มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมเปิดการแสดงโขน ตอน “สืบมรรคา” 6 พ.ย. – 5 ธ.ค. นี้

Alternative Textaccount_circle

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเป็นประจำทุกปี และนับเป็นวาระพิเศษที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนการแสดงโขนไทย (KHON: MASKED DANCE DRAMA IN THAILAND) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน  2561 ที่ผ่านมา

เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป ในปี 2562 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “สืบมรรคา” มาจัดแสดงตามรูปแบบโขนหลวง ผสานกับความตระการตาของฉากเทคนิคที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยจัดรอบบูรพทัศน์ (Preview) การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2562 ตอน “สืบมรรคา” พร้อมเผยฉากสำคัญ และการแสดงไฮไลท์ให้ได้ชมก่อนใคร อย่างขบวนทศกัณฐ์ และรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน และหนุมานรบนางอังกาศตไล เมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวแสดงความยินดี และภาคภูมิใจที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่การแสดงโขนสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผ่านการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เป็นที่ประจักษ์ในพัฒนาการของการแสดงโขนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบ เทคนิคการแสดง จึงทำให้เป็นที่เลืองลือของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนสถาบันการศึกษา เด็ก และเยาวชน ให้ความสนใจมาชมโขนกันเพิ่มมากขึ้นทุกปี

“โขน เป็นนาฏศิลป์และศิลปะชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเอกลักษณ์โดดเด่น รวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรม และงานช่างฝีมือต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมองการณ์ไกลในการที่ทรงฟื้นฟูการแสดงโขน และทรงมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมอันมีคุณค่านี้ต่อไป” รมว.กระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวถึงการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเปิดแสดงนับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 รวมทั้งสิ้น 8 ตอน ได้แก่ ศึกพรหมาศ, นางลอย, ศึกมัยราพณ์, จองถนน,
ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์, ศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ, ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ และพิเภกสวามิภักดิ์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยในปีนี้จัดแสดงตอน “สืบมรรคา” ซึ่งมีเนื้อหาสนุกสนาน หลากรส และชวนติดตามไปกับการผจญภัยของหนุมานทหารเอกของพระราม นอกจากนี้ยังมีตัวละครใหม่ๆ เช่น นกสัมพาที นางผีเสื้อสมุทร นางอังกาศตไล ยักษ์ปักหลั่น และที่น่าจับตาชมคือเครื่องแต่งกายของตัวละครที่แปลกตากว่าตอนอื่นๆ เช่น ทศกัณฐ์สวมศรีษะโขนหน้าทองมีผ้าคล้องไหล่ พวงมาลัยคล้องพระกรขวา และพัดด้ามจิ้วจันทน์ที่ใช้สะบัดประกอบท่ารำ รวมถึงจะได้ชมกระบวนรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนที่สวยงาม แสดงความเจ้าชู้ยักษ์ของตัวทศกัณฐ์ที่เข้าไปเกี้ยวพาราสีนางสีดา

ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงฯ กล่าวต่ออีกว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็ยังมีผู้พลาดชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และได้รับคำเรียกร้องให้จัดทุกปี “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยที่การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ที่คนหนุ่มสาว และเด็กๆ พากันจูงผู้เฒ่า ผู้แก่ในครอบครัวไปชมโขนกันอย่างเนืองแน่น อันเป็นภาพที่น่าชื่นใจอย่างยิ่ง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องกันทุกปี ด้วยทรงเห็นความสำคัญในโขนซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่สืบไป”

อาจารย์นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวถึงการให้การสนับสนุน และความร่วมมือในการแสดงโขนครั้งนี้ว่า “ในฐานะสถาบันที่มีการเรียนการสอนทางด้านนาฏศิลป์ คีตศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ขอเป็นตัวแทนของเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งทุกคนพยายามพัฒนาฝีมือ เพื่อที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้แสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และรอคอยที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขน ต้องขอบพระคุณมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ อย่างสูงในการสร้างเยาวชนให้รัก หวงแหน และเผยแพร่ศิลปะชั้นสูงนี้ไว้ เพื่อให้เป็นสมบัติของประเทศชาติสืบต่อไป”

อาจารย์ประเมษฐ์ บุญยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโส กล่าวว่า ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงรื้อฟื้นการแสดงโขนให้กลับคืนมาเป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยมากว่าทศวรรษ ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของไทยไม่สูญไปกับกาลเวลา
ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านนาฏศิลป์จากรุ่นสู่รุ่น การฟื้นฟูเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ รวมทั้งการสืบทอดผู้แสดงโขนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งล้วนเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นศิลปะการแสดงโขนและช่างฝีมือทั้งหลาย คงมีอันสูญหายกันไปนานแล้ว

“การแสดงโขนแต่ละตอนจะมีความพิเศษ ซึ่งเป็นมรดกที่ได้รับการสืบทอดมาจากครูบาอาจารย์ อาทิ ทศกัณฐ์หน้าทอง ซึ่งหัวโขนทศกัณฐ์หน้าสีทอง ถือเป็นหัวโขนที่เป็นศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม โดยเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ซึ่งตกทอดมายังกรมมหรสพ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตามลำดับ  โดยครูอร่าม อินทรนัฎ ได้นำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง และแสดงให้เห็นถึงทศกัณฐ์ที่อารมณ์ดี หน้าตาผ่องใส  รวมทั้งกระบวนท่ารำต่างๆ ในการแสดงโขนครั้งนี้ที่เชื่อกันว่า สืบทอดมาจากกรมมหรสพในรัชกาลที่ 6 โดยคุณครูอร่าม ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในกรมศิลปากร ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ และนำมาถ่ายทอดมาสู่รุ่นครูต่างๆ ซึ่งถือเป็นกระบวนท่าที่รักษา และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น”

ดร. สุรัตน์ จงดา ผู้เขียนบท และกำกับการแสดง การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2562 กล่าวถึงความสนุกสนานของการแสดงโขน ตอน สืบมรรคา ว่า “เป็นตอนที่มีความสนุกสนาน หลากรส และเต็มไปด้วยสีสัน มีการทำฉากเทคนิคให้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา แฟนตาซีมากกว่าเดิม สนุกสนานมากขึ้น และจะได้เห็นหนุมานผจญภัยที่ด่านต่างๆ จนถึงเมืองลงกา รวมทั้งมีฉากไฮไลท์ เช่น ฉากแม่น้ำใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากเด่นของตอน โดยหนุมานและเหล่าวานร พบแม่น้ำใหญ่ หนุมานจึงนิรมิตกายให้ใหญ่โตเอาหางพาดต่างสะพานให้กองทัพวานรไต่ข้ามแม่น้ำมีตัวละครใหม่ๆ อย่างนางอังกาศตไล ที่จะปรากฏเฉพาะในตอนนี้เท่านั้น  ตลอดจนท่วงท่าการรำได้มีการรื้อฟื้นท่ารำแม่บทเก่าแก่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยแสดงในการโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ครั้งใดมาก่อน โดยเชิญครูผู้เชี่ยวชาญระดับศิลปินแห่งชาติมาเป็นผู้ฝึกสอน ที่สำคัญการดำเนินเรื่องก็กระชับ ฉับไว และตื่นเต้น เข้ากับรสนิยมของผู้ชมรุ่นใหม่ รับรองว่าสนุกสนานชวนติดตาม แฟนโขนทุกคนไม่ควรพลาดชม”

ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดการแสดงฉากสำคัญที่เตรียมมาเป็นพิเศษสำหรับงานบูรพทัศน์ 2 ชุด ได้แก่ “รำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน” แสดงให้เห็นถึงลีลาท่ารำของทศกัณฐ์ที่แสดงถึงความเจ้าชู้ กรุ้มกริ่ม แต่แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็ง ยิ่งใหญ่ตามลักษณะของพญายักษ์ และ “หนุมานรบนางอังกาศตไล” เป็นตอนที่หนุมานเหาะเหินเดินอากาศเข้ากรุงลงกา ต้องสู้รบกับนางอังกาศตไล เสื้อเมืองลงกา ผู้คุมด่านทางอากาศ นางยักษ์สวมใส่มงกุฎยอดน้ำเต้าห้ายอด สีหงเสน (สีส้มแดง) แต่งกายด้วยผ้าสไบนางยักษ์ แต่นุ่งโจงกระเบน มีสี่หน้า แปดมือ และมีความสามารถในการใช้อาวุธมากมาย ได้แก่ ง้าว กระบอง จักรศร รวมทั้งได้เห็นความซุกซนของหนุมานที่เข้าหยอกล้อนางอังกาศตไลหลากหลายกระบวนท่ารำ รวมทั้งท่าเปิดสไบ ซึ่งผ้าผืนนี้ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ ร่วมระดมฝีมือจากสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง และสมาชิกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ปักเป็นลวดลายสำหรับนางยักษ์ คือลายพุ่มหน้ากาลก้านแย่ง ออกแบบโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย

นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน เช่น ดร.อนุชา ทีรคานนท์, อาจารย์สุดสาคร ชายเสม, อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว, อาจารย์วัชรวัน ธนะพัฒน์ และอาจารย์พีรมณฑ์ ชมธวัช ร่วมเผยรายละเอียดสำคัญต่าง ๆ ในการแสดงโขนครั้งนี้ด้วย

สำหรับการแสดงโขนส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” มี 2 องก์ รวม 10 ตอน โดยมีฉากรบเด่น เช่น ฉากหนุมานรบนางอังกาศตไล, ฉากกลางทะเล ที่หนุมานเหาะมาถึงกลางทะเล นางผีเสื้อสมุทร รักษาด่านเมืองลงกา เห็นหนุมานเหาะมาจึงนิมิตขวางหน้าไว้และจะกินหนุมาน หนุมานจึงเหาะเข้าปากผ่าท้องนางผีเสื้อสมุทร และฉากรักเด่น เช่น ฉากตำหนักในกรุงลงกา ซึ่งเล่าถึงทศกัณฐ์ตั้งแต่ได้นางสีดามาและนำไปไว้ในสวนขวัญ ทศกัณฐ์เฝ้าคิดถึงแต่นางสีดาทุกคืนวัน ทศกัณฐ์จึงสั่งให้จัดขบวน และแต่งกายให้งดงามเพื่อไปเกี้ยวนางสีดาที่สวนขวัญ เป็นต้น

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” จะเปิดการแสดงระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com หรือสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.khonperformance.com และเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up