ในปัจจุบันนี้โรควิตกกังวลอาจเป็นโรคใกล้ตัวกว่าที่ใครหลาย ๆ คนคิด เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือเหตุการณ์ทางสังคมในทุกวันที่มีความกดดันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย
โดยหนึ่งในประเภทของโรควิตกกังวลที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ‘โรคแพนิค’ นั่นเอง แม้ว่าโรคแพนิคจะไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ควรสังเกตลักษณะอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ดี เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างราบรื่น
ทำความรู้จักกับโรคแพนิค
โรคแพนิค คือโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่สามารถส่งผลต่อการระบบทำงานส่วนอื่น ๆ บนร่างกายได้มากมาย โรคแพนิคแสดงอาการออกมาได้หลากหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นแรง, มือเท้าสั่น, ตัวชา, หายใจถี่ หรือท้องไส้ปั่นป่วน เป็นต้น
ซึ่งอาการของโรคแพนิคนี้ยังอาจทำให้ผู้ป่วยตื่นกลัวและวิตกกังวลเป็นอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือสร้างความลำบากในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
โรคแพนิคมีอาการอย่างไร
อาการของโรคแพนิคนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้นก่อนที่จะรู้จักกับแนวทางการดูแลตนเองหรือวิธีรักษาโรคแพนิค ในหัวข้อนี้เราจะพามาดูกันก่อนดีกว่าว่าโรคแพนิคมีอาการอย่างไรบ้าง
อาการของโรคแพนิค
- หัวใจเต้นแรงหรือเร็ว ใจสั่น
- เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก
- หายใจถี่ หายใจติดขัด
- ตัวสั่น มือเท้าสั่น
- ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้
- เหงื่อออกมาก
- วิงเวียนศีรษะ มึนงง จะเป็นลม
- ชาตามปลายมือและปลายเท้า
- รู้สึกหวาดกลัวทุกอย่าง หรือกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับตนเอง
สาเหตุของโรคแพนิค

โรคแพนิคเป็นโรคที่หลาย ๆ คนมักเข้าใจกันเพียงแค่ว่าเป็นโรคที่เกิดจากความวิตกกังวล แต่ความจริงแล้วโรคแพนิคนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่
- สารเคมีในสมองขาดความสมดุลจากความผิดปกติของฮอร์โมน
- ผู้ที่มีญาติหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคแพนิค จะมีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่าคนทั่วไปเนื่องจากกรรมพันธุ์
- เกิดจากการเสพหรือใช้สารเสพติด
- เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนควบคุมความความทรงจำที่มีชื่อว่า ‘Amygdala’ ที่ส่งผลต่อความกลัวโดยตรง
- มีความเครียดสะสมจากการดำเนินชีวิต
- เคยผ่านเหตุการณ์หรือได้รับประสบการณ์เลวร้ายในอดีต
- ถูกกระตุ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เผชิญหน้ากับความกดดัน, วิตกกังวล, ขาดการออกกำลังกาย, พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ๆ
ตรวจวินิจฉัยโรคแพนิคได้อย่างไร
การที่จะมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าตนเองเป็นโรคแพนิคนั้นการสังเกตอาการด้วยตนเองหรือคนใกล้ตัวเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่พอ แต่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะมีการวินิจฉัยโรคแพนิคในผู้ป่วย ดังนี้
- เกิดอาการแพนิคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้สารเสพติด, การใช้ยาบางชนิด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
- เกิดอาการแพนิคขึ้นบ่อยครั้งโดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้
- มีความรู้สึกกังวลหรือหวาดกลัวเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งเดือนแม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมานานแล้วก็ตาม
โรคแพนิครักษาอย่างไรได้บ้าง
วิธีการรักษาโรคแพนิคนั้นสามารถทำได้ด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อให้ยาเข้าไปปรับสารเคมีในสมองที่ผิดปกติให้กลับมาสมดุล ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องรักษาทางจิตใจ หรือที่เรียกว่า ‘จิตบำบัด’ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการรับการรักษาอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันก็คือการปรึกษาหมอออนไลน์นั่นเอง เนื่องจากมีความสะดวกที่มากกว่า
นอกจากนี้การจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลเองก็สำคัญเช่นกัน รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันหรือเลือกอาศัยอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแพนิค
สำหรับผู้ที่เป็นโรคแพนิคนั้นไม่เพียงแค่ควรรู้วิธีการรักษาเท่านั้น แต่ยังควรรู้ถึงวิธีการดูแลตนเองด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดอาการโรคแพนิค หรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมซึ่งจะส่งผลให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแพนิค
- ฝึกเทคนิคหรือหาวิธีการผ่อนคลายเพื่อลดระดับความเครียดที่อาจเกิดขึ้น
- ห้ามบรรเทาอาการโรคแพนิคด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการรับประทานยานอนหลับ เพราะจะทำให้อาการโรคแพนิครุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อหยุดรับประทาน
- หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ สามารถออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเล่น โยคะ หรือเต้นแอโรบิกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างหักโหม
- ควรงดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชา, กาแฟ, เครื่องดื่มชูกำลัง รวมไปถึงน้ำอัดลมบางชนิด
- ปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาตามขั้นตอน
สรุปโรคแพนิค
ในยุคปัจจุบันนี้ที่มีสถานการณ์อันน่ากดดันมากมายรายล้อมตัวเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนมากมายเกิดความเครียดสะสมและวิตกกังวลกับสิ่งต่าง ๆ รอบกาย จึงไม่แปลกเลยที่โรคแพนิคจะกลายมาเป็นโรคที่สามารถพบเจอกันได้มากยิ่งขึ้น
แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลไป เนื่องจากโรคแพนิคนั้นสามารถรักษาได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งจะให้การรักษาที่เหมาะสมตามแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายยาไปให้รับประทาน หรือการทำจิตบำบัดก็ตาม
นอกจากนี้คุณยังสามารถป้องกันโรคแพนิคแบบเบื้องต้นด้วยตัวเองได้โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดไปในทางบวกให้มากยิ่งขึ้น หรือย้ายตนเองไปอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลาย เพื่อให้การใช้ชีวิตของคุณมีความสุขและห่างไกลความเครียด
และสำหรับใครที่กำลังมีปัญหา หรือต้องการได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่สะดวกเดินทางไปหาหมอสามารถหาหมอออนไลน์ในแอปพลิเคชัน BeDeeได้เลย แอป BeDee มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากเครือ BDMS ให้บริการทุกวันถึง 23.00 น. หรือสามารถทำแบบประเมินความเครียด Burnout โรคซึมเศร้า หรือประเมินความเข้มแข็งทางใจเบื้องต้นกับพยาบาล ไม่มีค่าใช้จ่าย ดาวน์โหลด BeDee คลิก https://bit.ly/4btcZSY