dtac Accelerate Batch 3 โชว์ของ Tech Startup เวทีนี้ดีแทคเป็นพี่เลี้ยง

‘หากไม่มีดีแทค ไอเดียของเราก็ยังเป็นแค่ฝัน ไม่ได้มาโลดแล่นใช้งานได้จริงอย่างวันนี้’

คำที่กลั่นออกมาจากใจของผู้เข้ารอบในการประกวด dtac Accelerate ทั้ง 3 ทีม พร้อมด้วยนามบัตรใบแล้วใบเล่าที่พวกเขายื่นอย่างภาคภูมิใจ ที่ตำแหน่งบนนามบัตรทุกคนเป็นซีอีโอกับผู้ร่วมก่อตั้ง   เพราะเมื่อผ่านเวทีนี้แล้ว พวกเขาคือนักธุรกิจเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Tech Startup’

ทีม Tech Farm : เล่นน้ำด้วยโทรศัพท์มือถือ

สมาชิก : อานนท์ บุณยประเวศ มณีรัตน์ ว่องเจริญพร และปริวัฒน์ ทองเนื้อสุข

IMG_0621rt

คุณนนท์ – อานนท์ บุณยประเวศ ซีอีโอของบริษัท TECH FARM กำลังเรียนปริญญาโทที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เล่าถึงที่มาของทีมว่า พวกเราเจอกันที่คอมมูนิตี้ของไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักศึกษาที่สนใจเรื่องเดียวกัน จึงคิดทำโครงการไปประกวดที่อิเมจิ้นคัพ (Imagine Cup) ซึ่งเป็นรายการประกวดซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาโลก ตอนนั้นโจทย์เป็นเรื่องการขาดแคลนของสภาพอาหาร เราสร้างอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพดินชื่อว่า ‘เล่นดิน’ เพื่อให้เกษตรกรใช้ดินเป็นจะได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ผ่านมา 2 ปีกระบวนการวิจัยยังไม่เสร็จ เราจึงเปลี่ยนกลุ่มมาที่ชาวประมงและผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ น่าสนใจตรงที่ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย เกษตรกรก็ยังเจอปัญหาเดิมๆ เหมือนย่ำอยู่ที่เดิม พวกเราจึงคิดอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพน้ำชื่อ ‘เล่นน้ำ’ แล้วนำมาประกวดในโครงการ dtac Accelerate ปรากฏว่าติด 1 ใน 6  จากที่เป็นแค่ไอเดีย เราเริ่มไปขอข้อมูลจาก ดร.เกรียงไกร สถาพรวานิชย์ ที่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่วัดค่าน้ำด้วยเทอร์โมมิเตอร์กับกระดาษลิตมัส เช้ากับบ่าย ช่วงระหว่างนั้นบางทีเกษตรกรนอนหลับ ตื่นมากุ้งตายทั้งบ่อ เสียหายเป็นล้าน ต้องแก้ปัญหาด้วยการจ้างคนเฝ้า ได้รู้ว่ายังมีข้อมูลดีๆ อีกเยอะที่เกษตรกรไม่ทราบ ขณะที่ไปถามเกษตรกรก็มีข้อมูลที่ดีที่นักวิชาการไม่ทราบ ดังนั้นพวกเราจึงเป็นสะพานเชื่อมข้อมูลของทั้ง 2 ฝั่งมาพบกัน นอกจากเกษตรกรสามารถรู้ค่าน้ำแล้ว ยังทราบว่าสามารถเลี้ยงสัตว์น้ำอะไรได้บ้าง

ในเมื่อเราเป็นนักศึกษา มีความคิดสร้างสรรค์ เราจึงอยากทำเครื่องมือที่ลดความเสี่ยงและเพิ่มอัตราการรอด ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร คุณจิ๋ว – มณีรัตน์ ว่องเจริญพร นิสิตปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสารสนเทศและการสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมซีอีโอก่อนอธิบายการทำงานของ ‘เล่นน้ำ’ ว่าเป็นเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อระบบปิด มีทั้งฮาร์ดแวร์ควบคู่กับซอฟท์แวร์ ประกอบด้วยทุ่นลอยน้ำขนาด 50 คูณ 50 ติดโซลาร์เซลล์เพื่อชาร์จแบตกับแท่งที่ใช้วัดค่าน้ำ ซึ่งจะแปลงค่าน้ำส่งผ่านทางแอพพลิเคชั่นชื่อ ‘เล่นน้ำ’ หากอุณหภูมิน้ำในบ่อผิดปกติจะส่งสัญญาณเตือนเข้าที่โทรศัพท์มือถือ ไม่เฉพาะแค่กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เพราะจิ๋วได้ยินรุ่นพี่เล่าว่า ที่บ้านเลี้ยงปลาคาร์พ ฝนตกตอนกลางคืน ตื่นมาพบปลาตายทั้งบ่อ ‘เล่นน้ำ’ สามารถช่วยได้ ต้นปีหน้าทั้งเครื่องกับแอพ ‘เล่นน้ำ’ คงพร้อมใช้งาน ซึ่งดีแทคช่วยเหลือมากในเรื่องของข้อมูลการตลาด ช่องทางการตลาด รวมถึงผู้สนับสนุน

ภูมิใจมากครับ เรามาไกลมาก พวกเราฝันว่า อยากเห็นเกษตรกรได้ใช้ ‘เล่นน้ำ’ แล้วทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ก่อนหน้านี้เป็นห่วงว่าหากเกษตรกรไม่มีความสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะทำอย่างไร ตอนนี้หมดห่วง เพราะดีแทคช่วยได้ คุณนนท์…ปิดท้ายอย่างดีงาม 

ทีม SKOOTAR : ติดเครื่องแมสเซนเจอร์ออนไลน์

สมาชิก : สุวัฒน์ ปฐมภควันต์ ธีภพ กิจจะวัฒนนะ และ ม.ล. กมลพฤทธิ์ ชุมพล

IMG_0606rt

คุณบอย – สุวัฒน์ ปฐมภควันต์ เล่าถึงจุดกำเนิดไอเดียแมสเซนเจอร์ออนไลน์ SKOOTAR เวสป้าสีเทอร์คอยซ์ว่า ผมเป็นนักธุรกิจ SMEs จะเจอปัญหาเรื่องการรับส่งเอกสาร หากจ้างแมสเซนเจอร์ประจำต้องหางานให้เขาทำในช่วงที่ไม่มีงานส่ง ขณะที่ไม่จ้างก็ต้องใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ หากเป็นเอกสารสำคัญก็ไม่วางใจอีก ในที่สุดต้องไปเอง จึงคิดว่าน่าจะมีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยตอบโจทย์ให้กับกลุ่ม SMEs พอดีมาเจอนุกับโก้ที่คอร์สเรียน Startup คือเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี จึงร่วมกันคิดแอพพลิเคชั่นแมสเซนเจอร์ขึ้น ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ค่ายมีการจัดประกวดเหมือนกัน เราเลือกดีแทค เพราะความน่าสนใจอยู่ที่การเชิญวิทยากรจากซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) มาสอน มีรุ่นพี่ Startup ที่มีชื่อเสียงช่วยอบรมการตลาด มีเงินรางวัล แล้วหากติด 1 ใน 6 ทีมจะได้ไปหาแรงบันดาลใจที่ซิลิคอน แวลลีย์ พอทีมเราติด 1 ใน 6 ก็ถามกันว่า จะพัฒนาไอเดียให้ใช้งานได้จริงไหม เพราะแต่ละคนมีงานประจำ ก็ได้รับคำตอบว่า ‘ทำ’ เราจึงแยกย้ายไปคุยกับทั้งแมสเซนเจอร์และเจ้าของธุรกิจว่าปัญหาคืออะไร เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ให้ตอบสนองกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย

คุณนุ – ธีภพ กิจจะวัฒนนะ มือไอทีของทีมเล่าว่า ผมลาออกจากงานมาเขียนโปรแกรม โดยเปิดเว็บไซต์www. skootar.com เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แล้วตามด้วยแอพพลิเคชั่น ลูกค้าต้องโหลดแอพ SKOOTAR ก่อน จากนั้นระบบจะแนะนำให้เปิดจีพีเอสระบุพิกัดของลูกค้า เพื่อให้แมสเซนเจอร์ไปหาได้ถูก เราเหนือกว่าคู่แข่งตรงที่สามารถเพิ่มจุดไปรับ – ส่ง ได้ 10 จุด เช่น บริษัทแห่งหนึ่งสั่งให้ไปรับเช็คที่บริษัทอีกแห่งหนึ่ง แล้วนำกลับมาส่งด้วย เมื่อรับงานจากลูกค้าที่สั่งผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ระบบจะกระจายงานไปที่กรุ๊ปของแมสเซนเจอร์ที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นของ SKOOTAR โดยขึ้นรายละเอียดของงานที่ลูกค้าสั่ง เมื่อแมสเซนเจอร์ตอบรับ ระบบจะแจ้งชื่อแมสเซนเจอร์ที่รับงาน พร้อมเบอร์โทร.ไปที่เครื่องของลูกค้า ระหว่างทางระบบสามารถตรวจสอบได้ว่าถึงไหน แล้วเมื่อถึงจุดหมายปลายทางจะให้แมสเซนเจอร์คลิกปุ่มว่า ‘ถึงแล้ว’ ต่อหน้าผู้รับปลายทาง แล้วขึ้นข้อความว่าให้ลูกค้าเซ็นรับ ซึ่งผู้รับสามารถเซ็นบนมือถือได้เลย จากนั้นระบบจะส่งอีเมลมาที่ลูกค้าต้นทางที่สั่งงาน ราคาจะคำนวณจากระยะทาง เริ่มต้นที่ 70 บาท กิโลเมตรต่อไปคิด 10 บาท ขากลับคิด 50 เปอร์เซ็นต์ รวมราคาไม่เกิน 200 บาท

คุณโก้ – ม.ล.กมลพฤทธิ์ ชุมพล เปิดเผยว่า ตั้งแต่เราออกแอพ SKOOTAR ผลที่ตอบกลับมาทำให้รู้ว่าแมสเซนเจอร์ของเราไม่ใช่แค่เก็บเช็ค รับเช็ค วางบิลให้ SMEs แต่ยังมีกลุ่มที่เราคาดไม่ถึง อย่างคืนหนึ่งมีข้อความจากคุณแม่ลูกอ่อนสั่งงานให้แมสเซนเจอร์ซื้อยา ซื้ออาหารให้หน่อย เพราะตอนนี้ลูกป่วยแล้วเขาอยู่บ้านคนเดียว แมสเซนเจอร์ของ SKOOTAR สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จริง โดยตอนรับสมัครเรามีการตรวจสอบประวัติการทำงานและเก็บหลักฐานส่วนตัวของแมสเซนเจอร์ไว้เพื่อความปลอดภัย เมื่อเสร็จงานลูกค้าจะให้เรตติ้งซึ่งจะมีผลต่อการป้อนงานในอนาคต มีแมสเซนเจอร์หลายคนโทรมาขอบคุณเราที่สร้างรายได้ให้เขาเพิ่มจากงานประจำ เป็นเสียงตอบรับที่ดี

ภูมิใจนะครับ ที่ SKOOTAR มีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของทั้งสองฝ่ายดีขึ้น ต้องขอบคุณดีแทคที่ช่วยติดเครื่อง Skootar สู่โลกออนไลน์ได้เร็วกว่าที่คิด คุณบอย…ปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

ทีม GIZTIX : โลจิสติกส์บนปลายนิ้ว

สมาชิก : สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ศราวุธ กิตติรัตนโสภา และณัฐวุฒิ ฮันพงษ์กุล

IMG_1026rt

คุณโหน่ง – สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ซีอีโอ GIZTIX ทายาทนายกสมาคมโลจิสติกส์  แนะนำตัวว่าที่บ้านทำธุรกิจโลจิสติกส์มา 20 ปีแล้วครับ ผมเรียน Business Management เรียนปี 3 ผมชวนแมค (สราวุธ) กับอาร์ม (ณัฐวุฒิ) เพื่อนเก่าที่เรียนมาด้วยกัน มาเปิดชิปปิ้งเซอร์วิส ให้บริการคนไทยที่ไปเที่ยวอังกฤษแล้วช้อปเยอะ อยากส่งของกลับเมืองไทย พอเรียนจบความคิดเห็นของผมกับแม่ในการทำธุรกิจยิ่งไม่ตรงกัน จึงชวนแมคกับอาร์มทำซอฟท์แวร์โลจิสติกส์ โดยเปิดบริษัทชื่อ Maninnovation ทำซอฟท์แวร์ให้กับ SMEs ที่เป็นโลจิสติกส์ ยังมีแต่คอนเซ็ปต์นำไปเสนอขายให้กับบริษัทในกลุ่มชิปปิ้ง  เดือนเดียวได้ลูกค้า 6 บริษัท หนึ่งในนั้นคือ ปตท.

จนแม็กเห็นข่าวโครงการ dtac Accelerate ในเฟซบุ๊ก เราลองส่ง Proposal มาประกวดในวันเดโม่เดย์ ปรากฏว่าชนะ ผ่านเข้ามาเป็น 1 ใน 6 ทีม จากที่คิดว่าจะค่อยๆ พัฒนาระบบให้เป็นออนไลน์ ตอนนี้กำลังใจมาเต็ม เราจึงเดินหน้าเต็มตัว ใช้ทุนจากดีแทคมาทำเว็บไซต์ Giztix.com พัฒนาแอพพลิเคชั่นโดยยืนพื้นจากฟังก์ชั่นเดิม พูดง่ายๆ คือเป็นบริการรับส่งสินค้า เริ่มตั้งแต่เซล เปิดบุ๊กกิ้งภายใน 5 คลิก เลือกขนส่ง เราจัดเรตติ้งบริษัทให้ด้วย ใบเสนอราคาเป็นอีเมลในตัวเปิดใบงานอัตโนมัติ เชื่อมกับระบบบัญชีเบิกจ่าย วางบิล ออกใบเสร็จ ดูยอดเซลอัตโนมัติ ลดการคีย์ซ้ำซ้อน จากที่เคยสอบถามราคาทางอีเมล ตอนนี้สามารถเช็กราคาผ่านแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ เราค่อยๆ สร้าง วัดผลและเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน

พวกเรากล้าพูดได้เลยว่า หากไม่ได้เป็น dtac Accelerate คงไม่มี GIZTIX จากรางวัลนี้ทำให้มีคนอยากมาร่วมงานกับเรา จากพนักงาน 8 คนเพิ่มเป็น 11 คน แบ่งเป็น 3 ทีมทำงาน ปัจจุบันลูกค้า GIZTIX มีตั้งแต่ SMEs จนถึงบริษัทใหญ่จาก 6 ประเทศ ซึ่งผมใช้เครือข่ายเอเย่นต์ของที่บ้านด้วย ทั้งจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย หากใช้แล้วดีก็ให้เขาลองทำในประเทศ ปีหน้าผมมีโครงการเดินทางไปเยี่ยมเอเย่นต์เหล่านี้ รวมทั้งศรีลังกา ไปคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้แต่ละขั้นตอนลื่นไหลไปได้อย่างรวดเร็ว

คุณแมค – สราวุธ กิตติรัตนโสภา ที่บ้านมีกิจการโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เสริมว่า ตอนนี้เราพยายามสร้างนิสัยให้กับผู้ใช้ก่อนว่า เช้ามาเจ้าของบริษัทขนส่งแทนที่จะเช็กเฟซบุ๊กมาเช็กเว็บไซต์เราแทนว่ามีใครเข้ามาขอราคา มีบุ๊กกิ้งไหม กลางปีหน้าคาดว่า เว็บไซท์เราน่าจะสร้างรายได้

เมื่อสินค้าพร้อมออกตลาด ดีแทคเปิดช่องทางให้ GIZTIX ได้ทำโปรโมชั่นร่วมกับลูกค้าดีแทครีวอร์ด เขาให้โอกาสเราเสมอ ซีอีโอโหน่งปิดท้าย

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up