หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก กับสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุในไทย (ตอนที่15)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก เข้าร่วมฝึกเป็นทหารเสรีไทย

หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 7 สวรรคตแล้ว เหตุการณ์ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป และสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้นทางฝั่งเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย หม่อมเจ้าการวิกได้เห็นการจัดตั้งคณะเสรีไทย จึงตัดสินพระทัยกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เพื่อขอเข้าร่วมฝึกเป็นทหารเสรีไทย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว เหตุการณ์ในพระตำหนักคอมพ์ตันเฮ้าส์ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลง พระองค์จิรศักดิ์ฯและครอบครัวทรงย้ายออกมาประทับที่ตำหนักดอนฮิลล์ (DAWN HILL) ของพระองค์ท่านตามเดิม ส่วนผมได้ย้ายจากตำหนักหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯกลับมาอยู่ถวายการรับใช้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ตามที่ผมได้ปฏิญาณไว้

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ระหว่างประทับในต่างประเทศ

…ผมอยากจะเล่าเสริมไว้ ณ ที่นี้ว่า เมื่อผมนึกย้อนถึงสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงรับพวกเราเด็กๆเข้าไปชุบเลี้ยงในวังนั้น แต่ละองค์แต่ละคนก็นับว่าอยู่ในวัยที่ซนเป็นทโมน คงจะสร้างความรำคาญพระทัยแก่สมเด็จพระบรมราชินีบ้าง แต่ผมก็ไม่เคยเห็นว่าทรงมีพระอาการรำคาญ หรือขัดเคืองแต่อย่างใด ผมเองแอบเฝ้าดูอยู่ห่างๆ และนึกเห็นพระทัยพระองค์ท่านเสมอที่ต้องทรงอดทนกับพวกเรา จึงตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะหาทางเข้าไปถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิด จนกระทั่งเมื่อคราวที่ผมได้ตามเสด็จไปทรงสกีที่สวิตเซอร์แลนด์ ปีพ.ศ.2480 ผมก็พยายามเข้าไปอยู่ใกล้ๆพระองค์ท่าน

เมื่อผมกลับไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสก็รู้สึกคิดถึงพระองค์ท่านมาก จึงเขียนจดหมายไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบพระราชทานกลับมาด้วย สร้างความชุ่มชื่นใจแก่ผมยิ่ง และเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระเมตตาที่พระราชทานแก่ผม ผมจึงตั้งมั่นว่าจะขอถวายการรับใช้จวบจนชีวิตจะหาไม่นับแต่นั้น…

ราวกลางปีพ.ศ.2484 นั้นเอง พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯก็ทรงไปสมัครงานที่องค์การเอ.ที.เอ. (A.T.A. AIR TRANSPORT AUXILIARY) ซึ่งเป็นกองบินอิสระ อันเป็นหน่วยสาขาหน่วยหนึ่งของกองทัพอากาศอังกฤษ (ROYAL AIR FORCE) ได้เปิดรับสมัครนักบินทุกวัยที่สามารถขับเครื่องบินได้ หน้าที่ของนักบินนี้คือ ขับเครื่องบินใหม่จากโรงงานไปส่งตามสนามบิน หรือนำส่งที่ท่าเรือ เพื่อบรรทุกไปส่งประเทศที่เป็นสัมพันธมิตร หรือขับเครื่องบินที่ชำรุดจากการสู้รบจากสนามบินกลับสู่โรงงาน หรือโรงซ่อมเครื่องบิน แล้วก็ขับเครื่องบินที่ซ่อมเสร็จกลับไปสนามบิน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพระประสงค์ที่จะทรงใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยเฉพาะในยามสงคราม

ญี่ปุ่นถล่อมเพิร์ล ฮาร์เบอร์

สถานการณ์สงครามในกลางปีพ.ศ.2484 ในอังกฤษดูจะสงบกว่าช่วงแรกๆ เพราะเยอรมันได้ย้ายแผนการไปบุกเข้าประเทศสหภาพโซเวียตแทน นานๆจึงจะมีสัญญาณเตือนภัยทางอากาศสักครั้ง แต่ในราวเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน เหตุการณ์สงครามครั้งใหญ่ได้ระเบิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง และลุกลามขยายไปทั่วโลก นั่นคือในคืนวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2484 ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินและเรือดำน้ำเข้าบุกฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ในด้านตะวันออกที่เพิร์ลฮาร์เบอร์(PEARL HARBOUR) มลรัฐฮาวาย อย่างกะทันหันโดยมิได้ประกาศสงครามก่อนทำให้ทางฝ่ายอเมริกาสูญเสียเรือรบ เครื่องบินและกำลังทหารไปมากมาย เพราะไม่ทันได้ป้องกันตัวเอง แผนการจู่โจมของญี่ปุ่นครั้งนี้กระทำพร้อมกันหลายจุด รวมถึงการยกพลขึ้นบกในเมืองไทย เพื่อใช้เป็นทางผ่านไปยังมลายู สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในขณะนั้น รัฐบาลไทยก็จำเป็นต้องยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพราะกำลังทหารที่มีอยู่นั้นไม่อาจจะต่อต้านการรุกรานได้

ต่อมาญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหภาพแอฟริกาใต้ ขณะที่เยอรมันกับอิตาลีก็ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งรัฐบาลของประเทศไทยที่ถูกญี่ปุ่นบุกเข้ามามีอิทธิพลในขณะนั้น จำต้องร่วมประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง การที่ไทยประกาศสงครามนี้ ทำให้คนไทยในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษตกอยู่ในสถานะชนชาติศัตรูทันที (ENEMY ALIEN) แต่ทว่าคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสองประเทศมหาอำนาจนี้ต่างไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยเข้าข้างญี่ปุ่นโดยการประกาศสงคราม จึงรวมกลุ่มกันก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้น ทำนองเดียวกับผู้รักชาติจากประเทศต่างๆที่ถูกเยอรมันยึดครอง ทั้งนี้เพื่อหาทางต่อต้านผู้รุกรานต่อไป

ขณะนั้นมีข่าวจากสหรัฐอเมริกาว่า หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประกาศไม่รับคำสั่งของรัฐบาลไทยหลังจากญี่ปุ่นรุกราน เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกบีบบังคับ ไม่รับรู้การประกาศสงครามของไทยต่อสหรัฐฯ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ได้แถลงเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยว่า คณะเสรีไทยถือว่าพวกตนปฏิบัติหน้าที่ของคนไทยตามพระราชบัญญัติ ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2484 กำหนดให้คนไทยต่อต้านศัตรูผู้รุกรานโดยทุกวิถีทาง

สำหรับในอังกฤษ มีนักเรียนไทยจำนวนหนึ่งมีความร้อนใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นด้วยกับการประกาศของท่านอัครราชทูตไทยในอเมริกา ที่ไม่ยอมรับคำสั่งรัฐบาลไทยอีกต่อไป จึงเห็นควรชักชวนคนไทยในอังกฤษให้ร่วมกันก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นเช่นเดียวกับคนไทยในอเมริกา ซึ่งกลุ่มนักเรียนไทยที่รวมตัวครั้งแรกนั้นเป็นผู้ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้แก่ คุณเสนาะ ตันบุญยืน คุณเสนาะ นิลกำแหง คุณยิ้มยล คุณบุปผา คุณอนงค์ แต้สุจิ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ และนักศึกษาไทยที่ถูกย้ายจากมหาวิทยาลัยลอนดอนมาที่เคมบริดจ์เพื่อหลบภัยจากลูกระเบิดที่ลงมาในช่วงก่อนหน้าอย่างหนัก คือ คุณเปรมและคุณรจิต บุรี คุณวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร์ หม่อมราชวงศ์กิตินัดดา กิติยากร คุณเทพ เสมถิติ คุณสว่าง สามโกเศศ และคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมทั้งหมด 14 คน เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ตอนหลังจึงมีนักเรียนไทยที่มาจากมหาวิทยาลัยหัวเมืองเช่น เบอร์มิงแฮม แมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล เชฟฟิลด์ เร็ดดิ้ง และเซ้าธ์แฮมพ์ตัน ฯลฯ รวมถึงคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในฐานะนักเรียนมารวมกลุ่มด้วย

ในการประชุมครั้งแรกของคณะเสรีไทยในอังกฤษ ที่ประชุมเห็นว่าการเข้าข้างฝ่ายรุกราน แม้จะเป็นฝ่ายชนะก็น่าอับอาย เชื่อว่าคนไทยทั้งมวลไม่เห็นชอบด้วยแน่ แม้ว่าสัมพันธมิตรจะพ่ายแพ้ และขบวนการเสรีไทยจะล้มเหลว เพื่อนร่วมชาติคงจะเห็นว่าทุกคนได้พยายามทำหน้าที่ของคนไทยที่รักความเป็นไทแล้ว หากฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะ เขาก็จะเห็นอกเห็นใจว่าคนไทยในต่างแดนได้ต่อต้านกับฝ่ายเผด็จการอย่างเต็มกำลัง และในที่ประชุมยังเห็นว่า พระมนูเวทวิมลนาท (เพียน สุมาวงศ์) อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนในขณะนั้น เป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย เช่นเดียวกับหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทยในอเมริกา จึงควรจะส่งผู้แทนไปเชิญท่าน

ส่วนตัวผม เมื่อทราบข่าวว่ามีนักเรียนไทยรวมตัวกันที่เคมบริดจ์ก็ตัดสินใจที่จะขอร่วมด้วย เพราะผมตระหนักว่านี่เป็นโอกาสหนึ่งที่ผมจะทำประโยชน์เพื่อชาติได้ จึงติดต่อผ่านทางหม่อมเจ้ากอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์ ซึ่งท่านทรงรู้จักกับคุณป๋วย เพราะเคยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญด้วยกัน และทางคณะเสรีไทยก็ยินดีรับผมเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่ง โดยก่อนหน้านั้นผมได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระอนุญาตจากสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งก็โปรดเกล้าฯพระราชทานและรับสั่งว่า

“ไปรบเถอะ ถ้าฉันเป็นผู้ชายก็จะสมัครกับเขาเหมือนกัน แต่นี่เป็นผู้หญิงก็จะอยู่ที่นี่ ไม่ต้องเป็นห่วง ไปรบตามหน้าที่เถอะ” ซึ่งถ้าไม่ทรงส่งเสริมสนับสนุนแล้ว ผมก็เป็นห่วงพระองค์ และไม่กล้ามาแน่ เพราะข้าราชบริพารของพระองค์ท่านเหลืออยู่ไม่กี่คน

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up