ทำดีตามคำสอนพ่อ ๙ พระราชดำรัสของในหลวง เรื่องการดำเนินชีวิต

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ ร่วมประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในโอกาสต่างๆ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ในสมุดบันทึกเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป

และวันนี้แพรวได้คัดเลือก ๙ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของในหลวง เรื่องการดำเนินชีวิต การทำความดี มาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อเดินตามรอยคำสอนพ่อกันค่ะ

 

การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว
ถึงแม้จะมีใครร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐)


ถ้ามีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นเขาก็สร้างเหมือนกัน คนอื่นเขาก็ทำเหมือนกัน แล้วก็เมตตาซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักรักกัน รู้จักว่าตรงไหนเป็นความดี และนึกถึงว่าประเทศไทยของเราเต็มไปด้วยความดี ประเทศไทยของเราจะมีความมั่นคง และพวกเราในที่สุดก็จะมีความสุข ความสบาย มีเกียรติ สามารถมีชีวิตที่รุ่งเรือง

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๙)


ถ้าเราคิดดี ทำดี ไม่ใช่แต่ปากนะ ทำอย่างดีจริงๆ คือ สร้างสมสิ่งที่ดีด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าดี หมายความว่า ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สร้างสรรค์ทำให้มีความเจริญทั้งวัตถุทั้งจิตใจ แล้วไม่ต้องกลัว

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘)


คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ เมื่อรับสิ่งของได้มากก็จะต้องพยายามให้
ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและในชาติ

(พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี)


ถ้าราษฎรรู้รักสามัคคี เขาจะเข้าใจว่าเมื่อเขามีรายได้ เขาก็จะยินดีเสียภาษี เพื่อช่วยราชการให้สามารถทำโครงการต่อไปเพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้าราษฎรรู้รักสามัคคี และรู้ว่าการเสียสละคือได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า เพราะว่าการที่คนอยู่ดีมีความสุขนั้น เป็นกำไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔)


คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย
ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง
หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)


การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร
ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึ ทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดี ไม่ครึ ต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน

(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์ : ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖)


การดำเนินชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทนก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย
เมื่อท้อใจไปแล้วไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ

(พระราชดำรัสพระราชทานแก่ครูและนักเรียนโรงเรียนจิตลดา : ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓)


คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ
ประการแรก คือ การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ไม่ว่าด้วยประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน
เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

(พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า : ๕ เมษายน ๒๕๒๕ )


ที่มา : สมุดบันทึกเศรษฐกิจพอเพียง
ภาพ : นิตยสารแพรว ปี 2559 ฉบับที่ 883 (10 มิ.ย. 59)

Praew Recommend

keyboard_arrow_up