เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ เสด็จเหนือ ใต้ อีสาน มุ่งมั่นพระปณิธาน ‘เจ้าหญิงผู้สืบสานผ้าไทย’

Alternative Textaccount_circle
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระอัจฉริยภาพด้านงานศิลป์ที่โดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับการกล่าวขานพระนามว่า “เจ้าหญิงดีไซเนอร์” ในฐานะที่ทรงเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director) แบรนด์ SIRIVANNAVARI ที่สร้างสรรค์ผลงานเสื้อผ้ามากว่า 16 ปี โดยเฉพาะด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดผ้าไทยให้ยั่งยืน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงมีพระดำริที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรผ้าทอและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในภาคต่างๆ ของประเทศไทย

เริ่มต้นที่ภาคใต้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไป ณ โรงละครสนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยมีชาวบ้านจาก 14 จังหวัดของภาคใต้ได้นำผลงานผ้าทอและงานหัตถกรรมมาจัดแสดงถวายให้ได้ทอดพระเนตร ผลงานบางชิ้นชาวบ้านได้ทำการปรับปรุงตามพระวินิจฉัยของพระองค์ แล้วตั้งใจนำมาทูลเกล้าฯถวายให้ทรงตรวจผลงาน

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

ในการนี้มีพระดำรัสถึงการเสด็จมาภาคใต้เป็นแห่งแรก “เริ่มต้นจากการไปศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผอิญว่าวันนั้นได้ชมนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าไทยทั้งหมด แล้วสนใจผ้าที่มาจากภาคใต้มากว่าบางอย่างมีความละม้ายคล้ายคลึงกับภาคเหนือ เวลานั้นยังไม่ทราบว่าจะเรียกผ้านั้นว่าอะไร หรือเป็นผ้าจากจังหวัดไหน ทราบแต่เพียงว่าเป็นของภาคใต้ เราพยายามหาข้อมูลและที่มา แต่ก็หาไม่เจอ ก็เลยเก็บไว้ในใจตลอดว่าอยากจะไปศึกษาและไปดูอย่างจริงจังสักครั้งหนึ่ง

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

“ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปไหว้พระแถวภาคใต้ ได้พบกับงานศิลปะและหัตถกรรม ได้มีโอกาสทอผ้าหลายอย่าง รู้สึกมีความผูกพันกับทางภาคใต้ จึงอยากจะ Explore ตัวเองว่าผ้าแต่ละภาคในบ้านเราเป็นมาอย่างไร มีกี่ชนิด ทุกคนรู้จักผ้ามัดหมี่ ผ้าไหมแพรวาอย่างดีเยี่ยมแล้วจากทูลกระหม่อมย่า ทุกคน ได้เห็นผ้ายกทั้งหมดจากลำพูนและลำปาง ท่านหญิงจึงมีความรู้สึกอยากจะสืบสานต่อยอดแนวพระราชดำริ โดยค่อยๆ เริ่มในวิธีของท่านหญิง และทำอย่างไรให้เข้ากับที่เรียนมาด้วย”

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ เสด็จเหนือ ใต้ อีสาน มุ่งมั่นพระปณิธาน ‘เจ้าหญิงผู้สืบสานผ้าไทย’

จากนั้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรผ้าทอท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ ณ จังหวัดลำพูน ที่มีชื่อเสียงเรื่องการทอผ้าไหม ที่มีความประณีตและสวยงาม โดยเฉพาะผ้าไหมยกดอกลำพูน ถือเป็นผ้าไหมประเภทแรกของโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

พระองค์มีพระดำริที่จะพัฒนาการทอผ้าไหมลำพูนให้แก่ชาวบ้านทั้งลวดลายและคุณภาพ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้มีความโมเดิร์นเข้ากับยุคสมัย และตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน

ในการเสด็จครั้งนี้ ทรงสังเกตว่าลายผ้าที่ชาวบ้านทออยู่นั้น รวมไปถึงเทคนิคการทอและความประณีตในการทอมีความแตกต่างจากการทอผ้าไหมของชาวลำพูนเมื่อ 6 – 7 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังแตกต่างจากงานการทอผ้าไหมโบราณอย่างสิ้นเชิง

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีด้วยต้นเหตุของปัญหามาจากจำนวนช่างฝีมือชั้นครูที่สามารถทอผ้าไหมลำพูนมีจำนวนน้อยลง อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะยึดการทอผ้าไหมเป็นอาชีพ ดังนั้นอุตสาหกรรมการทอผ้าไหมในลำพูนจึงอยู่ในวงแคบ ส่งผลให้การผลิตผ้าไหมลดจำนวนลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังเพิ่มขึ้น ผ้าไหมลำพูนจึงราคาสูง ช่างต้องรีบทอผ้าเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด จนทำให้ความประณีตในการทอผ้าลดลง อีกทั้งมีการใช้กรรมวิธีต่างๆ ที่เป็นการข้ามขั้นตอนการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิม เพื่อผลิตผ้าไหมได้เร็วและได้จำนวนมากขึ้น

จึงตั้งพระทัยที่จะช่วยแก้ปัญหา เพื่อรักษาวัฒนธรรมและศิลปะการทอผ้าของลำพูนแบบดั้งเดิมให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยได้พระราชทานคำแนะนำแก่ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าให้ลายเล็กลง การเลือกใช้สีธรรมชาติในการย้อม อีกทั้งรับสั่งให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์และรื้อฟื้นการทอผ้าแบบโบราณ ซึ่งเป็นพระดำรัสที่ทรงเน้นย้ำกับราษฎรในทุกภาคที่พระองค์ได้เสด็จไป

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี“ท่านหญิงรู้ว่าผ้าไหม ผ้ายกดอกลำพูนอย่างไรก็ขายได้ แต่ไม่อยากให้ดัดแปลงวิธีที่ต่างจากของดั้งเดิม เราต้องการความเป็นคุณภาพ ความเป็นโบราณ ความสวยด้วยตัวเขาเองจริงๆ เชื่อว่าพวกเขาสามารถทำได้สวยมากกว่านี้ ไปได้ไกลกว่านี้ ท่านหญิงไม่ต้องการให้ใช้ทางลัดหรือคิดว่าอย่างไรก็ขายได้ในตลาดทั่วไป ต้องสมราคา สมน้ำสมเนื้อ สมกับกาลเวลา แต่น่าเสียดายที่หลายเทคนิคหายไป การนุ่งซิ่นก็หายไป กลายเป็นผ้าฝ้ายแทน

“มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่นำผ้าฝ้ายย้อมครามมาจัดแสดง ทราบว่าเขาย้อมด้วยสารเคมี ท่านหญิงจึงนั่งคุยกับเขาเพื่ออธิบายถึงข้อดีของการย้อมคราม ธรรมชาติจากต้นคราม และชวนให้เขาหันกลับมาช่วยกันอนุรักษ์การย้อมแบบดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหายไป ซึ่งทุกภาคส่วนและภาคจังหวัดต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงใจ

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

“การมาลำพูนครั้งนี้ทำให้ท่านหญิงเห็นว่างานปักและผ้าท้องถิ่นบางอย่างค่อยๆ หายไป อย่างงานปักด้ายของชาวแม้ว ผ้าแพตช์เวิร์ค (การต่อผ้า) ของชาวเขา ผ้าม้งพลีต และผ้าชาวเขาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดมาก ที่น่าเสียดายคือผ้าริ้วสลับกับยกดอกที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เคยทรงเวลานี้ไม่มีผู้ทอแล้ว”

สำหรับภาคอีสาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเยือนกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 พระองค์ได้ทอดพระเนตรขั้นตอนของการผลิตผ้าย้อมครามที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวภูไทที่ได้รับการสืบทอดกันมาแต่โบราณ

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

โดยพื้นที่อำเภอพรรณานิคมมีการปลูกต้นครามจำนวนมาก ในอดีตชาวบ้านนิยมย้อมผ้าครามเพื่อใช้ในครัวเรือน จึงมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มสมาชิกในปี 2546 เพื่อส่งเสริมเป็นอาชีพเสริมหลังจากการทำนาและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมกันพัฒนาการทอผ้าย้อมครามจากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ใบคราม ขี้เถ้า และเปลือกไม้ โดยไม่ใช้สารเคมี จึงมีลวดลายสวยงาม สวมใส่สบาย และสีไม่ตก โดยได้นำมาแปรรูปและสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ กระเป๋า เพื่อเป็นรายได้เสริมจากการทำนาทำไร

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัด สกลนคร มีสมาชิกทั้งหมด 53 คน ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามเป็นสินค้าจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับสมาชิกเดือนละ 5,000 – 6,000 บาท ในปี 2562 ผ้าย้อมครามของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอประดับ 5 ดาวของจังหวัด และยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามสำหรับผู้สนใจอีกด้วย

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 966

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทรงใส่ซ้ำอย่างมีสไตล์ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมนี้เป็นครั้งที่สอง

พระสไตล์สะท้อนพระปณิธาน เผยลุค ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ ทรงส่งเสริมผ้าไทยที่สกลนคร

ถอดความหมาย ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ของขวัญปีใหม่จากเจ้าหญิงดีไซเนอร์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up