ปลูกพืชเมืองหนาวอย่าง “สตรอว์เบอร์รี่” ในพื้นที่เขตร้อน คว้ารางวัลชนะเลิศ เวที เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปีที่10 เกษตรกรรมยั่งยืน สู่ประเทศไทย 4.0

เกษตรกรรมเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเป็นฐานรองรับระบบเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือเทคโนโลยีจะก้าวล้ำหน้าไปเท่าไหร่ เกษตรกรก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งเทคโนโลยี เกษตรกรจึงต้องพัฒนาอย่างรอบด้าน ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเกษตร เพื่อให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน สมกับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง หรือ Young Smart Farmer นั่นเอง

ในเวทีการประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด”  ด้วยแนวคิด ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนซึ่งจัดโดยดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตรและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 แล้ว ซึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงทั้ง 10 คนนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆเกษตรกรที่มีแนวคิดที่เป็นระบบ และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสวิถีเกษตรกรให้ยั่งยืน รอบรู้ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จนเกิดผลสำเร็จและเป็นจริง  ต่อยอดให้ผลผลิตเป็นที่รู้จักในวงกว้างและสร้างร่ายได้ให้กับตนเองและชุมชน แพรวดอทคอม อยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก ผู้ชนะรางวัลในการประกาศผล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2561

สตรอว์เบอร์รี่ปลูกได้ในเขตร้อน “ไร่พิมพ์วรัตน์”

สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกาศผล ปีที่ 10 “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” นางสาว พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา “ไร่พิมพ์วรัตน์” เกษตรกรสาว จากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่พัฒนาการปลูกพืชเมืองหนาว อย่างสตอร์เบอรี่ ให้ผลผลิตในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ ด้วยแนวคิด กล้าคิดต่าง สานพลังชุมชน ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยงานวิจัย

โดยเธอบุกเบิกการปลูกพืชเมืองหนาวทั้งสตรอว์เบอร์รีและหม่อนในพื้นที่เขตร้อน อย่างจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ ด้วยเทคโนโลยีและงานวิจัยทางการเกษตรจากสถาบันวิจัยเกษตรดอยปุย สร้างความตื่นตาให้กับชุมชนในพื้นที่  พร้อมกับเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม “ไร่พิมพ์วรัตน์” เป็นแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถี และยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความคิดต่าง

มะม่วงแก้วขมิ้นไร้สารเคมี “ไร่ ณ ชายแดน”

นางสาว ลลิดา คำวิชัย “ไร่ ณ ชายแดน” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  เกษตรกรสาวชาวสวนมะม่วงแห่ง จ.สระแก้ว ผู้นำในการรวมกลุ่มและพัฒนาสายพันธุ์มะม่วงแก้วขมิ้นไร้สารเคมี ยึดหลักการตลาดนำการผลิต สร้างความเป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้ชุมชน

นาข้าวอินทรีย์ครบวงจร “อารยะฟาร์ม”

นาย อาญาสิทธิ์ เหล่าชัย “อารยะฟาร์ม” เกษตรกรนาข้าว จ.ร้อยเอ็ด รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ พลิกฟื้นผืนนาจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำรวมกลุ่มวิสาหกิจผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ครบวงจร

นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรรุ่นใหม่  ที่ได้รับรางวัลดีเด่นจากโครงการต่างๆ ที่ส่งมาครั้งนี้ 7 รางวัล

นางสาวกนกวรรณ   อรุณคีรีวัฒน์  เจ้าของไร่ สุดปราย ที่สวนสุขจรัล จังหวัดราชบุรี เกษตรกรชาวสวนมะม่วง รวมกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ในชุมชน พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน

นางสาวชยพล สุ่ยหล้า เกษตรกรชาวสวน ซูโม่แฟมิลี่  จังหวัดร้อยเอ็ด  ผู้นำความรู้ในการปลูกถั่วลิสงมาประยุกต์กับเทคโนโลยี พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมกลุ่มการผลิต สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในฤดูทำนา

นางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อ เกษตรกรสวนเมล่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้เริ่มทำเกษตรจากศูนย์ แต่มีใจรักและต้องการปลูกเมล่อนปลอดสารพิษ โดยนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้จนได้ผลผลิตคุณภาพสูง พร้อมกับเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียกว่าถ้าใครมา จ.ฉะเชิงเทรา ก็จะต้องถามหา บ้านสวนเมล่อนของเธอ

นายพิทักษ์ พึ่งเดช เกษตรกรสวนมะพร้าวแห่งบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการแปรรูป รวมทั้งพัฒนาต่อยอดผลิภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอม สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรในพื้นที่

นางสาวศิริพร เอี่ยววงศ์เจริญ   เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์จาก บุญมาฟาร์ม จังหวัดพิจิตร ที่สามารถชูจุดเด่นการทำเกษตรไร้สารเคมีจนสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศ พร้อมต่อยอดด้วยการปลูกสมุนไพรไทยส่งออก

นายสุระเทพ สุระสัจจะ เกษตรกรคนรุ่นใหม่จาก  ไร่เพื่อนคุณ จังหวัด บุรีรัมย์ ผู้ปลูกพืช ผักและผลไม้ปลอดภัย พร้อมเป็นโมเดลต้นแบบขยายสู่ชุมชน รวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชน เป็นผู้นำเครือข่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษส่งขายตลาดพรีเมียมที่ใครๆ ก็รู้จัก

นายอดุลย์ วิเชียรชัย เกษตรกรเจ้าของ อดุลย์ คลองหลวง ฟาร์มเห็ดแห่งจังหวัดปทุมธานี ผู้เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจร บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมส่งเสริมเกษตรกรในชุมชน

นับเป็นปีที่  10   ที่ทางดีแทค ได้มีโครงการ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด   เพื่อสนับสนุนเกษตรกรหนุ่มสาวรุ่นใหม่   ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาสิ่งที่ตัวเองรักให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนบ้านเกิดอย่างแท้จริง ตามแนวคิดในการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน จนเรียกได้ว่าเป็น Young Smart Farmer แห่งยุค 4.0 ตัวจริงเสียงจริง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up