ย้อนเวลานับร้อยปีไปสัมผัสรากเหง้าความเป็นไทยกันไหมเจ้าคะ?
สิ้นปีนี้หากยังไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหน “แพรว” มีอีกหนึ่งสถานที่ ชวนคุณไปสัมผัสร่องรอยทางวัฒนธรรมที่หลงเหลือจากปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ของอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนในยุคหลังเลิกทาส มาผลัดผ้าห่มสไบย่ำยุคสมัย ร.ศ.๑๒๔ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกำแพง เมืองมัลลิกา กันเถิดเจ้าค่ะ

ถ้าพร้อมแล้ว อาบน้ำ ผัดแป้ง ห่มสไบ แล้วย่ำกรุง เมืองมัลลิกา ร.ศ.๑๒๔ เมืองมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจกันเถิด
ทันทีที่ก้าวเท้าสู่เมืองมัลลิกาก็จะพบกับประตูเมืองสูงตระหง่านฟ้าอันแสนงดงามที่กั้นเราระหว่างปัจจุบันกับอดีตในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
แม่หญิงทั้งหลายสามารถผลัดผ้านุ่งได้ที่ด้านข้างประตูเมือง โดยภายในห้องผลัดผ้าจะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้ยืมชุดและเครื่องประดับ และมีห้องสำหรับผลัดผ้าโดยเฉพาะ สำหรับแม่หญิงราคา 200 บาท ส่วนใต้เท้า เจ้าคุณ ราคา 100 บาท และเด็กน้อยราคา 50 บาท
แม่หญิงทั้งหลายสามารถใช้บริการรถลาก หรือคนไทยเรียกว่า รถเจ๊ก พาเข้าสู่เมือง
เมื่อก้าวพ้นกำแพงเมืองคุณจะเห็นการแผ่ขยายอิทธิพลจากโลกตะวันตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม และนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างรากเหง้าของวิถีชีวิตคนไทยดั้งเดิมกับวัฒนธรรมตะวันตก จนได้รับการนิยามว่าเป็นยุคทองแห่งความศิวิไลซ์
แต่ก่อนจะเที่ยวย่ำชมเมืองต้องมาแลกเงินที่แบงก์สยามกัมมาจลเสียก่อนนะเจ้าคะ จึงจะสามารถซื้ออาหารได้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องทนกับกลิ่นขนมที่ทำสดใหม่หอมอบอวลคละคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณโดยมิได้ลิ้มลองเจ้าค่าาาา
1 สตางค์เท่ากับ 5 บาทเจ้าค่ะ
มีอัฐแล้วก็พุ่งทะยานสู่ร้านค้าต่างๆได้เลย
โดยเฉพาะขนมไทยต้นตำรับในสมัย ร.ศ.๑๒๔ ที่จัดว่าหาชมและหารับประทานได้ยากในปัจจุบัน เพราะถือเป็นขนมไทยชั้นสูง เพราะด้วยขั้นตอนการทำที่ประณีต พิถีพิถัน เราจะได้เห็นทุกขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตอย่างละเอียดผ่านการใช้เตาถ่านแบบดั้งเดิม สะท้อนความวิริยะและความพิถีพิถันของคนในยุคสมัยก่อนที่จะประกอบอาหารคาวหวานในแต่ละครั้ง
ได้แก่ ขนมเสน่ห์จันทร์ ขนมจ่ามงกุฎ ขนมทองเอก ขนมหยกมณี ขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ขนมจีบไทย ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเรไร ขนมเปียกปูน ขนมไข่ปลา ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง เป็นต้น
สำหรับเครื่องเสวยที่รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก คือ ขนมทองหยอด ดังนั้นขนมตระกูลทองต่างๆ อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น
แนะนำให้ลองข้าวเกรียบว่าว ราคาเพียง 2 สตางค์ ที่ส่งกลิ่นหอมยั่วยวนที่สุด เพราะใช้กรรมวิธีแบบโบราณทุกขั้นตอนจริงๆ ทั้งการนวดแป้ง การปิ้ง อังบนเตาถ่าน และไม่ใช่แค่กลิ่นที่หอมอบอวล แต่รสชาติก็ละมุนจริงๆเจ้าค่ะ
บนเนื้อที่ 60 ไร่ภายในเมืองมัลลิกาประกอบด้วยเรือนไทย 4 ประเภท แต่ละหลังจะสะท้อนภาพสถานะของผู้อยู่อย่างชัดเจน เริ่มจากเรือนเดี่ยว เป็นเรือนชาวบ้าน เป็นที่อยู่ของชนชั้นกรรมาชีพ ชาวนา มีหน้าที่ผลิตปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพด้วยการทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกผัก
ณ เรือนนี้แม่หญิงและเจ้าคุณทั้งหลายจะได้สัมผัสกับภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งต่อไปใช้ในเรือนครัว กระบวนการสีและตำข้าวแบบโบราณเพื่อให้ได้ข้าวสาร
ถัดมาคือเรือนคหบดี ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชั้นปกครอง กิจกรรมบนเรือนนี้จะเน้นไปที่งานฝีมืออย่างงานใบตอง งานดอกไม้ งานเครื่องแขวน งานแกะสลักผลไม้ พื้นที่เรือนครัวที่จะสะท้อนวิถีชีวิตการทำอาหารอย่างวิจิตรงดงามของคนสมัยก่อน เช่น การหุงข้าวเตากระทะ การประกอบอาหารคาวหวานตามแบบฉบับโบราณแท้ๆ
ในส่วนของเรือนหมู่ เป็นเรือนสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองของคหบดี โดยปกติเรือนเหล่านี้มักมีคณะนาฏศิลป์ของตัวเองสำหรับรับแขก ดังนั้นเรือนนี้จะสะท้อนวิถีชีวิตของนาฏศิลป์ไทย รวมทั้งความวิจิตรบรรจงของสำรับกับข้าวไทย
ปิดท้ายด้วยเรือนแพ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้าต่างๆ จำลองบรรยากาศย่านการค้าในอดีต ซึ่งเส้นทางหลักในการสัญจรไปมาคือทางน้ำ ดังนั้นเรือนแพเหล่านี้จึงปลูกไว้ริมน้ำ รายล้อมไปด้วยร้านค้ามากมาย แถมชาวบ้านยังเดินทางไปเรือนต่างๆด้วยการพายเรือล่องตามลำคลองจริงๆให้เห็นกับตาด้วยนะเจ้าคะ
เดินเที่ยวเล่นเพลินจนลืมเวลา รู้สึกตัวอีกทีก็…ค่ำเสียแล้ว
ถ้าไม่อิ่มหนำสำราญ วันพรุ่งค่อยมาเยือนใหม่ วันนี้กลับเรือนเถิดเจ้าค่ะแม่หญิง
เรื่องและภาพ : Red Apple_แพรวดอทคอม