ดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง

ความหมายการโปรย ดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.๑o

Alternative Textaccount_circle
ดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง
ดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง

ภาพพระอิริยาบถเรียบง่ายของ พระบรมวงศานุวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวานนี้ (4 พฤษภาคม 2562) ที่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงร่วมก้มเก็บดอกพิกุลเงินและพิกุลทองที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรยพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสมือนการพระราชทานพร เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นดั่งของที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีดังกล่าว

ซึ่งดอกพิกุลถือว่าเป็นต้นไม้ในสวนของพระอินทร์ จึงถือว่าเป็นดอกไม้จากสวรรค์และจัดทำด้วยเงินและทองคำให้เสมือนดอกพิกุลจริง สำหรับใช้ในพระราชพิธีสำคัญคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีโสกันต์เจ้านาย

โดยความหมายการโปรยดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นั้น ในสมัยโบราณมีความเชื่อว่าต้นพิกุลเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในสวนของพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงนิยมนำดอกพิกุลมาใช้ประโยชน์ในงานพิธีมงคลต่างๆ ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ในราชสำนักไทย เจ้านายชั้นสูง ผู้ซึ่งเป็นองค์ประธานในพิธีจะทรงโปรยดอกพิกุลที่ทำจากเงินและทองคำที่เรียกว่า “ดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทอง” แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่ามีที่มาตั้งแต่สมัยใด แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ การโปรยดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทองในงานพระราชพิธีสำคัญนั้น ได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับดอกไม้มงคลที่มีต่อราชสำนักไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ที่มาและความหมาย ต้นพิกุล ชาวต่างประเทศเรียกว่า “Bullet wood” เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๑๐ – ๒๕ เมตร ผิวเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ใบมีลักษณะมัน สีเขียว ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบหรือยอด เป็นพันธุ์ไม้ที่มักพบตามป่าดิบชื้นทั่วไปในแถบประเทศที่มีอากาศร้อน ดอกพิกุลมีขนาดเล็กออกเป็นช่อ มีสีขาว เมื่อบานจะเห็นริมดอกเป็นจักๆ มีกลิ่นหอมเย็นทั้งเมื่อยังสดและแห้ง นิยมใช้บูชาพระ หรือทำเป็นยาแผนโบราณ แม้ร่วงหล่นกลายเป็นสีน้ำตาล แต่ก็ยังมีกลิ่นหอม สามารถนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยได้

คำว่า “พิกุล” มาจากภาษาอินเดีย แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤต ออกเสียง “พิกุล” ว่า “พกุล” จากหนังสือมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาพน ที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๒๐๒๕) ได้กล่าวถึงตอนอจุตฤาษี พรรณนาถึงต้นไม้ในป่าให้ชูชกฟังว่า “ปงกุรา พกุล เสลา ไม้พกุลศุรกรมก็มี”แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยายังคงเรียก “พกุล” กันอยู่ แต่ต่อมาภายหลังได้กลายเป็น “พิกุล” ซึ่งเป็นการแปลงคำแบบไทย โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้อธิบายไว้ว่า “พกุลคำในบาลี ไทยใช้พาที เติมอิเป็นพิกุลไป”

คติความเชื่อเกี่ยวกับดอกพิกุล คนไทยในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า หากปลูกต้นพิกุลไว้ในบริเวณบ้าน จะทำให้คนที่อาศัยอยู่มีอายุยืน เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่แข็งแรงทนทาน และมีอายุยาวนาน ดังนั้นจึงมักนำมาใช้ประโยชน์ในงานพิธีมงคล อาทิ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือด้ามหอก ประกอบกับความเชื่อว่า ต้นพิกุล เป็นต้นไม้ที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เป็นไม้ที่มีเทพสิงสถิตอยู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัยนอกจากนี้มีความเชื่อว่า ต้นพิกุล เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในสวนของพระอินทร์ ดอกพิกุลจึงเปรียบเสมือนดอกไม้จากสวรรค์ การประกอบพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนักไทย จึงนิยมจำลองดอกพิกุลเสมือนจริงที่สร้างจากเงินและทองคำ สำหรับให้องค์ประธานทรงโปรยในระหว่างการประกอบพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลงสรง เป็นต้น ด้วยความเชื่อที่ว่าเจ้านายผู้เป็นองค์ประธานนั้นอยู่ในสภาวะสมมติเทพที่ได้อุบัติลงมาจากสวรรค์ การโปรยดอกพิกุลจึงเสมือนกับการที่องค์สมมติเทพทรงโปรยดอกไม้จากสวรรค์ลงมาให้มนุษย์ได้ชื่นชมนั่นเอง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมีพระราชหฤทัยโอบอ้อมอารีที่มีต่อเหล่าพสกนิกรที่มาเข้าร่วมในพระราชพิธี และเมื่อพิจารณาจากลักษณะของดอกพิกุลที่มีกลีบจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกเบญจมาศของจีน เป็นข้อสังเกตว่าอาจมีการผสมผสานความคิดอันเป็นมงคลเกี่ยวกับการเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ด้วยก็เป็นได้


ขอบคุณ สัตตมาลี เครื่องหอมตำรับในวัง
ขอบคุณที่มา tnews.co.th/ดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
via.#HS6NYY

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up