พระราชยาน

เปิดบันทึก ร.๖ ทรงตรัสไม่มียานพาหนะใดประทับแบบคิงแท้ๆ เท่าพระราชยาน

Alternative Textaccount_circle
พระราชยาน
พระราชยาน

เมื่อวานนี้ (5 พฤษภาคม 2562) เวลาโดยประมาณ 16.30 น พสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่มารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทชื่นชมในพระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จะยาตราขบวนจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นั้น

นอกจากจะได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ ริ้วขบวนจากพระที่นั่งฯ ที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรตินั้นไม่สามารถเคลื่อนตัวโดยเร็วได้เพราะใช้พลังคน อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังต้องทรงประทับอยู่บนพระราชยานเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำยิ่ง โดยเรื่องปัญหาการประทับพระราชยาน นั้น มีบันทึกจาก วรชาติ มีชูบท. “กระบวนพยุหยาตรา และ กระบวนราบ”, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม ๒๕๖๐ ไว้ ดังนี้

บันทึกของจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

“…ทรงเล่าอย่างขันๆ ว่า ไม่มียานพาหนะใดที่จะนั่งด้วยอาการเป็นคิงแท้ๆ เท่าราชยาน เพราะหาความสุขสบายมิได้เลย ทรงตรัสว่า ที่นั่งกว้างพอดีกับพระที่นั่ง (คือ ก้นของท่าน) ที่วางพระบาทมีเฉพาะเพียงพระบาททั้งคู่วางชิดๆ กันได้ไม่ตกแต่หมิ่นเต็มที่ บางทีต้องไขว้และก็ต้องไขว้ซ้ายบนบ้าง ขวาบนบ้าง เรียงคู่บ้าง สลับกันไป เช่นนี้ตลอดทาง ไม่มีทางทําอย่างอื่นได้ เพราะบางคราวทรงนึกจะไขว่ห้างก็ไม่กล้าทํา เพราะเกรงจะไม่เหมาะสม

สองข้างบัลลังก์ยังเป็นกระจังทําด้วยทอง บางที่แกะด้วยไม้มีกนกแหลม ๆ เต็มไปหมด วางพระกรเข้าก็เจ็บ ไม่วางก็ไม่รู้จะวางที่ไหน ต้องทนขยับเขยื้อนได้ยากเต็มที่ เพราะที่จํากัด และลอยอยู่ด้วยพลังของคน ถ้าขยับเขยื้อนรุนแรงข้างล่างก็เดือดร้อน ดีไม่ดีพลิกคว่ำลงเป็นเสร็จ ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่แล้ว

รับสั่งว่า บางที่เป็นเหน็บทั้งๆ ขา ต้องขยับให้หายชา แล้วทรงกระดิกพระดัชนีให้พระโลหิตเคลื่อน พอค่อยทุเลา นั่งพิงอย่างสบายก็ไม่ได้ เสียทรง ทําให้ไม่งาม ท่านว่าทูลกระหม่อม คือ หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ เคยสอนไว้ว่า นั่งราชยานต้องดัดทรงเป็นละคร คือ ดันกระเบนเหน็บให้ตัวตรง แล้วคิดดูซิ ประทับอยู่บนนั้นตั้งๆ ชั่วโมง

ท่านรับสั่งแล้วทรงยิ้มว่า เวลาประชาชนเขาแสดงความเคารพ ทั้งๆ ปวดเมื่อยและเป็นเหน็บก็ต้องแข็งพระราชหฤทัย ทรงยิ้ม ทรงยกพระคธาขึ้นรับเคารพ เพราะยิ้มของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำทิพย์ชโลมใจของประชาชน ท่านว่าถ้าจ้างกันละก็ละ ๕๐ บาท (สมัยโน้น) ท่านก็ไม่เอา ต่อให้ร้อยก็ไม่รับประทาน แต่เป็นพระราชกรณียกิจแม้ให้ยากแสนยากเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่านี้ก็ต้องรับทํา เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์

แต่พอเสร็จพิธีตอนเข้าที่พระบรรทมน่ะซี ตกเป็นภาระอันหนักของมหาดเล็กผู้ถวายอยู่งาน เพราะจะได้ยินแต่พระสุรเสียงว่า เอาตรงนี้หน่อย คือที่บั้นพระองค์ ที่พระชาณุ (ขา) เป็นต้น …”

ฉะนั้นเมื่อเริ่มมีรถม้าเข้ามาใช้ในราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเสด็จประพาสที่ต่างๆ ในเวลาเย็นจึงทรงเปลี่ยนไปใช้รถม้าพระที่นั่ง และเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวการเสด็จพระราชดําเนินโดยพระราชยานก็ลดบทบาทลงเหลือเพียงการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐินประจําปี ณ พระอารามสําคัญในพระนคร ๓ วัด คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค ระยะทาง ๗ กิโลเมตร ใช้เวลากว่า ๖ ชั่วโมง

 


ข้อมูลจาก วรชาติ มีชูบท. “กระบวนพยุหยาตรา และ กระบวนราบ”, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม ๒๕๖๐
ที่มา : โบราณนานมา
ภาพ : นิตยสารแพรว 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up