เปิดชีวิตมหาเศรษฐีไทยที่ดังไกลถึงต่างประเทศ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” แห่งอาณาจักรคิง เพาเวอร์ พร้อมเปิดดูขุมทรัพย์ที่อังกฤษ ครั้งแรกในนิตยสารไทย
29 ปี คือเวลาที่คิง เพาเวอร์ก่อร่างสร้างธุรกิจสินค้าปลอดภาษีขึ้นในประเทศไทย
5.39 หมื่นล้านบาทคือจำนวนสินทรัพย์โดยประมาณการที่ “ฟอร์บ” ใช้ในการคำนวณลำดับเศรษฐีอันดับที่ 11 ให้กับเจ้าพ่อคิง เพาเวอร์ คนนี้ (ข้อมูลปี 2557)
150 ล้านปอนด์++ คือจำนวนเงินที่เขาใช้เพื่อซื้อสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ ของอังกฤษ ซึ่งเมื่อก่อนยังเป็นแค่ทีมในระดับแชมเปี้ยนชิพ ทว่าวันนี้ขึ้นชั้นพรีเมียร์ลีกได้ด้วยเม็ดเงินที่เขาทุ่มเพื่อทำให้ทีมแข็งแกร่ง
666 ไร่ คือเนื้อที่ของสนามโปโล Billingbearที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในประเทศอังกฤษ แม้แต่ราชวงศ์อังกฤษยังเทใจยกให้เป็นสนามชั้นเลิศ และแพรวเป็นนิตยสารฉบับเดียวที่เขายอมเปิดรั้วให้บุกเข้าไปในอาณาจักรนั้น
นี่ยังไม่นับพิพิธภัณฑ์พระเครื่องเก่าแก่นับพันองค์ที่ประเมินค่ามิได้ คลังไวน์กว่าพันขวดที่เซียนไวน์ยกให้เป็นคอลเล็กชั่นเด็ด และล่าสุดเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวที่เขา “ลัดคิว” ได้มาด้วยการยอมจ่ายค่าคอมมิชชั่นไปหลายล้านเหรียญ
จริงอยู่ว่าประเทศไทยมีเจ้าของธุรกิจที่มีตัวเลขหมุนเวียนในโครงข่ายว่ากันในระดับพันล้าน หมื่นล้าน เกินจำนวนนิ้วในร่างกายมนุษย์ แต่ในจำนวนทั้งหมดนั้นจะมีสักกี่คนที่ “สร้าง” และ “ใช้” เงินได้อย่างสนุกเช่นนี้
ให้นับนิ้วในหนึ่งมืออาจจะนับได้ไม่หมดเสียละมัง ทว่าคุณวิชัย หรือ “ท่านประธาน” สรรพนามที่คนในอาณาจักรคิง เพาเวอร์ใช้เรียกขานก็ดันอยู่กลุ่มนี้ซะด้วยสิ
“ผมอาจแปลกกว่าคนอื่นนะ ตรงที่ใช้ชีวิตด้วยความสุขเป็นตัวขับเคลื่อน ตั้งแต่เล็ก ถ้าผมจะทำอะไรต้องมีความสุข ถ้าไม่มีความสุขก็อย่าคิดเลยว่าจะทำ ฉะนั้นแพง ถูก ไม่ใช่เหตุผล เหตุผลคือความชอบ เป็นคนชอบอะไรก็เต็มที่ สุดขั้ว ไม่คิดหรอกว่ามีต้นทุนเท่าไหร่”
เพราะอย่างนี้เลยมีคำล้อกันว่า “ของเล่น” ท่านประธานล้วนแต่มีราคาแสนแพง
อยู่ที่คนมอง ผมห้ามความคิดใครไม่ได้ คำว่าของเล่น เด็กไปซื้อของเล่นมาเล่นมันก็ใช่ ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ผมว่าเขาคงแค่เอามาเปรียบเทียบ เพราะจริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่ทำให้เราได้เอนจอยกับมันมากกว่า การเอนจอยมีหลายอย่าง อย่างผมชอบรถ ผมก็ซื้อๆๆ คุณอาจบอกว่าถ้าชอบก็ดูในท้องถนน หรือในโชว์รูมไปสิ อันนั้นก็เป็นวิธีคิดแบบหนึ่ง แต่สำหรับผม ดูน่ะดูได้ แต่มันไม่ใช่ของเรา นี่ผมอยากนั่งเมื่อไหร่ก็ได้นั่ง ผมว่าเศรษฐีที่มีกำลัง แล้วกล้าออกมาแสดง กล้าเอาเงินมาทำให้มีประโยชน์กับตัวเอง หรือกับสังคม ดีกว่าเก็บไว้ที่แบงค์ให้ลูกให้หลานใช้ ผมกลัวเวลาตายไปแล้วจะมีความรู้สึกว่า ทำไมเอาเงินเราไปใช้แบบผิดๆ ทำไมตอนมีชีวิตอยู่เราไม่ใช้ซะก่อน
หลายคนมองว่าท่านคือเจ้าพ่อธุรกิจดิวตี้ฟรี เพราะงานที่ทำหรือเปล่าคะที่ทำให้ท่านมีบุคลิกแบบกล้าชน กล้าทำอย่างนี้
ผมเป็นของผมอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งมาจากผมถูกส่งไปไต้หวันตั้งแต่อายุ 11 ตอนแรกโกรธพ่อแม่มาก คิดอะไร จะให้เราไปอยู่ยังไง แต่ก็เพราะเหตุนั้นที่ทำให้เราต้องช่วยเหลือตัวเอง และทำให้เข้มแข็ง เพราะถึงจะไปอย่างมีฐานะ แต่เขาก็ให้เราเท่าคนอื่น อาทิตย์ละ 50 เหรียญยูเอส คำถามคือเราจะบริหารเงินอย่างไร เคยอยู่บ้านมีคนซักเสื้อผ้าให้ แต่นี่ต้องทำเองทุกอย่าง ต้องอยู่กับคนที่เราไม่รู้จัก คนนี้ก็ข่ม คนนั้นก็ขู่ เพราะเราเด็กสุด ทำให้ผมต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร ที่สุดชีวิตสอนให้เราหากำแพงพิง นั่นคือใครใหญ่ผมก็ไปหา ไปไหนก็ไปกับเขา แค่อาทิตย์แรกก็สบายแล้ว นักเรียนไทยที่อยากจะรังแกเราเพราะเห็นเป็นเด็กใหม่ก็ไม่กล้า
เมื่อรวมกับนิสัยที่ชอบให้มากกว่ารับ อย่างที่เล่า พ่อแม่ส่งเงินให้ใช้อาทิตย์ละ 50 เหรียญ แต่ผมใช้วันเดียวหมด แจกจ่ายไปทั่ว คนถึงจำผมได้เพราะผมแชร์ความสุข อย่ามาถามนะว่าพรุ่งนี้กินอะไร เอนจอยวันนี้ก่อน แต่ผมเชื่อว่าเราไม่จนตรอกหรอก เดี๋ยวมันก็มาเอง และก็จริง หลายครั้งผมพบว่าเพราะการให้ของเรานี่แหละที่ทำให้ผมไม่เคยจนตรอกสักครั้ง
ระบบการศึกษาที่ไต้หวันมีส่วนช่วยหล่อหลอมด้วยไหมคะ
ไม่ได้ช่วยเลย เพราะผมไม่ได้เรียน ไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ชอบเข้าห้องเรียน รู้สึกว่าทำไมต้องเข้า เข้าแล้วจะเก่งหรือ หรือการสอบ ผมก็ไม่เคยคิดว่าต้องเป็นที่หนึ่ง ห้องเรียนสำหรับผมจึงเป็นการเข้าไปเพื่อดูว่าเขาเรียนกันอย่างไร แต่พอสอบตกแล้วพ่อถาม ผมก็บอกเดี๋ยวจะเรียนให้ดู เอาเอเลย แล้วผมก็ทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้
ผมโชคดีที่พ่อแม่ไม่บังคับ เพราะเขารู้ว่าผมรู้จักขีดกรอบตัวเอง ชีวิตทั้งที่ไต้หวันจนไปต่ออเมริกา อาจมีเดินล้ำออกนอกกรอบไปบ้าง แต่ที่สุดผมก็เดินกลับเข้ามาเอง เขาจึงสบายใจ เหนืออื่นใดผมไม่ยุ่งกับยาเสพติด เหมือนที่ผมสอนลูก (คุณวิชัยมีลูก 4 คนคือคุณวรมาศ คุณอภิเชษฐ์ คุณอรุณรุ่ง และคุณอัยยวัฒน์) จะทำอะไรตามสบาย คิดเอง ตัดสินใจเองได้ทุกอย่าง
ตอนอ่านประวัติท่านซึ่งบอกตรงๆ ว่าหาได้ยากมาก ยังสงสัยว่าไปบุกธุรกิจดิวตี้ฟรีที่ต่างประเทศได้อย่างไร
เริ่มต้นจากที่คุณพ่อส่งไปเรียนไต้หวันน่ะแหละ สมัยนั้นไม่มีบินตรง ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง ขาบินกลับไทยตอนปิดเทอมต้องมีคนฝากซื้อของจากร้านปลอดภาษีที่ฮ่องกงทุกครั้ง ทำให้ผมมีความคิดว่าทำไมประเทศไทยไม่มีร้านปลอดภาษีแบบฮ่องกงบ้าง นั่นเป็นความคิดที่ติดอยู่ในใจมาตลอด พอโตขึ้นยิ่งเดินทางบ่อย ทำให้เห็นธุรกิจดิวตี้ฟรีจากทั่วโลก พบว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เป็นสิ่งที่คนเดินทางทุกคนชอบ จึงบอกตัวเองว่าน่าจะทำได้
แต่พอลองเวิร์คจริงก็พบว่าธุรกิจนี้ทำยากในประเทศไทย เพราะต้องขอสัมปทานจากรัฐบาล และยุคนั้นรัฐฯก็ให้สัมปทานเฉพาะรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เจ้าที่ได้ไปคือการบินไทย เลยไม่ได้คิดต่อ หันไปทำอย่างอื่น นั่นคือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมดังๆ เช่น Christian Dior, Lanvin, NinaRicci, Celine ฯลฯ สมัยก่อนสินค้าแบรนด์เนมในประเทศไทยยังมีกำแพงภาษีสูงมาก ผมใช้วิธีติดต่อกับซัพพลายเออร์ว่าถ้าอยากมาบุกเบิกแบรนด์ในเมืองไทยต้องให้ราคาต่ำ ก็เริ่มขายจากพวกนั้น ทำอยู่หลายปี เดินทางไปกลับต่างประเทศเป็นว่าเล่น วันหนึ่งเพื่อนที่ทำดิวตี้ฟรีที่ฮ่องกงก็ชวนให้ซื้อหุ้นเขา 10%มันเป็นธุรกิจที่ผมสนใจอยู่แล้ว ก็ลุยเลย กระทั่งภายในสองปีผมก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งหมดมาจากการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ซึ่งทำให้ผมมีเพื่อนเยอะ ไม่ใช่แค่ที่ฮ่องกง ทั้งเขมร มาเก๊า จีนแผนดินใหญ่ ทุกที่ที่ผมเข้าไปทำธุรกิจดิวตี้ฟรี คอนเน็คชั่นล้วนเป็นใบเบิกทาง แต่เราจะมีคอนเน็คชั่นที่ดีได้ต้องทำให้เขาเชื่อถือเราก่อน ความเชื่อถือมาจากอะไร ความจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่เบี้ยว ไม่โกง พูดคำไหนคำนั้น
ขณะเดียวกันความคิดที่ว่าธุรกิจนี้น่าจะทำได้ในประเทศไทยก็ยังมีอยู่ และอย่างที่เล่าไป พื้นที่สนามบินดอนเมืองในตอนนั้น การบินไทยเป็นผู้ได้สัมปทานซึ่งเขาไม่ได้ทำจริงจัง เขาให้สัมปทานกับรายอื่นต่อซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านขายของที่ระลึก โดยในส่วนของๆ แบรนด์เนม เขาก็เอาของเราไปขาย เรียกว่าส่งไปเท่าไหร่ก็ขายหมด ผมจึงคุยกับคนที่เช่าสัมปทานต่อว่าทำไมไม่โน้มน้าวการท่าฯ (การท่าอากาศยาน หรือ ทอท.เจ้าของพื้นที่) ให้ทำเอง โดยผมจะนำโนว์ฮาวทั้งหมดมาถ่ายทอดให้ ซึ่งตอนนั้นผมทำดิวตี้ฟรีที่ฮ่องกงได้ 3-4 ปีแล้ว
ปรากฏ ทอท.สนใจ สิ่งที่ผมบอกเขาคือเราต้องทำแบบอินเตอร์ ต้องแยกดิวตี้ฟรีกับของที่ระลึก และต้องให้คนที่เป็นเจ้าของสัมปทานทำอย่างจริงจัง สมมติการบินไทยทำได้ปีละพันล้าน ถามไปเลยว่าใครทำได้เกินก็เอาไป ตอนนั้น ทอท.เห็นด้วย แต่ก็ยังกลัวอยู่ เลยยังถือสัมปทานไว้เอง แต่จ้างผมกับพาร์ตเนอร์คนไทยอีกคนไปบริหารให้ และใช้วิธีแบ่งตรงให้เรา ใช้วิชาชีพเรา พูดง่ายๆ เหมือนจ้างเราไปออแกไนซ์
ทำไปสักพัก ผมกับพาร์ตเนอร์ตัดสินใจแยกจากกัน ตอนนั้นรัฐฯมีโครงการเปิดประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากรนอกพื้นที่สนามบิน แต่นโยบายยังคงเดิมคือคนที่เปิดต้องเป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ผมคิดว่าการท่องเที่ยวน่าจะเป็นหน่วยงานที่ตรงที่สุด เลยชวนร่วมทุน ททท.ก็เห็นด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย ผมยืมชื่อเขา โดยเป็นคนลงทุนทั้งหมด รวมทั้งเลือกโลเกชั่นคือที่ตึกมหาทุนพลาซ่า ถนนเพลินจิตแต่แบ่งหุ้นให้เขา 10 เปอร์เซ็นต์ และให้เขาเป็นคนถือสัมปทาน 5 ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองไทยมีร้านค้าปลอดอากรที่สมบูรณ์ในเมืองแห่งแรกในประเทศ
อ่านต่อหน้า 2
เรื่อง: CHTN Y.
ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 841 คอลัมน์ สัมภาษณ์
ภาพ : Leicester City Football Club