ช่วงนี้คนไทยบินไปเที่ยวฮ่องกงกันครึกครื้นมาก แพรวเลยพามาชี้พิกัด 5 สถานที่ไฮไลท์ในอาณาจักร K11 ริมอ่าว Victoria Dockside ฮ่องกง ที่สวยและวิวจึ้งเกินกว่าจะบรรยายหมด แต่ต้องไปเห็นด้วยตาตนเอง หากคุณได้มาเยือนจิม ซา จุ่ย (Tsim Sha Tsui) ห้ามพลาดแวะมาที่ K11 MUSEA แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก ศูนย์กลางด้านการค้าและวัฒนธรรมแห่งใหม่ริม Victoria Dockside ประเทศฮ่องกง ผลงานระดับแฟลกชิปของ K11 Group ที่ใช้เวลาสร้างยาวนานถึง 10 ปี จากฝีมือการออกแบบของ 100 ศิลปินดัง
เอเดรียน เฉิง ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่ม K11 Group ได้รวมพลังความสร้างสรรค์ร่วมกับสถาปนิก และนักออกแบบที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกนับ 100 ราย อาทิ Kohn Pedersen Fox (KPF), James Corner Field Operations (JCFO) รวมถึงบริษัทออกแบบภายในประเทศ อย่าง LAAB และ OMA
เมื่อมาถึง Victoria Dockside ทุกคนจะได้พบกับ “การเดินทางแห่งจินตนาการ” เพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ผ่านสถานที่ที่รวมพลังแห่งนวัตกรรม วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ไว้ในที่เดียว ทั้งจาก
ชี้พิกัด 5 สถานที่ไฮไลท์ในอาณาจักร K11 ริมอ่าว Victoria Dockside ฮ่องกง
- 1.) K11 MUSEA เดสทิเนชันหลักที่เปรียบเสมือน “ซิลิคอนวัลเลย์ทางวัฒนธรรม” ของเกาะฮ่องกง ที่ปฏิวัติรูปแบบห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิม ด้วยการผสานผลงานการออกแบบสุดล้ำเข้ากับการจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมอันโดดเด่นตลอดทั้งปี K11 MUSEA เกิดขึ้นมาจากแนวคิด ‘A Muse by the Sea’ ที่ถ่ายทอดตำนานเทพเจ้ากรีก และเทพีแห่งศิลปวิทยาการ 9 นาง ผู้มอบแรงบันดาลใจให้กับศิลปะแขนงต่างๆ
- 2.) K11 ATELIER อาคารสำนักงานแห่งแรกที่มาพร้อมแนวคิด “Vertical Creative City” เพื่อให้สอดรับวิถีการทำงานยุคใหม่ พร้อมเพิ่มความโปรดักทีฟให้ผู้ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างเต็มที่
- 3.) K11 ARTUS ที่พักอาศัยสุดหรูแห่งแรกในเอเชียที่มีเป้าหมายในการสานต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมงานช่างฝีมือจีนที่กำลังจะเลือนหายไป ผ่านแนวคิด ‘Artisanal Home’ ที่หลอมรวมการออกแบบสถาปัตยกรรมอันยอดเยี่ยมและคอลเลกชันศิลปะระดับโลก เพื่อกำหนดนิยามใหม่ให้กับประสบการณ์การพักอาศัย และห้องพักบางยูนิตสามารถรับชมทิวทัศน์อันตระการตาของอ่าววิคตอเรียได้จากระเบียงส่วนตัวที่ยื่นออกไปทางอ่าว สวยจึ้งที่สุดของที่สุด
- 4.) Rosewood Hong Kong ลักชัวรีโฮเทล ที่พร้อมให้ทุกคนได้ดื่มด่ำกับอาหารเลิศรส บริการเหนือระดับครบวงจร ทิวทัศน์ของชายฝั่งทำเลที่มอบความผ่อนคลายให้กับทุกการพักผ่อน ซึ่งติดกับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อย่าง Avenue of the Stars ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง
- 5.) Avenue of Stars เริ่มเปิดให้เข้าชมอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019 หลังจากปิดปรับปรุงพื้นที่กว่า 3 ปี โดยสถานที่แห่งนี้อยู่ติดกับสวน Salisbury Garden ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กริมน้ำระดับโลก โครงการนี้มาจากผลงานของทีมนักออกแบบหลายภาคส่วน ทั้งบริษัทออกแบบภูมิทัศน์และพื้นที่เมืองจากนิวยอร์ก James Corner Field Operations บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบแสงไฟสัญชาติอังกฤษ LAAB บริษัทออกแบบภายในประเทศ ภายหลังจากการปรับปรุง ทำให้ Avenue of Stars มีที่นั่งเพื่อรองรับเหล่าผู้มาเยือนเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีแสงสีอันสวยงามมากกว่าเดิมถึง 7 เท่า รวมถึงมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า มอบบรรยากาศสุดอัศจรรย์ราวกับอยู่ในโลกแห่งภาพยนตร์ รอยประทับมือของบุคคลที่มีชื่อเสียงถูกย้ายจากพื้นไปอยู่บริเวณ ราวจับเพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถถ่ายรูปได้ง่ายยิ่งขึ้น
Victoria Dockside มีการจัดแสดงผลงานศิลปะ การคอลลาบอเรชัน และกิจกรรมเวิร์คช็อป สลับสับเปลี่ยนตลอดทั้งปี อาทิ
- K11 Art Karnival งานจัดแสดงผลงานศิลปะประจำปีที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2021และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในรูปแบบนิทรรศการศิลปะกราฟฟิติและสตรีทอาร์ตครั้งแรกสุดยิ่งใหญ่ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘CITY AS STUDIO’ โดย Jeffrey Deitch
- K11 Night หรือ Met Gala ของเอเชีย หนึ่งในงานแฟชั่นและวัฒนธรรมชื่อดังของฮ่องกง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการจัดแสดงคอลเลกชันเสื้อผ้า ‘The Love of Couture: Artisanship in Fashion Beyond Time’ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert (V&A) ณ กรุงลอนดอน
- METAVISION งานจัดแสดงผลงาน NFT ขนาดใหญ่ครั้งแรกของเกาะฮ่องกง ที่รวบรวมผลงาน NFTที่โดดเด่นและเป็นที่ต้องการมากที่สุดมาไว้ในที่เดียว
Victoria Dockside ได้รับรางวัลกว่า 150 รายการ รวมถึงการยอมรับในระดับสากลทางด้านสถาปัตยกรรม การบริการ ศิลปะวัฒนธรรม การตลาด และความเป็นเลิศด้านความยั่งยืน โดยนับตั้งแต่ปี 2019 Victoria Docksideได้รับรางวัล อย่าง MIPIM Asia Awards 2020 Best Mixed-Use Development หรือที่รู้จักในนาม ‘ออสการ์แห่งโลกอสังหาริมทรัพย์แห่งเอเชีย’, RICS Awards 2021 Property Management Team of the Year, RICS Awards 2020 Sustainability Achievement of the Year และ Retail in Asia Best Retail Experience Awards 2019
“CITY AS STUDIO” นิทรรศการแสดงผลงานกราฟิตีและสตรีทอาร์ตเต็มรูปแบบครั้งแรกของประเทศจีน จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 14 พฤษภาคม 2023 ที่ห้าง K11 MUSEA ภายใต้การดูแลของ Jeffrey Deitch พร้อมศิลปินอีก 30 คน ที่ร่วมนำเสนอผลงานกว่า 100 ชิ้น
นิทรรศการนี้ได้รวบรวมและจัดแสดงผลงานชิ้นสำคัญของศิลปินแนวสตรีทอาร์ตจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก เซาเปาโล ปารีส และโตเกียว ผ่านการนำเสนอผลงานศิลปะที่สะท้อนถึงความเคลื่อนไหวที่สำคัญของสตรีทอาร์ตซึ่งยังคงคุณค่ามาถึงปัจจุบัน
CITY AS STUDIO จะพาผู้ชมไปรู้จักและย้อนรอยความเป็นมาของกราฟิตีและสตรีทอาร์ต ตั้งแต่การถือกำเนิดงานศิลปะประเภทนี้ครั้งแรกในลานรถไฟใต้ดินและลานจอดรถในเมืองนิวยอร์กช่วงปี 1970 จนกลายเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก โดยริเริ่มจากผู้เคลื่อนไหวคนสำคัญ เช่น Fab 5 Freddy, FUTURA และ Jean-Michel Basquiat ซึ่งมีผลงานสำคัญในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 และยังมีศิลปินที่โดดเด่นอีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น Barry McGee, Mister Cartoon และ OSGEMEOS ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ในเมืองซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิสฝั่งตะวันออก และเซาเปาโล โดยนิทรรศการนี้ยังรวบรวมผลงานและวิวัฒนาการของศิลปินชื่อดัง เช่น KAWS และ AIKO ซึ่งเป็นตัวแทนของศิลปินแนวสตรีทรุ่นใหม่ของนิวยอร์กไว้อีกด้วย
ผลงานไฮไลท์ในนิทรรศการ CITY AS STUDIO ประกอบไปด้วย
- Valentine (1984) โดย Jean-Michel Basquiat จากคอลเล็คชันศิลปะส่วนตัวของ Paige Powell
- The Bomb (1983) โดย CRASH
- Untitled (1983) โดย Keith Haring
- Basquiat (Red) (2010) โดย Shepard Fairey
- El Diablo (1985) โดย FUTURA จากคอลเลกชันศิลปะส่วนตัวของ KAWS
- Eye Contact #13 (2018) จาก JR
ภายในนิทรรศการ CITY AS STUDIO ยังมีการจัดแสดงผลงานแขนงอื่นๆ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Juanito โดย Charlie Ahearn ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของคู่แฝดของเขา ผลงานประติมากรรมจากปูนปลาสเตอร์ที่จำลองผู้คนในเมืองบรองซ์ โดย John Ahear และผลงานของ AIKO และ Lady Pink ที่จะพาไปสำรวจว่าศิลปินหญิงตอบสนองและมีส่วนร่วมในงานศิลปะแบบดั้งเดิมที่ผู้ชายครองพื้นที่อย่างไร ตลอดจนการแสดงผลงานภาพถ่ายของช่างภาพชื่อดัง อาทิ Gusmano Cesaretti, Henry Chalfant และ Martha Cooper ผู้ร่วมบันทึกผลงานศิลปะและผลกระทบของเมืองที่มีต่อศิลปินแนวสตรีทอาร์ตในช่วงปี 1970 และ 1980
Jeffrey Deitch โลดแล่นอยู่ในวงการศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในฐานะศิลปิน นักเขียน ภัณฑารักษ์ ตัวแทนจำหน่าย และที่ปรึกษา มาเกือบห้าทศวรรษ โดยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยลอสแองเจลิส (MOCA) เขาได้นำเสนอนิทรรศการและโครงการกว่า 50 รายการ รวมถึงเผยแพร่ผลงานด้านกราฟิตีและสตรีทอาร์ตให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งเขาได้สนับสนุนศิลปะกราฟิตีมาตั้งแต่ช่วงปี 1980 ตลอดจนนำความเชี่ยวชาญด้านภัณฑารักษ์และความรู้มากมายมาสู่นิทรรศการ CITY AS STUDIO