หากจะพูดถึงการโคจรมาพบกันอย่างสมศักดิ์ศรี คงหนีไม่พ้นการได้ครอบครองชิ้นงาน “โอต์กูตูร์” (Haute Couture) ของคุณออ-อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา เซเลบ แถวหน้าแห่งวงการแฟชั่น ที่ครอบครองชิ้นหายากมาแล้วนับไม่ถ้วน รวมถึงงานโอต์กูตูร์หรือแฟชั่นชั้นสูงที่ว่ากันว่ายากขั้นกว่า ไปจนถึงยากที่สุดในการจะได้มาครอบครอง เพราะต่อให้มีสตางค์ แต่ถ้าแบรนด์เซย์โนไม่ขายให้ก็เป็นอันจบ
แต่สำหรับ “คุณออ” ไม่มีอะไรที่เกินเอื้อม และนี่คือเส้นทางสู่โอต์กูตูร์ในปารีส ที่แม้จะต้องผ่านด่านยื่นโปรไฟล์คัดตัวกันอย่างจริงจังก็ไม่หวั่น เพราะสิ่งที่รออยู่ปลายทางนั้นช่างเลอค่า ชวนให้ครอบครองเหลือเกิน
ก้าวแรกสู่โอต์กูตูร์
คุณออเล่าถึงที่มาของเส้นทางแฟชั่นโอต์กูตูร์ว่า “อย่างที่รู้ว่าผมสนใจเรื่องแฟชั่นมาตลอด เราผ่านมาหมดแล้วทั้ง Ready-to- wear ไปจนถึง Runway Pieces คือชิ้นรันเวย์ แต่ที่ยังไม่มีโอกาสได้ลองคือโอต์กูตูร์ ซึ่งเป็นแฟชั่นชั้นสูง ตัดเย็บโดยช่างฝีมือ ด้วยกระบวนการที่ละเอียดซับซ้อน วิจิตรบรรจง งานปัก งานร้อย งานเลื่อมมาเต็ม เป็นแฮนด์เมด 100 เปอร์เซ็นต์ แถมยังคัดลูกค้าอีกต่างหาก คือต่อให้มีเงินก็เป็นเจ้าของในทันทีไม่ได้
“ผมจึงลองศึกษาหาข้อมูลดู ก็พบว่าดีไซเนอร์คนแรกที่ก่อตั้งห้องเสื้อแบบโอต์กูตูร์ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1858 คือ ชาร์ลส์ เฟรเดอริก เวิร์ท (Charles Frederick Worth) เป็นคนอังกฤษที่ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศส เขาอยากสร้างมาตรฐานใหม่ในการตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกค้าชนชั้นสูง ด้วยการสร้างสรรค์ชุดที่หรูหรา ประณีต และมีรูปแบบไม่เหมือนใคร พอทำชุดเสร็จแล้วก็เชิญลูกค้ามาดู โดยแต่ละชุดจะมีหมายเลขกำกับ ชุดที่ 1-2-3 อะไรก็ว่าไป ใครเลือกชุดไหน ชุดนั้นก็เป็นของคนนั้น ทำให้ลูกค้าได้ชุดดีไซน์เฉพาะตัว ไม่ซ้ำกัน
“จนถึงปัจจุบันนี้ทางฝรั่งเศสก็พยายามรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้ จึงไม่ใช่แบรนด์ไหนอยากจะลุกขึ้นมาทำโอต์กูตูร์ก็ทำได้ แต่ต้องได้รับการยอมรับจากกระทรวงอุตสาหกรรมฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดยิบย่อยมาก เช่น การจะเป็นงานระดับโอต์กูตูร์ได้ต้องมีโชว์กี่ครั้งต่อปี หนึ่งโชว์ต้องมีกี่ชุด ต้องมีช่างตัดเย็บเป็นคนฝรั่งเศสอย่างน้อยกี่คน (เพื่อสร้างงานให้คนฝรั่งเศส) มีอินโนเวชั่นใหม่ๆ ในการตัดเย็บหรือเปล่า ฯลฯ ถ้าได้มาตรฐานตามที่กำหนดจึงจะได้เป็น ซึ่งมี 2 แบบคือ แบบ All-time Member คือสมาชิกประจำ ซึ่งมีแค่สิบกว่าแบรนด์ Givenchy ก็อยู่ในนั้น แล้วก็จะมี Guest Member คือแบรนด์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนมา เช่น Guo Pei หรือ Georges Hobeika ที่คุณชมพู่-อารยาไปเดินฟินาเล่ให้ เป็นต้น แต่ก็มีบางแบรนด์ที่ไม่แคร์ ไม่ง้อสถาบัน แต่ไปทำของตัวเองเลยก็มี เช่น Dolce & Gabbana ของอิตาลีที่ไปทำเป็นคอลเล็คชั่น Alta Moda ของผู้หญิง และ Alta Sartoria ของผู้ชาย ซึ่งราคาสูงทีเดียว
“ดังนั้นสำหรับคนแฟชั่นแล้ว งานโอต์กูตูร์ถือเป็นที่สุด เพียงแต่ที่ผ่านมามีแต่เสื้อผ้าผู้หญิง ยังไม่เคยมีโอต์กูตูร์ของผู้ชายออกมาเลย กระทั่ง Givenchy นี่แหละที่ทำโอต์กูตูร์ของผู้ชายออกมาในยุคของแคลร์ เวท เคลเลอร์ (Clare Waight Keller) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนปัจจุบัน คนที่ออกแบบชุดแต่งงานให้ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ตอนเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รี่ เป็นคอลเล็คชั่น Givenchy Spring 2018 Couture ซึ่งมีทั้งชุดผู้หญิงและชุดผู้ชาย ความที่ผมชอบแบรนด์นี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็เลยรู้สึกว่าต้องได้แล้วละ ตัวนี้แหละของฉัน ไหนๆ ก็มาทางนี้แล้ว อยากจะไปให้สุดทาง ซึ่งจะว่ายากก็ยาก เพราะจากที่หาข้อมูลมาในโลกนี้มีคนที่ได้ครอบครองโอต์กูตูร์อยู่แค่ 2-3 พันคนเท่านั้น เพราะเป็นของที่มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ทางแบรนด์จะตรวจสอบโปรไฟล์ว่าคุณเป็นใครมาจากไหน เป็นลูกค้าของเขามายาวนานหรือเปล่า ไม่ใช่จู่ๆ เอาเงินเป็นล้านมาวางแล้วเขาจะยอมตัดให้นะ อีกนัยหนึ่งก็คือเป็น Invitation Only ทางแบรนด์จะเป็นฝ่ายเชิญเอง ผมจึงลองคุยกับทาง Givenchy Thailand ทางแบรนด์ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นจะลองแนะนำไปให้ โดยเราต้องเตรียมโปรไฟล์ส่งไป”

โปรไฟล์ Approved!
แล้วก็มาถึงขั้นตอนยื่นเรื่องความต้องการ เรียกได้ว่าเตรียมตัวหนักราวกับจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก “เราต้องแนะนำตัวไปตั้งแต่เราเป็นใคร ทำอะไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ทำไมจึงชอบแบรนด์นี้ ประวัติการซื้อของเป็นอย่างไร และต้องแนบอินสตาแกรมของเราไปให้เมืองนอกพิจารณาด้วย เพื่อดูลุคและไลฟ์สไตล์ โดยมีทาง Givenchy เมืองไทยช่วยเตรียมข้อมูลให้ เพราะถ้า Recommended by Shop ของเมืองไทยจะดูดี โอกาสได้ของน่าจะมากกว่า
“ตอนนั้นก็ลุ้นมากเลยว่าจะได้ไหม เพราะเคยได้ยินว่ามีบางเคสที่ส่งประวัติไปแล้วไม่ได้รับอนุมัติ สาเหตุที่คัดกันละเอียดขนาดนี้ เพราะโอต์กูตูร์เป็นเสื้อผ้าชั้นสูงที่ลิมิเต็ดมากๆ ถ้าเขาตัดให้เราแล้วหนึ่งชุด จะไม่ตัดให้ใครอีกแล้วในทวีปนี้ ดังนั้นผมจึงไม่ต้องกังวลว่าจะใส่ชุดนี้ซ้ำกับใครในเอเชีย แต่ความโชคดีอย่างหนึ่งคือ ช่วงนั้นบังเอิญฟิลิป ฟอร์จูนาโต (Philippe Fortunato) ซีอีโอของ Givenchy อยู่เมืองไทยพอดี ทางพี่โอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ แห่ง PP Group Thailand จึงนัดพบคุณฟิลิปกับภรรยาของเขาให้ ซึ่งบังเอิญว่าภรรยาของเขามีญาติ เป็นคนไทย จึงทำให้การนัดพบเป็นไปด้วยดี หลังจากนั้นก็รอคำตอบอยู่ประมาณ 3-4 เดือน เขาก็อนุมัติครับ
“แต่ผมก็ไม่เคยถามนะว่าทำไมจึงอนุมัติ หลักๆ คิดว่าเพราะเราเป็นลูกค้ามานานจริงๆ ผมซื้อมาเป็นสิบปีแล้ว น่าจะมีเป็นพันชิ้น และเคยไปนั่งฟร้อนต์โรว์มาแล้วหลายครั้ง จริงๆ โดยประวัติแล้วของผมไม่น่าขอยาก แต่เราก็ยังลุ้นอยู่ดี เพราะความเป็นโอต์กูตูร์ก็จะมีความเยอะของเงื่อนไขนิดหนึ่ง ถ้านับว่ามีคนแค่ 2,000 คนบนโลกที่ได้ครอบครองชิ้นโอต์กูตูร์ ก็แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนในโลกนี้เท่านั้นเองนะ ดีใจที่เราผ่านครับ”
Insight Story ลองชุดรัวๆ ที่ปารีส
หลังจากได้รับการอนุมัติประวัติให้สามารถสั่งตัดชุดโอต์กูตูร์ได้ คุณออก็เดินทางเข้าสู่โลกแห่งความเว่อร์วังที่แท้ทรู นั่นคือการเดินทางไปวัดตัวที่ปารีส! “พออนุมัติแล้ว ผมก็เริ่มศึกษาว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งมีขั้นตอนมากมาย เริ่มจากการบินไปวัดตัวที่ปารีสก่อน โดยนัดเจอกันที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เพราะใกล้กับซาลอนของแบรนด์ โดยเขาเตรียมพรีเซ็นเทชั่นเกี่ยวกับชุดและคอลเล็คชั่นทั้งหมดมาให้ ซึ่งความจริงผมมีในใจแล้วแหละว่าอยากได้ตัวไหน แต่ไหนๆ เขาก็เอามาให้ดูทุกลุคแล้ว ก็ถือโอกาสชมอีกที เรื่องเซอร์ไพร้ส์คือวันนั้นฟิลิปมาเทคแคร์ผมด้วยตัวเอง ทำให้รู้สึกดีมาก
“สุดท้ายผมก็เลือกลุคที่อยู่ในใจแต่แรก ชื่อ ‘สฟิงซ์’ เพราะเตะตามาตั้งแต่เห็นในโชว์ และเห็นอีกทีตอนแชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) พระเอก Black Panther ใส่ไปงาน Met Gala จึงอยากได้มาเก็บไว้ พอเราเลือกชุดแล้ว เขาก็ยื่นราคาเต็มของชุดมาให้ ซึ่งความแปลกของโอต์กูตูร์คือราคาที่ให้มานั้นสามารถต่อรองได้นิดหน่อย พอได้ราคาที่พอใจทั้งสองฝ่ายแล้วต้องฉีกราคาทิ้งทันที และเราไม่สามารถเปิดเผยราคากับใครได้ ไม่มีใครบอกกัน รู้กันแค่คนซื้อกับคนขาย ขนาดผมถ่ายรูปราคาไว้ เขายังขอให้ลบทิ้ง ผมเดาว่าที่ไม่ให้บอกเพราะแต่ละคนได้ราคาไม่เท่ากัน คือต่อให้เป็นชุดแบบเดียวกัน แต่อาจมีดีเทลไม่เหมือนกัน คุณสามารถเพิ่มตรงนั้น ลดตรงนี้ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวคุณได้ ราคาจึงอาจจะลดเพิ่มไปตามนั้น เขาจึงต้องทำเรื่องราคาให้เป็นเอกซ์คลูซีฟจริงๆ ส่วนค่าเสียหายทั้งชุดนั้น ผมบอกได้แค่ว่าประมาณ 7 หลักครับ
“หลังจากนั้นเขาก็ให้ทีมงานมาวัดตัว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เอิกเกริกมาก (หัวเราะ) ปกติเวลาเราไปตัดเสื้อผ้าก็จะมีช่างมาวัดตัวแค่คนเดียวใช่ไหมครับ แต่นี่มากัน 5 คน คนวัดตัวมี 2 คน ยืนกันคนละด้านของผม โดยคนหนึ่งคืออันเดรส อาซูเบล (Andres Azubel) เป็น Head Designer ของฝั่งผู้ชายและเป็นมือขวาของแคลร์ด้วย ซึ่งเป็นการวัดที่ละเอียดมาก เข้าถึงทุกอณูและสรีระ (หัวเราะเสียงดัง) ที่เหลืออีก 3 คนใส่เสื้อคลุมสีขาว เหมือนชุดหมอนั่งคุกเข่าอยู่ที่พื้น แล้วไม่ว่าสองคนนั้นจะพูดอะไร สามคนนี้ต้องขานรับและจดพร้อมกัน เพื่อไม่ให้มีข้อมูลผิดพลาด ก็จะดูเว่อร์ๆ ให้เราเกร็งๆ นิดหนึ่ง
“คือจริงๆ เขาคงแค่รักษา Tradition หรือรูปแบบปฏิบัติเดิมๆ ของแบรนด์ไว้น่ะครับ อย่างแต่ก่อนลูกค้าส่วนใหญ่ของโอต์กูตูร์คือคนในราชวงศ์หรือขุนนางชั้นสูง เขาจึงต้องปฏิบัติกันแบบนั้น แล้วก็สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนที่ต้องใช้ 3 คนจด ก็อาจจะเป็นเพราะหนึ่งกันพลาด สองเป็นช่างมาจากหลายทีม ช่างปัก ทีมผ้า และทีมอื่นๆ ก็เลยต้องมาจดพร้อมกัน พลอยสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้าไปด้วย
“จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการจ่ายเงิน โดยเขาจะแบ่งเป็นรอบๆ ไม่ได้ตูมเดียว ซึ่งก็ดีในแง่ที่ว่าพอตอนหลังค่าเงินยูโรลด เราก็เหมือนได้ราคาถูกลง (หัวเราะ) แล้วเขาก็พาไปเลี้ยงข้าวในโฟร์ซีซั่นส์ ก็เป็นอันจบการพบกันในรอบที่หนึ่ง ต่อไปเป็นการนัดครั้งที่สองเพื่อลองชุดที่เราสั่งตัดในรูปแบบผ้าดิบก่อน เพราะต่อให้วัดละเอียดขนาดไหนก็ไม่เป๊ะเท่ากับลองจริง โดยมีอันเดรส อาซูเบล มาดูแลเองอีกครั้ง เขาจะคอยแนะนำรายละเอียดให้ เช่น ความยาวของสูท หรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการห้ามสิ่งที่เราอยากได้หรืออยากเพิ่มเสียมากกว่า แต่ต้องยอมรับว่าพอเห็นชุดจริงมันก็ออกมาดูดีอย่างที่เขาบอกจริงๆ
“พอเก็บรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว เขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะนำชุดนี้ไปตัดในผ้าที่จะใช้จริงนะ เสร็จแล้วเราก็จ่ายเงินก้อนที่สองไป แต่ระหว่างนั้นบังเอิญว่าเป็นช่วงที่ชนกับแฟชั่นโชว์ Fall 2019 Couture ของ Givenchy อีกครั้ง ทางแบรนด์จึงนำลุคในคอลเล็คชั่นนั้นมาให้ลองด้วย ก็เป็นอันว่าใจอ่อนโดนไปอีกชุด (หัวเราะ) เป็นสีเงินปักลวดลายละเอียดยิบทั้งตัว หนักมาก หนักทั้งน้ำหนักและราคา ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างตัดเย็บ”
ชิ้นเดียวในทวีป
หลังจากบินไปปารีสแล้วสองครั้ง ก็ได้เวลาบินไปครั้งที่สามเพื่อลอง “สฟิงซ์” โค้ตโอต์-กูตูร์ที่คุณออรอมานาน “ถ้ารวมทั้งกระบวนการแล้ว ผมรอมาหนึ่งปีนะครับ แต่ใช้เวลาตัดจริงๆ ประมาณ 3 เดือน ซึ่งพอได้เห็นชิ้นที่เป็นของเราจริงๆ ก็ตะลึงนะ สวยจริงๆ โค้ตตัวนี้ทำจากผ้าไหมออร์แกนซาสีดำ มีดีเทลปักระบายสีเงินตรงหลังกับปกหน้า และมีบีดลูกปัดเลื่อมๆ ร้อยเป็นพวงตลอดชายปกเสื้อยาวมาถึงช่วงขา ที่ชอบชุดนี้ก็เพราะงานปักตรงช่วงไหล่นี่แหละ ซึ่งไม่ใช่การปักแค่ครั้งเดียว แต่ต้องปักซ้อนทับกันหลายครั้ง คือละเอียดยิบมาก ปักทั้งไหม ทั้งเลื่อม ซึ่งพอลองแล้วก็พอดีตัวเป๊ะเลย เป็นของเราจริงๆ แล้วด้านในจะมีเบอร์ล็อกไว้ในเสื้อ กรณีเกิดโค้ตพังหรือเสียหายก็สามารถส่งกลับไปซ่อมได้ตลอด
“ที่ประทับใจไปกว่านั้นคือแพ็คเกจจิ้ง เขาใส่มาในกล่องสีขาวขนาดใหญ่…แบบที่คนเข้าไปนอนได้เลย ในกล่องมีไม้แขวนเสื้อแบบดั้งเดิมของยุโรปให้ด้วย ทำจากไม้ใหญ่ๆ หนักๆ พูดง่ายๆ ว่ากล่องนี้คือตู้เสื้อผ้าเคลื่อนที่ ซึ่งเราต้องหอบสิ่งนี้กลับมาเมืองไทยด้วย สิ่งที่ผมอยากเล่าต่อก็คือ หลังจากที่สัมผัสกับงานโอต์กูตูร์จริงๆ แล้ว ผมพบว่าสิ่งที่เขาพยายามรักษาไว้อย่างจริงจังคือความเป็น Traditional ของแบรนด์ อะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นหรือสิ่งที่ปฏิบัติมาตลอดจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อมาสร้างต่อเป็นสตอรี่ ที่สุดก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์อันล้ำค่า ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังซื้องานศิลปะอันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของแบรนด์ จึงคุ้มค่าที่จะจ่าย

“ในมุมกลับกันผมว่าคนไทยก็สามารถสร้างอะไรแบบนี้ได้ เพราะเรามีฝีมืออยู่แล้ว ผมยังซื้อของฝากจากเมืองไทย พวกงานฝีมือต่างๆ ไปฝากทีมงานที่ Givenchy ในปารีสและแบรนด์อื่นๆ อยู่เลย เพราะของไทยเราก็มีดีเหมือนกัน เราขาดแค่การตลาดกับวิธีการถ่ายทอดในแง่แฟชั่น ทุกวันนี้การแข่งขันสูงมาก ถ้าคุณจะขายแต่ของเรดี้ทูแวร์ก็จะยากมาก เราแข่งของและเซอร์วิสกันไม่ได้แล้ว ต้องแข่งกันที่ Value Added คือการเติมคุณค่าเข้าไปในสินค้า เพื่อให้เกิดประสบการณ์และความรู้สึกที่เหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่โอต์กูตูร์ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาให้ชุดนี้ทวีปละหนึ่งโควตาเพื่อป้องกันการใส่ชนกัน ก็เป็นหนึ่งในเรื่องของการเพิ่มคุณค่า หรือตอนวัดตัวที่ต้องมากัน 5 คน จดลงกระดาษ ทั้งๆ ที่จะหยิบไอแพ็ดมาพิมพ์ก็ได้ หรือการที่ช่างยังใส่ชุดขาวมาทำงาน ก็เพราะเวลาที่ต้องเทียบไหมแต่ละสี เขาต้องเทียบกับพื้นขาว จะได้รู้เฉดสีชัดๆ รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการมีของขวัญชิ้นพิเศษที่ไม่มีวางขาย จำพวกเทียนหอม สมุด ฯลฯ ส่งมาให้ตลอดเวลา พร้อมจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกพิเศษได้ ลูกค้าก็จะอินกับแบรนด์มากขึ้น”
ก้าวต่อไป…ในโลกโอต์กูตูร์
ว่ากันว่าเมื่อมีชิ้นแรกแล้วต้องมีชิ้นต่อไป แต่สำหรับคุณอออาจไม่ใช่แค่ชิ้นที่ 2 แต่เป็นอีกหลายชิ้น… “ก็อย่างที่บอกว่าไหนๆ ก็มาถึงจุดนี้แล้ว ความจริงก่อนที่จะได้โค้ตโอต์กูตูร์ของ Givenchy ผมมอง Dior ไว้ เพราะเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เป็นลูกค้าประจำ แต่ Dior ไม่มีโอต์กูตูร์ของผู้ชาย มีแต่ผู้หญิง จึงยังไม่ได้ลองเสียที ก็บังเอิญมาได้ Givenchy ก่อน แต่ตอนนี้กำลังคุยกับ Dior อยู่ว่าเป็นผู้หญิงก็ได้นะ เพราะสมัยนี้ชุดผู้หญิงหรือผู้ชายก็ใส่กันได้หมด
“นอกจากนี้ก็ยังมี Versace, Georges Hobeika และ Dolce & Gabbana ที่อยู่ในระหว่างสั่งทำ และมีคุยอยู่อีกกับบางแบรนด์ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเก็บโอต์กูตูร์ให้ได้แบรนด์ละตัวให้ครบ จะได้รู้ว่าสตอรี่ลึกจริงๆ และเทรดดิชั่นของแบรนด์นั้นๆ เป็นอย่างไร เราเรียนรู้ได้มากที่สุดผ่านผลงานของเขานี่แหละ อย่างจุดเด่นและดีเทลของแต่ละแบรนด์ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าสังเกตดูชุดของ Givenchy จะเน้นไหล่ใหญ่ๆ ตรงๆ เพราะเป็นซิกเนเจอร์ดั้งเดิมที่อูแบร์ เดอ จีวองชี (Hubert de Givenchy) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ออกแบบไว้ หรือ Dior ก็จะเด่นที่เอว ชุดผู้หญิงจะเป็นเอวคอดเลย แต่ชุดผู้ชายก็จะทำเอวเป็นสามเหลี่ยม ดูเป็นรูปตัว V ซึ่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แหละที่ทำให้เกิดคาแร็คเตอร์เฉพาะของแต่ละแบรนด์ขึ้นมา ยิ่งเป็นโอต์กูตูร์ด้วยแล้ว ยิ่งยากที่จะมีใครเหมือน ถือเป็นชิ้นสุดยอดผลงานของเขา และเป็นความภูมิใจของผู้ที่ได้ครอบครอง”
ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 954