มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในโครงการและกิจกรรมอาสาพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยทางมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรเพื่อช่วยยกระดับ และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลผลิต

นายณรงค์ฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช  ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โดยมี ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม นางวันทนีย์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล  นางสมกมล จิราธิวัฒน์ เวชชาชีวะ ผู้บริหารมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ลงนามเป็นสักขีพยาน โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เกษตรกร พนักงานบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล และสื่อมวลชน ร่วมงาน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร
 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวถึงการลงนามในครั้งนี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินงานโครงการและกิจกรรมอาสาพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืนร่วมกัน โดยการศึกษาวิจัยและบริการทางวิชาการ ในการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร รวมถึงพัฒนาระบบการผลิตและผลผลิตทางเกษตรของชุมชนเกษตรกร การจัดตั้งกองทุน และการสร้างถาวรวัตถุทางการเกษตร โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยินดีที่จะสนับสนุนทางด้านการบริการวิชาการสู่ชุมชนอย่างเต็มที่ ซึ่งเรามีนักวิชาการที่พร้อมจะลงไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามความต้องการของชุมชน อย่างไรก็ตามการเติบโตของมหาวิทยาลัยจะต้องทำให้พื้นที่ชุมชนรายรอบได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว
ด้าน นางวันทนีย์ จิราธิวัฒน์ กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ให้มีอาชีพอย่างยั่งยืน รู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาความยั่งยืนให้กับธรรมชาติทำการเกษตรอย่างปลอดภัย โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ พร้อมทั้งการช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลผลิต การช่วยเหลือทางด้านการลงทุน การพัฒนาสินค้า การทำหีบห่อ และการเสริมความรู้ทางการตลาดให้แก่เกษตรกร โดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี และพัฒนาสารชีวภาพเพื่อใช้ยับยั้งเชื้อราในพืชเกษตรโดยตรง  ซึ่งเกษตรกรสามารถเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่อาชีพนับเป็นแบบอย่างที่ดีของความร่วมมือในการทำงานให้กับชุมชนและสังคม ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือทางวิชาการ ในครั้งนี้จะเป็นพลังสำคัญสร้างความมั่นคง ความยั่งยืนให้กับชุมชนตลอดไป” นางวันทนีย์ กล่าวย้ำในที่สุด

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up