5 เรื่องของ “สมเด็จพระราชินีเจตซุน” ผู้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีมังกร

account_circle

หากนึกถึง พระราชินีที่พระสิริโฉมงดงาม และเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถ หนึ่งในนั้นต้องยกให้ สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แม่ของแผ่นดินแห่งภูฏาน

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า สมเด็จพระราชินีเจตซุน ทรงได้รับการยกย่องจากชาวพื้นเมืองว่า “Druk Gyaltsuen” ซึ่งในภาษาซองคา แปลว่า “ราชินีมังกร” ทั้งนี้ภูฏานยังเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า” นอกจากนี้พระองค์ยังทรงได้รับฉายาว่า “เคท มิดเดิลตัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย” อีกด้วย

นี่คือ 5 เรื่องของ “สมเด็จพระราชินีเจตซุน” พระราชินีที่อายุน้อยที่สุดในโลก ผู้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีมังกร และ “เคท มิดเดิลตัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย”

สมเด็จพระราชินีเจตซุน ทรงมาจากตระกูลสูงศักดิ์ในภูฏาน

สมเด็จพระราชินีเจตซุน ทรงประสูติที่เมืองทิมพู ประเทศภูฏาน พระบิดาของพระองค์ Dhondup Gyaltshen เป็นหลานชายของผู้ว่าการแทรชิกัง ในขณะที่พระมารดา Aum Sonam Choki มาจากตระกูลขุนนาง Bumthang Pangtey หนึ่งในตระกูลขุนนางที่เก่าแก่ที่สุดของภูฏาน

พระองค์ทรงเป็นพระธิดาคนที่ 2 จากพี่น้องจำนวน 5 คน ในขณะที่พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระเชษฐภคินี Ashi Yeatso Lhamo ก็ได้แต่งงานกับสมาชิกราชวงศ์ภูฏานด้วยเช่นกัน

เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ

ตามรายงานของ Royal Central ราชินีแห่งภูฏานทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายที่ เซนต์โจเซฟคอนแวนต์ ในกาลิมพง ประเทศอินเดีย และ ลอว์เรนซ์สคูล ในซานาวาร์ หิมาจัลประเทศ หลังจากนั้นทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยรีเจนต์คอลเลจ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงสำเร็จการศึกษาด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขา จิตวิทยา และประวัติศาสตร์ศิลปะ

นอกจากนี้ยังทรงตรัสได้ถึง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาพื้นเมือง ซองคา ภาษาฮินดี และ ภาษาอังกฤษ รวมไปถึงยังมีความสนพระทัยด้าน ศิลปะสมัยใหม่ และ ศิลปะยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่สหราชอาณาจักร ก็ทรงเสด็จเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะในลอนดอนเป็นประจำ

พบรักกับเจ้าชายตั้งแต่วัยเยาว์

ย้อนเวลากลับไป เด็กหญิงเจตซุน เพมา ในวัยเพียง 7 ปี  ได้พบกับสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ซึ่งขณะนั้นคือ เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในวัย 17 พระชันษา ระหว่างกิจกรรมปิกนิกของสองครอบครัวในกรุงทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน เนื่องจากครอบครัวของเด็กหญิงเจตซุนสนิทสนมกับราชวงศ์ภูฎานเป็นพิเศษ แม้จะได้เจอกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่เจ้าชายจิกมีก็ทรงตกหลุมรักเด็กหญิงเจตซุนเข้าอย่างจัง จึงทรงให้คำสัญญากับเด็กหญิงเจตซุนว่า “เมื่อเราทั้งคู่โตขึ้น หากเธอยังโสดและไม่แต่งงาน และเราเองก็ยังโสดและไม่แต่งงาน ถ้าเรามีความรักให้แก่กัน เราจะกลับมาขอเธอแต่งงาน”

แม่แห่งแผ่นดินภูฏาน

ในฐานะ สมเด็จพระราชินี และ ทรงเป็นแม่แห่งแผ่นดิน พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และ พันธกรณีมากมาย สมเด็จพระราชินีเจตซุนทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อุปถัมภ์ของ Royal Society for Protection of Nature (RSPN) และในฐานะทูตโอโซนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) อีกทั้งยังทรงมีส่วนร่วมในองค์กรการกุศลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมความสามารถภูฏาน และ สมาคมโรคไตภูฏาน รวมไปถึงยังทรงดำรงตำแหน่ง ประธานสภากาชาดแห่งภูฏาน (BRCS) อีกด้วย

นอกจากทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในประเทศแล้ว สมเด็จพระราชินีเจตซุนยังทรงเคียงข้างพระราชสวามี เสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศ

เคท มิดเดิลตัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย

ไม่เพียงแค่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีมังกร” สมเด็จพระราชินีเจตซุนยังทรงได้รับฉายาว่า “เคท มิดเดิลตัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย”

สมเด็จพระราชินีเจตซุน ทรงมีพระปฏิสันถารกับ แคทเธอรีน มิดเดิลตัน เจ้าหญิงแห่งเวลล์ ครั้งแรกในปี 2559 ขณะที่ ดยุกและดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ เสด็จเยือนภูฏาน ทั้งนี้สื่อต่างประเทศได้วิจารณ์ว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน อาทิ ทรงเป็นหญิงสามัญชนเหมือนกันมาก่อน ขณะที่พระบิดาของทั้งสองพระองค์ทำงานในอุตสาหกรรมการบิน และทั้งสองพระองค์ยังทรงศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในช่วงสมัยมหาวิทยาลัยอีกด้วย


เรื่อง : Nitcha, Onjira

ที่มา : www.scmp.com

Praew Recommend

keyboard_arrow_up