เซเลบ

ออ-อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา เผยเส้นทางเซเลบโอต์กูตูร์ ผู้ครอบครองงานแฟชั่นชั้นสูง

Alternative Textaccount_circle
เซเลบ
เซเลบ

หากจะพูดถึงการโคจรมาพบกันอย่างสมศักดิ์ศรี คงหนีไม่พ้นการได้ครอบครองชิ้นงาน “โอต์กูตูร์” (Haute Couture) ของคุณออ-อดิศัย กุญชร ณ อยุธยา เซเลบ แถวหน้าแห่งวงการแฟชั่น ที่ครอบครองชิ้นหายากมาแล้วนับไม่ถ้วน รวมถึงงานโอต์กูตูร์หรือแฟชั่นชั้นสูงที่ว่ากันว่ายากขั้นกว่า ไปจนถึงยากที่สุดในการจะได้มาครอบครอง เพราะต่อให้มีสตางค์ แต่ถ้าแบรนด์เซย์โนไม่ขายให้ก็เป็นอันจบ

เซเลบ

แต่สำหรับ “คุณออ” ไม่มีอะไรที่เกินเอื้อม และนี่คือเส้นทางสู่โอต์กูตูร์ในปารีส ที่แม้จะต้องผ่านด่านยื่นโปรไฟล์คัดตัวกันอย่างจริงจังก็ไม่หวั่น เพราะสิ่งที่รออยู่ปลายทางนั้นช่างเลอค่า ชวนให้ครอบครองเหลือเกิน

ก้าวแรกสู่โอต์กูตูร์

คุณออเล่าถึงที่มาของเส้นทางแฟชั่นโอต์กูตูร์ว่า “อย่างที่รู้ว่าผมสนใจเรื่องแฟชั่นมาตลอด เราผ่านมาหมดแล้วทั้ง Ready-to- wear ไปจนถึง Runway Pieces คือชิ้นรันเวย์ แต่ที่ยังไม่มีโอกาสได้ลองคือโอต์กูตูร์ ซึ่งเป็นแฟชั่นชั้นสูง ตัดเย็บโดยช่างฝีมือ ด้วยกระบวนการที่ละเอียดซับซ้อน วิจิตรบรรจง งานปัก งานร้อย งานเลื่อมมาเต็ม เป็นแฮนด์เมด 100 เปอร์เซ็นต์ แถมยังคัดลูกค้าอีกต่างหาก คือต่อให้มีเงินก็เป็นเจ้าของในทันทีไม่ได้

“ผมจึงลองศึกษาหาข้อมูลดู ก็พบว่าดีไซเนอร์คนแรกที่ก่อตั้งห้องเสื้อแบบโอต์กูตูร์ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1858 คือ ชาร์ลส์ เฟรเดอริก เวิร์ท (Charles Frederick Worth) เป็นคนอังกฤษที่ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศส เขาอยากสร้างมาตรฐานใหม่ในการตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกค้าชนชั้นสูง ด้วยการสร้างสรรค์ชุดที่หรูหรา ประณีต และมีรูปแบบไม่เหมือนใคร พอทำชุดเสร็จแล้วก็เชิญลูกค้ามาดู โดยแต่ละชุดจะมีหมายเลขกำกับ ชุดที่ 1-2-3 อะไรก็ว่าไป ใครเลือกชุดไหน ชุดนั้นก็เป็นของคนนั้น ทำให้ลูกค้าได้ชุดดีไซน์เฉพาะตัว ไม่ซ้ำกัน

“จนถึงปัจจุบันนี้ทางฝรั่งเศสก็พยายามรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้ จึงไม่ใช่แบรนด์ไหนอยากจะลุกขึ้นมาทำโอต์กูตูร์ก็ทำได้ แต่ต้องได้รับการยอมรับจากกระทรวงอุตสาหกรรมฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดยิบย่อยมาก เช่น การจะเป็นงานระดับโอต์กูตูร์ได้ต้องมีโชว์กี่ครั้งต่อปี หนึ่งโชว์ต้องมีกี่ชุด ต้องมีช่างตัดเย็บเป็นคนฝรั่งเศสอย่างน้อยกี่คน (เพื่อสร้างงานให้คนฝรั่งเศส) มีอินโนเวชั่นใหม่ๆ ในการตัดเย็บหรือเปล่า ฯลฯ ถ้าได้มาตรฐานตามที่กำหนดจึงจะได้เป็น ซึ่งมี 2 แบบคือ แบบ All-time Member คือสมาชิกประจำ ซึ่งมีแค่สิบกว่าแบรนด์ Givenchy ก็อยู่ในนั้น แล้วก็จะมี Guest Member คือแบรนด์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนมา เช่น Guo Pei หรือ Georges Hobeika ที่คุณชมพู่-อารยาไปเดินฟินาเล่ให้ เป็นต้น แต่ก็มีบางแบรนด์ที่ไม่แคร์ ไม่ง้อสถาบัน แต่ไปทำของตัวเองเลยก็มี เช่น Dolce & Gabbana ของอิตาลีที่ไปทำเป็นคอลเล็คชั่น Alta Moda ของผู้หญิง และ Alta Sartoria ของผู้ชาย ซึ่งราคาสูงทีเดียว

“ดังนั้นสำหรับคนแฟชั่นแล้ว งานโอต์กูตูร์ถือเป็นที่สุด เพียงแต่ที่ผ่านมามีแต่เสื้อผ้าผู้หญิง ยังไม่เคยมีโอต์กูตูร์ของผู้ชายออกมาเลย กระทั่ง Givenchy นี่แหละที่ทำโอต์กูตูร์ของผู้ชายออกมาในยุคของแคลร์ เวท เคลเลอร์ (Clare Waight Keller) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนปัจจุบัน คนที่ออกแบบชุดแต่งงานให้ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ตอนเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รี่ เป็นคอลเล็คชั่น Givenchy Spring 2018 Couture ซึ่งมีทั้งชุดผู้หญิงและชุดผู้ชาย ความที่ผมชอบแบรนด์นี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็เลยรู้สึกว่าต้องได้แล้วละ ตัวนี้แหละของฉัน ไหนๆ ก็มาทางนี้แล้ว อยากจะไปให้สุดทาง ซึ่งจะว่ายากก็ยาก เพราะจากที่หาข้อมูลมาในโลกนี้มีคนที่ได้ครอบครองโอต์กูตูร์อยู่แค่ 2-3 พันคนเท่านั้น เพราะเป็นของที่มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ทางแบรนด์จะตรวจสอบโปรไฟล์ว่าคุณเป็นใครมาจากไหน เป็นลูกค้าของเขามายาวนานหรือเปล่า ไม่ใช่จู่ๆ เอาเงินเป็นล้านมาวางแล้วเขาจะยอมตัดให้นะ อีกนัยหนึ่งก็คือเป็น Invitation Only ทางแบรนด์จะเป็นฝ่ายเชิญเอง ผมจึงลองคุยกับทาง Givenchy Thailand ทางแบรนด์ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นจะลองแนะนำไปให้ โดยเราต้องเตรียมโปรไฟล์ส่งไป”

เซเลบ
เสื้อตัวนี้เป็นของ Givenchy Haute Couture ในราคาหลักแสน “ทางแบรนด์บอกว่าเป็นการทอใหม่ทั้งหมด โดยคัดเลือกไหมชนิดพิเศษที่หาได้ทางตอนเหนือของอิตาลีเท่านั้น โดยตัวไหมต้องมีอายุเท่านั้นเท่านี้ และต้องทอในรูปแบบเฉพาะของเขา เป็นการทำทีละเส้นๆ เลย คือแต่ละกระบวนการมันเฉพาะเจาะจงมาก แล้วประกายแวววาวนี้ก็คือถักผสมเข้าไปในใยผ้าเลย เขาเล่าสตอรี่เก่งมาก จนผมซื้อ 2 ตัว คือสีดำกับสีน้ำเงิน จริงๆ เกือบซื้อสีเขียวมาด้วย เพราะเขาบอกว่าจะไม่มีสีนี้ออกมาอีกแล้วในเอเชีย เราก็เคลิ้ม แต่โดนบาส (นิติ สว่างวัฒนไพบูลย์) ที่ไปด้วยกันห้ามไว้” (หัวเราะ)

โปรไฟล์ Approved!

แล้วก็มาถึงขั้นตอนยื่นเรื่องความต้องการ เรียกได้ว่าเตรียมตัวหนักราวกับจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก “เราต้องแนะนำตัวไปตั้งแต่เราเป็นใคร ทำอะไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ทำไมจึงชอบแบรนด์นี้ ประวัติการซื้อของเป็นอย่างไร และต้องแนบอินสตาแกรมของเราไปให้เมืองนอกพิจารณาด้วย เพื่อดูลุคและไลฟ์สไตล์ โดยมีทาง Givenchy เมืองไทยช่วยเตรียมข้อมูลให้ เพราะถ้า Recommended by Shop ของเมืองไทยจะดูดี โอกาสได้ของน่าจะมากกว่า

“ตอนนั้นก็ลุ้นมากเลยว่าจะได้ไหม เพราะเคยได้ยินว่ามีบางเคสที่ส่งประวัติไปแล้วไม่ได้รับอนุมัติ สาเหตุที่คัดกันละเอียดขนาดนี้ เพราะโอต์กูตูร์เป็นเสื้อผ้าชั้นสูงที่ลิมิเต็ดมากๆ ถ้าเขาตัดให้เราแล้วหนึ่งชุด จะไม่ตัดให้ใครอีกแล้วในทวีปนี้ ดังนั้นผมจึงไม่ต้องกังวลว่าจะใส่ชุดนี้ซ้ำกับใครในเอเชีย แต่ความโชคดีอย่างหนึ่งคือ ช่วงนั้นบังเอิญฟิลิป ฟอร์จูนาโต (Philippe Fortunato) ซีอีโอของ Givenchy อยู่เมืองไทยพอดี ทางพี่โอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ แห่ง PP Group Thailand จึงนัดพบคุณฟิลิปกับภรรยาของเขาให้ ซึ่งบังเอิญว่าภรรยาของเขามีญาติ เป็นคนไทย จึงทำให้การนัดพบเป็นไปด้วยดี หลังจากนั้นก็รอคำตอบอยู่ประมาณ 3-4 เดือน เขาก็อนุมัติครับ

“แต่ผมก็ไม่เคยถามนะว่าทำไมจึงอนุมัติ หลักๆ คิดว่าเพราะเราเป็นลูกค้ามานานจริงๆ ผมซื้อมาเป็นสิบปีแล้ว น่าจะมีเป็นพันชิ้น และเคยไปนั่งฟร้อนต์โรว์มาแล้วหลายครั้ง จริงๆ โดยประวัติแล้วของผมไม่น่าขอยาก แต่เราก็ยังลุ้นอยู่ดี เพราะความเป็นโอต์กูตูร์ก็จะมีความเยอะของเงื่อนไขนิดหนึ่ง ถ้านับว่ามีคนแค่ 2,000 คนบนโลกที่ได้ครอบครองชิ้นโอต์กูตูร์ ก็แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนในโลกนี้เท่านั้นเองนะ ดีใจที่เราผ่านครับ”

Insight Story ลองชุดรัวๆ ที่ปารีส

หลังจากได้รับการอนุมัติประวัติให้สามารถสั่งตัดชุดโอต์กูตูร์ได้ คุณออก็เดินทางเข้าสู่โลกแห่งความเว่อร์วังที่แท้ทรู นั่นคือการเดินทางไปวัดตัวที่ปารีส! “พออนุมัติแล้ว ผมก็เริ่มศึกษาว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งมีขั้นตอนมากมาย เริ่มจากการบินไปวัดตัวที่ปารีสก่อน โดยนัดเจอกันที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เพราะใกล้กับซาลอนของแบรนด์ โดยเขาเตรียมพรีเซ็นเทชั่นเกี่ยวกับชุดและคอลเล็คชั่นทั้งหมดมาให้ ซึ่งความจริงผมมีในใจแล้วแหละว่าอยากได้ตัวไหน แต่ไหนๆ เขาก็เอามาให้ดูทุกลุคแล้ว ก็ถือโอกาสชมอีกที เรื่องเซอร์ไพร้ส์คือวันนั้นฟิลิปมาเทคแคร์ผมด้วยตัวเอง ทำให้รู้สึกดีมาก

“สุดท้ายผมก็เลือกลุคที่อยู่ในใจแต่แรก ชื่อ ‘สฟิงซ์’ เพราะเตะตามาตั้งแต่เห็นในโชว์ และเห็นอีกทีตอนแชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) พระเอก Black Panther ใส่ไปงาน Met Gala จึงอยากได้มาเก็บไว้ พอเราเลือกชุดแล้ว เขาก็ยื่นราคาเต็มของชุดมาให้ ซึ่งความแปลกของโอต์กูตูร์คือราคาที่ให้มานั้นสามารถต่อรองได้นิดหน่อย พอได้ราคาที่พอใจทั้งสองฝ่ายแล้วต้องฉีกราคาทิ้งทันที และเราไม่สามารถเปิดเผยราคากับใครได้ ไม่มีใครบอกกัน รู้กันแค่คนซื้อกับคนขาย ขนาดผมถ่ายรูปราคาไว้ เขายังขอให้ลบทิ้ง ผมเดาว่าที่ไม่ให้บอกเพราะแต่ละคนได้ราคาไม่เท่ากัน คือต่อให้เป็นชุดแบบเดียวกัน แต่อาจมีดีเทลไม่เหมือนกัน คุณสามารถเพิ่มตรงนั้น ลดตรงนี้ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวคุณได้ ราคาจึงอาจจะลดเพิ่มไปตามนั้น เขาจึงต้องทำเรื่องราคาให้เป็นเอกซ์คลูซีฟจริงๆ ส่วนค่าเสียหายทั้งชุดนั้น ผมบอกได้แค่ว่าประมาณ 7 หลักครับ

“หลังจากนั้นเขาก็ให้ทีมงานมาวัดตัว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เอิกเกริกมาก (หัวเราะ) ปกติเวลาเราไปตัดเสื้อผ้าก็จะมีช่างมาวัดตัวแค่คนเดียวใช่ไหมครับ แต่นี่มากัน 5 คน คนวัดตัวมี 2 คน ยืนกันคนละด้านของผม โดยคนหนึ่งคืออันเดรส อาซูเบล (Andres Azubel) เป็น Head Designer ของฝั่งผู้ชายและเป็นมือขวาของแคลร์ด้วย ซึ่งเป็นการวัดที่ละเอียดมาก เข้าถึงทุกอณูและสรีระ (หัวเราะเสียงดัง) ที่เหลืออีก 3 คนใส่เสื้อคลุมสีขาว เหมือนชุดหมอนั่งคุกเข่าอยู่ที่พื้น แล้วไม่ว่าสองคนนั้นจะพูดอะไร สามคนนี้ต้องขานรับและจดพร้อมกัน เพื่อไม่ให้มีข้อมูลผิดพลาด ก็จะดูเว่อร์ๆ ให้เราเกร็งๆ นิดหนึ่ง

เซเลบ

“คือจริงๆ เขาคงแค่รักษา Tradition หรือรูปแบบปฏิบัติเดิมๆ ของแบรนด์ไว้น่ะครับ อย่างแต่ก่อนลูกค้าส่วนใหญ่ของโอต์กูตูร์คือคนในราชวงศ์หรือขุนนางชั้นสูง เขาจึงต้องปฏิบัติกันแบบนั้น แล้วก็สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนที่ต้องใช้ 3 คนจด ก็อาจจะเป็นเพราะหนึ่งกันพลาด สองเป็นช่างมาจากหลายทีม ช่างปัก ทีมผ้า และทีมอื่นๆ ก็เลยต้องมาจดพร้อมกัน พลอยสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้าไปด้วย

“จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการจ่ายเงิน โดยเขาจะแบ่งเป็นรอบๆ ไม่ได้ตูมเดียว ซึ่งก็ดีในแง่ที่ว่าพอตอนหลังค่าเงินยูโรลด เราก็เหมือนได้ราคาถูกลง (หัวเราะ) แล้วเขาก็พาไปเลี้ยงข้าวในโฟร์ซีซั่นส์ ก็เป็นอันจบการพบกันในรอบที่หนึ่ง ต่อไปเป็นการนัดครั้งที่สองเพื่อลองชุดที่เราสั่งตัดในรูปแบบผ้าดิบก่อน เพราะต่อให้วัดละเอียดขนาดไหนก็ไม่เป๊ะเท่ากับลองจริง โดยมีอันเดรส อาซูเบล มาดูแลเองอีกครั้ง เขาจะคอยแนะนำรายละเอียดให้ เช่น ความยาวของสูท หรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการห้ามสิ่งที่เราอยากได้หรืออยากเพิ่มเสียมากกว่า แต่ต้องยอมรับว่าพอเห็นชุดจริงมันก็ออกมาดูดีอย่างที่เขาบอกจริงๆ

“พอเก็บรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว เขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะนำชุดนี้ไปตัดในผ้าที่จะใช้จริงนะ เสร็จแล้วเราก็จ่ายเงินก้อนที่สองไป แต่ระหว่างนั้นบังเอิญว่าเป็นช่วงที่ชนกับแฟชั่นโชว์ Fall 2019 Couture ของ Givenchy อีกครั้ง ทางแบรนด์จึงนำลุคในคอลเล็คชั่นนั้นมาให้ลองด้วย ก็เป็นอันว่าใจอ่อนโดนไปอีกชุด (หัวเราะ) เป็นสีเงินปักลวดลายละเอียดยิบทั้งตัว หนักมาก หนักทั้งน้ำหนักและราคา ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างตัดเย็บ”

เซเลบ

ชิ้นเดียวในทวีป

หลังจากบินไปปารีสแล้วสองครั้ง ก็ได้เวลาบินไปครั้งที่สามเพื่อลอง “สฟิงซ์” โค้ตโอต์-กูตูร์ที่คุณออรอมานาน “ถ้ารวมทั้งกระบวนการแล้ว ผมรอมาหนึ่งปีนะครับ แต่ใช้เวลาตัดจริงๆ ประมาณ 3 เดือน ซึ่งพอได้เห็นชิ้นที่เป็นของเราจริงๆ ก็ตะลึงนะ สวยจริงๆ โค้ตตัวนี้ทำจากผ้าไหมออร์แกนซาสีดำ มีดีเทลปักระบายสีเงินตรงหลังกับปกหน้า และมีบีดลูกปัดเลื่อมๆ ร้อยเป็นพวงตลอดชายปกเสื้อยาวมาถึงช่วงขา ที่ชอบชุดนี้ก็เพราะงานปักตรงช่วงไหล่นี่แหละ ซึ่งไม่ใช่การปักแค่ครั้งเดียว แต่ต้องปักซ้อนทับกันหลายครั้ง คือละเอียดยิบมาก ปักทั้งไหม ทั้งเลื่อม ซึ่งพอลองแล้วก็พอดีตัวเป๊ะเลย เป็นของเราจริงๆ แล้วด้านในจะมีเบอร์ล็อกไว้ในเสื้อ กรณีเกิดโค้ตพังหรือเสียหายก็สามารถส่งกลับไปซ่อมได้ตลอด

“ที่ประทับใจไปกว่านั้นคือแพ็คเกจจิ้ง เขาใส่มาในกล่องสีขาวขนาดใหญ่…แบบที่คนเข้าไปนอนได้เลย ในกล่องมีไม้แขวนเสื้อแบบดั้งเดิมของยุโรปให้ด้วย ทำจากไม้ใหญ่ๆ หนักๆ พูดง่ายๆ ว่ากล่องนี้คือตู้เสื้อผ้าเคลื่อนที่ ซึ่งเราต้องหอบสิ่งนี้กลับมาเมืองไทยด้วย สิ่งที่ผมอยากเล่าต่อก็คือ หลังจากที่สัมผัสกับงานโอต์กูตูร์จริงๆ แล้ว ผมพบว่าสิ่งที่เขาพยายามรักษาไว้อย่างจริงจังคือความเป็น Traditional ของแบรนด์ อะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นหรือสิ่งที่ปฏิบัติมาตลอดจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อมาสร้างต่อเป็นสตอรี่ ที่สุดก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์อันล้ำค่า ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังซื้องานศิลปะอันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของแบรนด์ จึงคุ้มค่าที่จะจ่าย

เซเลบ
โค้ตโอต์กูตูร์จาก Givenchy Spring 2018 Couture โดดเด่นด้วยดีเทลปักเลื่อม และไหมสีเงินเป็นลวดลายละเอียด ตั้งแต่ปกเสื้อด้านหน้าไปจนถึงด้านหลัง โดยคุณออเป็นลูกค้าจากเอเชียคนเดียวที่ได้ครอบครองชุดนี้ และยังเป็นลูกค้าผู้ชายคนไทยคนแรก โดยคุณออเลือกแมตช์โค้ตกับเสื้อโอต์กูตูร์ของ Givenchy ด้านในและกางเกงปักประดับเลื่อมสีดำทั้งตัวของ Saint Laurent รองเท้าของ Celine รุ่นเดียวกับที่ลิซ่า Blackpink ใช้ เพราะคุณออปลื้มลิซ่ามากๆ

“ในมุมกลับกันผมว่าคนไทยก็สามารถสร้างอะไรแบบนี้ได้ เพราะเรามีฝีมืออยู่แล้ว ผมยังซื้อของฝากจากเมืองไทย พวกงานฝีมือต่างๆ ไปฝากทีมงานที่ Givenchy ในปารีสและแบรนด์อื่นๆ อยู่เลย เพราะของไทยเราก็มีดีเหมือนกัน เราขาดแค่การตลาดกับวิธีการถ่ายทอดในแง่แฟชั่น ทุกวันนี้การแข่งขันสูงมาก ถ้าคุณจะขายแต่ของเรดี้ทูแวร์ก็จะยากมาก เราแข่งของและเซอร์วิสกันไม่ได้แล้ว ต้องแข่งกันที่ Value Added คือการเติมคุณค่าเข้าไปในสินค้า เพื่อให้เกิดประสบการณ์และความรู้สึกที่เหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่โอต์กูตูร์ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาให้ชุดนี้ทวีปละหนึ่งโควตาเพื่อป้องกันการใส่ชนกัน ก็เป็นหนึ่งในเรื่องของการเพิ่มคุณค่า หรือตอนวัดตัวที่ต้องมากัน 5 คน จดลงกระดาษ ทั้งๆ ที่จะหยิบไอแพ็ดมาพิมพ์ก็ได้ หรือการที่ช่างยังใส่ชุดขาวมาทำงาน ก็เพราะเวลาที่ต้องเทียบไหมแต่ละสี เขาต้องเทียบกับพื้นขาว จะได้รู้เฉดสีชัดๆ รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการมีของขวัญชิ้นพิเศษที่ไม่มีวางขาย จำพวกเทียนหอม สมุด ฯลฯ ส่งมาให้ตลอดเวลา พร้อมจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกพิเศษได้ ลูกค้าก็จะอินกับแบรนด์มากขึ้น”

เซเลบ

ก้าวต่อไป…ในโลกโอต์กูตูร์

ว่ากันว่าเมื่อมีชิ้นแรกแล้วต้องมีชิ้นต่อไป แต่สำหรับคุณอออาจไม่ใช่แค่ชิ้นที่ 2 แต่เป็นอีกหลายชิ้น… “ก็อย่างที่บอกว่าไหนๆ ก็มาถึงจุดนี้แล้ว ความจริงก่อนที่จะได้โค้ตโอต์กูตูร์ของ Givenchy ผมมอง Dior ไว้ เพราะเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เป็นลูกค้าประจำ แต่ Dior ไม่มีโอต์กูตูร์ของผู้ชาย มีแต่ผู้หญิง จึงยังไม่ได้ลองเสียที ก็บังเอิญมาได้ Givenchy ก่อน แต่ตอนนี้กำลังคุยกับ Dior อยู่ว่าเป็นผู้หญิงก็ได้นะ เพราะสมัยนี้ชุดผู้หญิงหรือผู้ชายก็ใส่กันได้หมด

“นอกจากนี้ก็ยังมี Versace, Georges Hobeika และ Dolce & Gabbana ที่อยู่ในระหว่างสั่งทำ และมีคุยอยู่อีกกับบางแบรนด์ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเก็บโอต์กูตูร์ให้ได้แบรนด์ละตัวให้ครบ จะได้รู้ว่าสตอรี่ลึกจริงๆ และเทรดดิชั่นของแบรนด์นั้นๆ เป็นอย่างไร เราเรียนรู้ได้มากที่สุดผ่านผลงานของเขานี่แหละ อย่างจุดเด่นและดีเทลของแต่ละแบรนด์ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าสังเกตดูชุดของ Givenchy จะเน้นไหล่ใหญ่ๆ ตรงๆ เพราะเป็นซิกเนเจอร์ดั้งเดิมที่อูแบร์ เดอ จีวองชี (Hubert de Givenchy) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ออกแบบไว้ หรือ Dior ก็จะเด่นที่เอว ชุดผู้หญิงจะเป็นเอวคอดเลย แต่ชุดผู้ชายก็จะทำเอวเป็นสามเหลี่ยม ดูเป็นรูปตัว V ซึ่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แหละที่ทำให้เกิดคาแร็คเตอร์เฉพาะของแต่ละแบรนด์ขึ้นมา ยิ่งเป็นโอต์กูตูร์ด้วยแล้ว ยิ่งยากที่จะมีใครเหมือน ถือเป็นชิ้นสุดยอดผลงานของเขา และเป็นความภูมิใจของผู้ที่ได้ครอบครอง”


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 954

Praew Recommend

keyboard_arrow_up