ที่สุดแห่งความประณีต ‘ผ้าไหมทอ’ คอสตูมราชสำนัก ที่ใช้ตัดชุดไทยให้กับเจ้านายทุกพระองค์

ที่สุดแห่งความประณีต ‘ผ้าไหมทอ’ คอสตูมราชสำนัก ที่ใช้ตัดชุดไทยให้กับเจ้านายทุกพระองค์…แม้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเสร็จสมบูรณ์และเป็นที่ปลาบปลื้มของพสกนิกรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ความภาคภูมิใจในความเป็นชนชาติไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์และความเป็นชนชาติที่มีประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ยังคงเป็นความรู้สึกที่ฝังรากลึกของพสกนิกรตราบจนทุกวันนี้

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เราได้เห็นขั้นตอนการเตรียมพระราชพิธีที่มีความละเอียดประณีตในทุกลำดับของพิธีการ ตลอดจนยังมีสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีอันดีงามของไทยอีกอย่างก็คือ งานหัตถศิลป์ชั้นเอกที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้าไหมทอในฉลองพระองค์ของเหล่าเจ้านายทุกพระองค์ ที่ทรงสวมในการพระราชพิธีต่างๆ รวมถึงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ล้วนเป็นฉลองพระองค์ที่มีความวิจิตรงดงามอย่างไทย อีกทั้งไม่ใช่ผ้าทอของฝรั่งมังค่าที่ไหน แต่ล้วนเป็นฝีมืออันประณีตของชาวบ้านนั่นเอง

สำหรับผ้าไหมทอที่ใช้สำหรับฉลองพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีข้อมูลจากเพจอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทเชื้อสายกวย กูย ได้ระบุว่าผ้าไหมทุกผืนที่ใช้สำหรับฉลองพระองค์งานนี้ล้วนทอโดยชาวบ้านจาก จังหวัดสุรินทร์ โดยฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ ๑๐ ปักโดยช่างฝีมือหมู่บ้านท่าสว่างจังหวัดสุรินทร์ ทีมของ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ซึ่งอาจารย์ท่านนี้เคยดูแลฉลองพระองค์ให้กับ พระองค์เจ้าหญิงสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในวันหมั้นของพระสหายอีกด้วย

นอกจากนี้ในเพจอีจัน ยังได้โพสต์ข้อความระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของฉลองพระองค์ในงานนี้ว่า เป็นผ้าไหมทอที่มีด้วยกัน 2 แบบ คือ
ผ้าไหมยกทองโบราณราชสำนัก และ ผ้าไหมยกดอกลำพูน

สำหรับผ้าไหมยกทอง ทอโดยกลุ่มทอผ้าจันทรโสมา จ.สุรินทร์ โดย อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินผ้าทอไหมยกทอง เป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองจันทรโสมา ตั้งอยู่ที่ บ้านท่าสว่าง ต.ท่าสว่าง อ.เมืองสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการยกย่องว่า “ทอผ้าไหม 1,416 ตะกอ” เมื่อครั้งทอผ้ายกทองทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการทอผ้านั้นจะต้องใช้คนทอถึง 4-5 คน คือจะมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คนและคนทออีก 1 คน และความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามลำดับตะกอที่เก็บลายไว้ ผิดไม่ได้แม้แต่เส้นเดียว ด้วยความซับซ้อนด้านเทคนิคการทอเหล่านี้ ต่อวันจะทอได้แค่ 5-7 เซนติเมตรเท่านั้น ต่อผืนที่มีความยาว 2 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ราคาจึงค่อนข้างสูง โดยผืนที่ทอ 700-800 ตะกอ จะขายอยู่ที่เมตรละ 30,000 บาท ส่วนผืนที่ทอเป็นพันตะกอ จะขายอยู่ที่เมตรละ 150,000-200,000 บาท

ส่วนผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นผ้าไหมชนิดพิเศษที่ทำขึ้นจากใยของตัวไหม มีคุณสมบัติคือ เหนียว คงทน ต้านทานแรงดึงได้สูง เนื้อผ้าไหมมีความหนาแน่น เป็นเงามันและมีประกายสวยงาม ลวดลายในผืนผ้าไหมมีความพิเศษคือ เพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็น ดิ้นเงิน ดิ้นทอง การเก็บลายจึงต้องใช้ตะกอเพื่อให้สามารถทอลวดลายที่สลับซับซ้อนประณีตงดงามได้ จึงทำให้ จ.ลำพูน เป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย สำหรับลวดลายที่เป็นลายโบราณดั้งเดิมและยังได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุลหรือดอกแก้ว ซึ่งเริ่มแรกในสมัยโบราณไม่มีการบันทึกลวดลายเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องใช้วิธีจดจำลวดลายไว้แทน ซึ่งปัจจุบัน นายปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญการทอผ้ายกลำพูน และได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดลำพูน เป็นแกนนำในการอนุรักษ์การทอผ้ายกดอกแก่ชาวบ้าน และเคยได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดฯ ให้นําพระภูษาโบราณที่เคยทรงมาคัดลอกลายและทอขึ้นใหม่

 

อ่านเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติมที่นี่

3 ขัตติยราชนารีแห่งพระราชวงศ์จักรี ทรงพระสิริโฉมในฉลองพระองค์ชุดไทย

ยืนหนึ่งสมศักดิ์ศรี เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เจ้าหญิงที่มีสไตล์ระดับโลก

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยอันเปี่ยมไปด้วยความหมาย

ฉลองพระองค์งดงามวิจิตร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณฯ ทรงตามรอยสมเด็จย่า

พระราชกรณียกิจแรก สมเด็จพระราชินีสุทิดา งามสง่าตามเสด็จในหลวง ร.10

Praew Recommend

keyboard_arrow_up