้อและรองเท้า เมื่อเสร็จจากการทำดัดตนแล้ว จึงสั่งให้นอนหงายบนสนามหญ้าที่ยังชุ่มด้วยน้ำค้าง เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนและทำใจให้สงบนิ่ง จากนั้นจะพาไปวิ่งเหยาะๆบนทางโรยกรวดและอิฐหักในบริเวณโรงเรียนเพื่อให้เท้ามีความด้านหนา ทนต่อแรงกระแทกและต่อวัตถุแหลม

นอกจากฝึกความหนาของฝ่าเท้า เขายังต้อนรับพวกเราให้ไปกระโดดลงสระน้ำในยามเช้าตรู่ของเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งหนาวเย็นยะเยือกยิ่งนัก โดยเขาสั่งให้ยืนแถวในท่าระวังตัวตรงบนราวสะพานข้ามสระ พวกเราต้องทำตัวแข็งตลอดเวลาที่เอนตัวลงสู่พื้นน้ำ เพื่อให้ตัวเอนลงไปจนหัวปักลงน้ำพอดี หากใครขยุกขยิกอาจจะเจ็บ เพราะร่างกายส่วนอื่นจะกระทบพื้นน้ำแทน เมื่อร่างลงไปในน้ำเย็นเฉียบแล้วก็ต้องว่ายในทาตีกรรเชียงไปมาก่อนรีบขึ้นมา เช็ดตัวให้แห้งและสวมเสื้อเรียกความอบอุ่น จนรู้สึกสบายถึงถอดออกเพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ทัน ซึ่งเขาก็กระโดดและว่ายน้ำกับพวกเราด้วย การฝึกแบบนี้ทำให้ร่างกายทุกคนแข็งแกร่ง ทนต่อความร้อน-หนาว ไม่มีใครเป็นหวัดเลย

หลังจากที่ฝ่าเท้าของพวกเราถูกฝึกให้ด้านหนาได้ที่แล้ว ฤาษีครอสเล่ย์เขายังฝึกในขั้นต่อไป โดยใช้ช่วงเวลาระหว่างตีสามถึงตีห้า ขณะที่พวกเรากำลังนอนหลับสบาย จะมีเสียงนกหวีดเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าข้าศึกบุกเข้ามา พวกเราต้องรีบเผ่นออกไปหลบซ่อนในสวนให้ทัน เพราะเขาจะพาลูกน้องเข้ามาไล่จับ ถ้าใครถูกจับในบ้านจะเสียคะแนน

แม้ว่าพวกเราจะบ่นด่าถึงวิธีการฝึกแบบนี้บ้าง แต่ก็ตระหนักดีว่า เป็นประโยชน์มากทีเดียวในเรื่องของความพร้อมที่จะเผ่นหนีจากที่พักโดยไม่มัวห่วงเรื่องแต่งตัว ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสรอดตายได้มากในการปฏิบัติงานจริง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up