มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ

มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ เล่าเรื่องราวผู้สร้างสัมพันธไมตรี ไทย-เบลเยียม พร้อมจัดพิธีรับมอบรูปปั้นทองสำริดแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

account_circle
มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ
มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ

จิบน้ำชายามบ่าย เปิดตัวหนังสือมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ เล่าเรื่องราวผู้สร้างสัมพันธไมตรี ไทย-เบลเยียม พร้อมจัดพิธีรับมอบรูปปั้นทองสำริดแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส ประธานมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ จัดงานจิบน้ำชายามบ่าย เปิดตัวหนังสือ “มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ” ฉบับพิเศษ เล่าเรื่องราวผู้สานความสัมพันธ์ไทยและเบลเยียม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง ความสัมพันธ์ของทั้งสองราชวงศ์ และการช่วยเหลือสังคมไทย ตีพิมพ์ครั้งแรก 1,000 ฉบับ มอบให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน พร้อมจัดพิธีรับมอบรูปปั้นทองสำริดเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ นำไปตั้งเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความดีงามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส ประธานมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ กล่าวว่า “มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ก่อตั้งโดยใช้ชื่อของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ กุสตาฟว์ รอแล็ง-ฌักแม็ง (Gustave Rolin-Jacquemyns) ที่ปรึกษาราชการทั่วไปในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบกฎหมาย การบริหารราชการของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นผู้จุดประกายความสัมพันธ์ของประเทศไทยและเบลเยียมเข้าด้วยกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง และความสัมพันธ์ของทั้งสองราชวงศ์ โดยตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานบนพันธกิจหลักสามประการ คือ การรักษาความทรงจำและผลงานของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจที่มีต่อประเทศไทย การสานความสัมพันธ์ของราชวงศ์ไทยและเบลเยียม และการช่วยเหลือพร้อมยกระดับสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย

ล่าสุด มูลนิธิฯ จึงได้จัดทำหนังสือฉบับพิเศษ “มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ” (THE CHAO PHYA ABHAI RAJA SIAMMANUKULKIJ FOUNDATION) ย้อนรอยกิจกรรม 15 ปี นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการแรกจนก่อตั้งมูลนิธิฯ โดยมีเนื้อหาบทสำคัญเขียนโดย ม.ร.ว. เทพกมล เทวกุล บอกเล่าเรื่องราวการทำงานและความสำเร็จของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามมานุกูลกิจ ซึ่งถือเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับพระราชทานยศเป็นเจ้าพระยาในสมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งภายในหนังสือยังได้รวบรวมเรื่องราว รูปภาพแห่งความประทับใจ และโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้น กว่า 700 หน้า โดยได้รับการสนับสนุนเนื้อหาจากบุคคลสำคัญต่างๆ มากมาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประเทศไทยและเบลเยียม รวมถึงการเดินหน้าช่วยเหลือสังคมไทย พร้อมเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ดร.จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยาและคุณเตือนใจ สินธุวณิก ร่วมงานจิบน้ำชายามบ่าย เล่าเรื่องราวความประทับใจจากเนื้อหาในหนังสือ อาทิ 

โครงการ People of the World Ceramic Project เป็นโครงการแรกก่อนการก่อตั้งมูลนิธิฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยร่วมกับศิลปินด้านประติมากรรมชาวยุโรป เพื่อมาสอนเทคนิคการแกะสลักและลงยาให้กับเยาวชนชาวเขา จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างรายได้ ต่อมาคือ โครงการวงดนตรีไวโอลินชาวเขา ซึ่งได้นักไวโอลินชาวเบลเยียมมาร่วมสอนให้กับเด็กๆ ชาวเขา เพื่อสร้างเป็นอาชีพ และ โครงการสนามฟุตบอลเชียงรายฮิลส์ การสร้างสนามฟุตบอลมาตรฐาน เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนไทยชื่นชอบการเล่นกีฬา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โครงการหน้ากากกระดาษ โดยได้ร่วมมือกับศิลปินชื่อดังจัดทำหน้ากากจากกระดาษ เพื่อจัดแสดงและเปิดประมูล นำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ในหนังสือยังได้รวบรวมกิจกรรมที่สำคัญต่างๆ โดยเริ่มต้นที่ “งานกาล่าดินเนอร์เพื่อการกุศล” เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ของราชวงศ์ไทยและเบลเยียม 150 ปี ในปีนั้นทางมูลนิธิได้จัดงานรวมทั้งสิ้น 9 วัน ซึ่งงานกาล่าดินเนอร์ได้รับเกียรติจากเจ้าหญิงมารี-เอสเมอรัลดาแห่งเบลเยียม และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถให้การเสด็จร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีงานนิทรรศการภาพถ่ายของพระมหากษัตริย์ทั้งสองราชวงศ์อันยิ่งใหญ่จัดแสดงและได้รับเกียรติเปิดงานนิทรรศการโดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย และในปี 2560 ทางมูลนิธิฯ ได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 125 ปีที่เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และในปี 2561 ได้มีการจัดงานกาล่าดินเนอร์ขึ้นอีก โดยได้รับเกียรติจาก เจ้าหญิงเลอาแห่งเบลเยียม พร้อมด้วยหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ผู้แทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถเสด็จเป็นประธาน สำหรับงานกาลาดินเนอร์ครั้งนั้น จัดขึ้นภายใต้แนวคิดการย้อนรำลึกความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อครั้งสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม เสด็จเยือนประเทศไทยในปี ค.ศ. 1964 โดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงให้การต้อนรับ และการจัดงานกาล่าดินเนอร์ครั้งล่าสุดในปี 2562 The Simply Exceptional 2019 Gala Dinner” เพื่อสืบสานความสัมพันธ์ของ 3 ราชอาณาจักร อันได้แก่ ไทย เบลเยียม และเลโซโท ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 สมเด็จพระราชินี มาเซเนต โมฮาโต เซเอโซ แห่งราชอาณาจักรเลโซโท เจ้าหญิงเลอาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม หม่อมหลวงสราลี กิติยากร ผู้แทนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถเสด็จร่วมงาน ซึ่งในงานได้มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องเพชรสุดล้ำค่าและหาชมยากที่สุดในโลก มูลค่า 7,000 ล้านบาท จากแบรนด์ “โมอาว็าด” (Mouawad)

เคานต์เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส กล่าวต่อว่า “สำหรับหนังสือมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ จะถูกตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกกว่า 1,000 เล่ม สำหรับมอบให้กับหน่วยงานราชการ หอสมุด และหน่วยงานที่ขอรับ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวบทบาทหน้าที่ของมูลนิธิและความยิ่งใหญ่ของการปฎิบัติหน้าที่เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ประเทศไทยและเบลเยียมของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ อีกทั้งทางมูลนิธิฯ ยังได้จัดทำ รูปปั้นทองสำริดเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ซึ่งออกแบบโดยนายเทอดคงทน ต่อติด ศิลปินชาวไทย เพื่อมอบให้แก่ สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตไทยในเบลเยียม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจที่มีต่อไทย และต่อความสัมพันธ์ระหว่างเบลเยียมกับไทย”


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up