“รับ” พระราชดำรัสที่ผูกพัน พระมหากษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

“เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า ราชอาณาจักรนั้นเปรียบเสมือนพีระมิด มีพระมหากษัตริย์อยู่บนยอด และมีประชาชนอยู่ข้างล่าง แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนทุกอย่างจะตรงกันข้าม นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องปวดคอ และบริเวณไหล่อยู่เสมอ”

ความตอนหนึ่งในบทพระราชทานสัมภาษณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงพระราชทานแก่นิตยสาร “เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก” เมื่อปี 2525

ย้อนกลับไปวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตอย่างกะทันหัน ท่ามกลางความทุกข์โศกสลดทั้งแผ่นดิน รัฐสภาได้เปิดประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนในช่วงค่ำคืนนั้น พร้อมกับลงมติเห็นชอบตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

ขณะนั้นหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกันว่าสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์(พระอิสริยศักดิ์ในเวลานั้น) อาจไม่ทรงยินยอม  จนเมื่อเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่  ตลอดถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง  รวมถึงนายกรัฐมนตรีและคณะนายกรัฐมนตรี  ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลว่า สมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงเป็นผู้มีสิทธิในราชบังลังก์นั้น สมเด็จพระราชชนนีจึงได้ตรัสถามพระราชโอรสต่อหน้าที่ประชุมทั้งมวลว่า “รับไหมลูก”

ณ เพลานั้น สมเด็จฯเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชมีรับสั่งสั้นๆ เพียงว่า “รับ”  บรรดาผู้อยู่ในที่ประชุม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน  พระบรมมหาราชวัง จึงพร้อมใจกันคุกเข่าลงกราบถวายบังคม…

นับจากวินาทีนั้น  ประวัติศาสตร์ของยุวกษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  และพระองค์ที่สองแห่งราชสกุล “มหิดล” ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

จากวันนั้นถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ คือ พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งของชาติไทยและของโลก  ทรงเป็นพระราชาผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของพสกนิกรมาอย่างยาวนาน ด้วยทุกคนล้วนประจักษ์ชัดตรงกันว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก จวบจนสวรรคต ณ วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 นับเวลาแห่งการครองราชย์ได้ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน

ขอน้อมอาลัยส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

Praew Recommend

keyboard_arrow_up