อีฟ โรเช ครบรอบ 60 ปี จัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลก

อีฟ โรเช ผู้สร้างสรรค์ความงามจากพฤกษาพรรณ ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1959  นำเสนอผลิตภัณฑ์ความงามจาก         พฤกษาพรรณเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ หลากหลาย เป็นศูนย์รวมความงามครบวงจร จำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามสกัดจากธรรมชาติ นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส พร้อมให้บริการนวดบริหารผิวพรรณในห้องบริการที่เป็นส่วนตัว และนำเสนอในราคาที่ง่ายต่อการตัดสินใจ

ผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าทุกชนิดของ อีฟ โรเช ล้วนสกัดจากธรรมชาติ และในทุกขั้นตอนของการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยศักยภาพอันมีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่เป็นทั้งผู้เก็บเกี่ยว ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ ตลอดจน ความพิถีพิถัน ในการสรรหาสุดยอดคุณค่าจากพฤกษาพรรณเพื่อพิทักษ์ความงาม พร้อมดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจัง ทำให้  Yves Rocher  ประสบความสำเร็จ อย่างงดงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น กว่าเครื่องสำอางแบรนด์อื่นๆ จนถึงปัจจุบัน อีฟ โรเช มีสมาชิก 30 ล้านคน  มีสาขา 6,000 แห่งใน 80 ประเทศทั่วโลก

ในประเทศไทย Yves Rocher โดยบริษัท อีฟ โรเช (ประเทศไทย ) จำกัด ได้เปิดดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 1997 ปัจจุบันมีสาขาอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดทั้งสิ้นถึง 100 สาขา

ในโอกาสพิเศษที่อีฟ โรเช ครบรอบ 60ปีในปีนี้ (พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ.2019 ) และเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ก่อตั้งแบรนด์ มร.อีฟ โรเช ผู้บุกเบิกสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ความงามจากพฤกษาพรรณ  อีฟ โรเชทั่วโลกร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองมอบสิทธิพิเศษ นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของกำนัลต่างๆมากมาย รวมถึงร่วมผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อตอบแทนธรรมชาติกับมูลนิธิอีฟ โรเชฯ ในโครงการ Plant for The Planet ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะปลูกต้นไม้ทั่วโลก100 ล้านต้นภายในปี ค.ศ.2020 ถึงขณะนี้มูลนิธิอีฟ โรเชฯ ได้ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 80 ล้านต้น

ในประเทศไทย บริษัทอีฟ โรเช(ประเทศไทย) จำกัด นำโดย มร.เอียน ลองเด้น กรรมการผู้จัดการ ประเดิมเฉลิมฉลองครบรอบ 60ปี   อีฟ โรเช ด้วยการเข้าร่วมจัดกิจกรรมTogether Let’s Plant for The Planet ประจำปี 2562  โดย มอบทุนในการจัดหาพืชพรรณท้องถิ่นนานาชนิดจำนวน 500 สายพันธุ์ (ประมาณ2,000ต้น)สำหรับปลูกเลี้ยงเพื่อใช้ในการศึกษาในพิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต( Plant Life Museum )ให้กับภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพิพิธภัณฑ์ฯนี้จะใช้ในการเรียนการสอนของคณาจารย์ นิสิต ของจุฬาฯ รวมถึงเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม เป็นสาธารณประโยชน์อีกด้วย

พิธีเปิดโครงการฯจัดขึ้นในวันอังคารที่ 9 เมษายน 2562 โดยมี มร. จาร์ค โรเช ประธานกิติมศักดิ์ มุลนิธิอีฟ โรเชฯ และมร. บรีส โรเช ประธานและซีอีโอ กรุ๊ป โรเช เป็นผู้แทนมอบทุน และคณะผู้บริหารจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณะบดีฯเป็นผู้แทนรับมอบทุน

กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไปที่อีฟ โรเชจะจัดขึ้นอีกในเร็วๆนี้คือ ให้การสนับสนุนปลูกต้นไม้อีก 5,000 ต้น ในพื้นที่ประมาณ   50 ไร่ ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้สู่ภูมิภาคจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี (Centre of Learning for The Region) ซึ่งรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Plant Life Museum at Chulalongkorn University)

พิพิธภัณฑ์พืชเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิจัยด้านพืช อันเป็นที่เก็บรวบรวมข้อมูลพรรณไม้ต่างๆ และมีตัวอย่างพรรณไม้แห้งเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงในการศึกษาทางด้านความหลากหลายและอนุกรมวิธานด้านพืช   คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดการเรียนการสอนและก่อตั้งภาควิชาพฤกษศาสตร์เป็นครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ และต่อมาได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงด้านพรรณไม้ของประเทศไทย ซึ่งภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการและให้บริการพิพิธภัณฑ์พืชเพื่อการศึกษาวิจัยและผลิตบัณฑิตทางพฤกษศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ

ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มุ่งหวังให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายที่จะดำเนินการจัดทำพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้ไม่เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้สำหรับนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปด้วย การจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าว โดยคณะวิทยาศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อนุมัติงบประมาณเบื้องต้นมากกว่า 13 ล้านบาทในการปรับปรุงพื้นที่โรงเรือนเพาะชำเดิม เพื่อจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต สำหรับรวบรวมพรรณไม้มีชีวิตที่เป็นตัวแทนเชิงวิวัฒนาการของพืชพรรณ รวบรวมพรรณไม้หายากและพรรณไม้เฉพาะถิ่นของประเทศไทย โดยใช้พื้นที่ของเรือนรวบรวมพรรณไม้ และโดยรอบภาควิชา รวมพื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางเมตร เพื่อจัดแสดงพรรณไม้ต่าง ๆ ทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก ไม้เลื้อย ปาล์ม ไผ่ และไม้น้ำ จำนวนมากถึง 500 ชนิด โดยจะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าชมและศึกษาได้ เมื่อพิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิตเสร็จสมบูรณ์ จะได้มีการจัดแสดงนิทรรศการการจัดแสดงพรรณไม้เด่นที่จะมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนให้สอดรับกับการออกดอกของพืชพรรณที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล ซึ่งจะรวมถึงการจัดแสดงพรรณไม้ที่เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก (new species) หรือพืชถิ่นเดียว (endemic species) ของประเทศไทยที่มีการค้นพบโดยคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงให้เห็นองค์ความรู้ที่สั่งสมในองค์กรในช่วง 100 ปีที่ผ่านมารวมทั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านงานวิจัยต่าง ๆ ในอนาคต ทั้งนี้เพื่อการกระตุ้นความรัก ความหวนแหนทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดขึ้น และในอนาคตเมื่อทำการปรับปรุงส่วนพื้นที่เพาะชำและห้องอบรมความรู้ด้านพืชแล้ว ภาควิชาพฤกษศาสตร์จะได้จัดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ให้กับประชาชนทั่วไป เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การทำสวนแบบอินทรีย์ การจัดสวนขวด และการถ่ายภาพพืชในธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านพืช และความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่คู่กับสังคมต่อไป

Praew Recommend

keyboard_arrow_up