ใต้ร่มฉัตร…ชีวิตที่แปรเปลี่ยน (ตอนที่ 9)
ใต้ร่มฉัตร ตอนนี้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ.2475 ที่สร้างความผันผวนอย่างมากมาย อันส่งผลกระทบกับอย่างรุนแรงกับเหล่าเชื้อพระวงศ์ รวมถึงพระชะตาชีวิตของหม่อมการวิก จักรพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2476 (นับศกอย่างเก่า) ณ ท่าราชวรดิฐ และพยายามสร้างจินตภาพของเรือยนต์พระที่นั่ง ‘ศรวรุณ’ ที่ทอดลำอยู่เหนือแผ่นน้ำเจ้าพระยา เพื่อรอรับการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ลงประทับก่อนจะเคลื่อนออกจากแผ่นดิน
ครั้นถึงเวลาตามหมายกำหนดการทั้งสองพระองค์จึงเสด็จฯลง ระวางเรือราชพาหนะถูกขับเคลื่อนห่างจากท่าอย่างช้าๆ ท่ามกลางสายตาของคณะรัฐบาล ข้าราชการ พลเรือน ตลอดจนทูตานุทูตต่างประเทศ และเหล่าพสกนิกรที่เฝ้าฯส่งเสด็จอย่างคับคั่ง หากในใจของพวกเขาเหล่านั้นคงไม่นึกคิดว่า การเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้นจะเป็นการเสด็จฯอำลาจากเมืองไทยขององค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯอย่างชั่วนิรันดร์
แม้จะมีข่าวเล่าลือกันในตอนนั้นว่า พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่ขัดแย้งกับคณะรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และสภาผู้แทนราษฎรทางด้านการเมืองการปกครองในหลายๆประการ ทั้งที่ทรงสนับสนุนและให้คำแนะนำบรรดา ‘คณะราษฎร’ ที่ลุกขึ้นมาก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม…ที่สุดทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะเสด็จฯไปรับการถวายการรักษาพระเนตรข้างขวาที่ประชวรต้อกระจกที่อังกฤษหลังจากที่เคยเสด็จฯไปรับการถวายการผ่าตัดพระเนตรข้างซ้ายที่สหรัฐอเมริกามาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2474 พร้อมกันนี้มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จฯเยือนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับบรรดามิตรประเทศในยุโรปด้วย
หากเบื้องลึกของการตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯออกนอกประเทศครั้งนั้น เหล่าผู้มีอำนาจคงจะทราบถึงนัยแห่งความหมายนี้…
ระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จฯออกจากเมืองไทยแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้ทรงนัดหมายกับบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ และพระประยูรญาติหลายองค์ ที่จำต้องเสด็จลี้ภัยการเมืองมาประทับในแถบประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทับที่บันดุง เกาะชวา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ประทับที่เกาะปีนัง กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินประทับที่เกาะสิงคโปร์ ฯลฯ สถานที่ทรงนัดคือ เมืองเมดาน เกาะสุมาตรา (ประเทศอินโดนีเซีย) และประทับอยู่ราว 3 วันจึงเสด็จฯลงเรือ ‘เมโอเนีย’ ของบริษัทอีสต์เอเชียติก ที่จัดถวายเป็นเรือพระที่นั่งนำเสด็จฯสู่ทวีปยุโรป
เรือพระที่นั่งนำเสด็จถึงเมืองมาร์เซลย์ ฝรั่งเศส อันเป็นจุดหมายปลายทางในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (นับศกอย่างเก่า) ซึ่งผมมีโอกาสเข้าเฝ้าฯทั้งสองพระองค์ด้วยความดีใจเป็นที่สุดอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ครั้งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผมตามเสด็จที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2474
จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเยือนมิตรประเทศต่างๆอย่างเป็นทางการในฐานะแขกเมือง (STATE VISIT) อาทิ เดนมาร์ก ฮอลันดา เบลเยี่ยม เยอรมนี เชโกสโลวะเกีย ฮังการี ออสเตรีย และอิตาลี ผู้ตามเสด็จในคราวนั้นประกอบด้วย กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย (พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ หม่อมเจ้าประสบศรี จิรประวัติ ราชองครักษ์ พลเรือตรี หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์ นายแพทย์ประจำพระองค์ และหม่อมครอง ไชยันต์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช หม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร ผู้ช่วยราชเลขานุการ พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหราชองครักษ์และเลขานุการในขบวนเสด็จฯ หลวงดำรงดุสิตเรข ผู้ช่วยราชเลขานุการ หลวงศิริสมบัติ (พุ่ม โชติกะพุกกะณะ) เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และนายรองสนิท โชติกเสถียร ในช่วงหลังของหมายกำหนดการตรงกับเวลาที่โรงเรียนปิดเทอม ผมจึงมีโอกาสตามเสด็จด้วย
เมื่อเสด็จประพาสตามหมายกำหนดการเสร็จสิ้นแล้ว จึงเสด็จฯยังกรุงลอนดอน ซึ่งทรงใช้เป็นที่แปรพระราชฐานและรักษาพระองค์ โดยทางกระทรวงวังได้เช่าคฤหาสน์โนล (KNOWLE) ณ ตำบลแครนลีห์ (CRANLEIGH) ใกล้ GUILFORD, SURREY ซึ่งเป็นบ้านมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษของนายทหารนอกราชการคนหนึ่งของอังกฤษ เป็นตึกใหญ่สีเทาๆ กว้างขวางแบบบาโร้ค (BAROQUE) อยู่ห่างจากลอนดอนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 35 ไมล์ไว้เป็นที่ประทับ
ช่วงเวลาหลายเดือนระหว่างที่ประทับ ณ คฤหาสน์นี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีข้อราชการติดต่อกับทางรัฐบาล โดยผ่านทางผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) มาตลอด แต่ไม่อาจบรรลุข้อตกลงใดๆได้ เกิดความขัดแย้งต่างๆนานา ด้วยพระราชปณิธานนั้นทรงปรารถนาให้ประชาชนได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่รูปการกลายเป็นว่า อำนาจการปกครองที่พระราชทานนั้นกำลังจะตกไปอยู่กับคณะผู้ที่มีอิทธิพลในขณะนั้น จึงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติ (รายละเอียดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผมมาศึกษาเอาทีหลังและไม่ขอเล่าในที่นี้ เพราะจะยืดยาวเกินไป) ทางรัฐบาลจึงส่งคณะผู้แทนประกอบด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (พลเรือตรี ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายดิเรก ชัยนาม เดินทางมาเข้าเฝ้าฯเพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯกลับเมืองไทย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเตรียมพระราชบันทึกที่แสดงถึงพระราชประสงค์ต่างๆที่มีต่อรัฐบาล เป็นการเจรจาผ่านทางคณะผู้แทนมายังเมืองไทย เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพระราชบันทึกทั้งหมดแล้วลงมติคัดค้าน และไม่สามารถสนองพระราชประสงค์ได้ ผลที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 นับเป็นวันสิ้นรัชกาลแห่งพระมหากษัตริย์ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์สุดท้าย และพระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์
ต่อมาทางรัฐบาลและสภาผู้แทนฯได้พิจารณาลงมติอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ เพื่อทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป
หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ท่านยังคงประทับ ณ พระตำหนักโนลต่อไป ส่วนข้าราชบริพารที่ตามเสด็จก็ได้รับคำสั่งจากกรุงเทพฯให้กลับเมืองไทยเพราะหมดหน้าที่แล้ว รัฐบาลก็ได้ยุบกระทรวงวังลงเป็นสำนักพระราชวัง เป็นอันว่าเหลือเพียงหม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร และนายรองสนิท โชติกเสถียร ที่ยังคงอยู่ต่อไป นอกเหนือไปจากหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ และหม่อมเสมอ ซึ่งตามเสด็จตั้งแต่ออกจากเมืองไทย และพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ กับพี่ต๊ะ-อัชฌา จักรพันธุ์ ซึ่งทรงย้ายมาจากสหรัฐอเมริกา
ในเวลาต่อมา พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะแปรพระราชฐานจากพระตำหนักโนล เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะประทับในที่อากาศดีกว่า เพราะพระตำหนักนี้เป็นตึกใหญ่มีลักษณะทึบ ไม่ค่อยเหมาะกับพระอนามัย ประกอบกับค่าเช่าอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ทรงจำเป็นที่จะต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง และทรงหวังที่จะใช้เวลาพักผ่อนอย่างเต็มที่ด้วย
ในที่สุดก็ได้บ้านหลังหนึ่ง รูปทรงทันสมัยขนาดกว้างขวาง ที่ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ (VERGINIA WATER) ห่างจากตำบลแครนลีห์ลงไปทางใต้อีก พระองค์เสด็จฯมาประทับยังพระตำหนักใหม่พร้อมสมเด็จพระบรมราชินีและข้าราชการบริพารที่ยังเหลืออยู่ โดยเหตุที่บ้านส่วนใหญ่ในตำบลนี้มักจะมีชื่อ GLEN ซึ่งมีความหมายถึงหุบเขานำหน้ากัน พระองค์ท่านจึงพระราชทานนามตำหนักใหม่นี้ ด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า ‘GLEN PAMMANT’ ในภาษาอังกฤษไม่มีความหมายอะไร ทว่าความหมายที่ลึกซึ้งอยู่ที่การกลับตัวอักษรจำนวนนั้นเสียใหม่เป็น ‘TAM PLENG MAN’ อ่านเป็นภาษาไทยว่า ‘ตามเพลงมัน’ อันหมายถึงว่า แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น แสดงถึงการทอดพระอาลัยในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นกับพระองค์ท่าน
การที่ไม่ทรงใช้นามอย่างไพเราะ ดี หรู เช่น ไม่มีกังวล ภาษาฝรั่งเศสว่า ซองส์ ซูซีส์ (SANS SOUCIS) อย่างพระราชวังไกลกังวลนั้น รับสั่งว่า พอเกิดเรื่องขึ้นมา เดี๋ยวก็ถูกยึด…