อย่าชะล่าใจ! ปวดท้องเรื้อรัง ท้องเสียบ่อย ถ่ายปนเลือด เสี่ยงเป็น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

Alternative Textaccount_circle

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคที่คนไทยยังรู้จักน้อย แต่มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้น อาการปวดท้องบ่อยๆ ท้องเสียประจำ ถ่ายมีมูก หรือถ่ายมีเลือด เกิดได้กับทุกคน แต่ถ้าอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นเรื้อรังและติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่าชะล่าใจไปเชียว เพราะนั่นเป็นสัญญานเตือนว่าอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็น “ลำไส้อักเสบเรื้อรัง” 

“กลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD (Inflammatory Bowel Disease) เป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก แพร่หลายสำหรับคนไทย เนื่องจากในอดีตเป็นโรคที่มักจะเกิดเฉพาะกับคนในตะวันตกและตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้นและพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงสูงอายุ โดยอายุที่มักเริ่มมีอาการคือ 20-40 ปี ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มของอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์ ประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร แห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เรื่องนี้ไว้ว่า

ด้วยความที่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง IBD มีอาการคล้ายคลึงกับโรคทางระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะ โรคริดสีดวงทวาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS (Irritable Bowel Syndrome) จึงมักทำให้ผู้ป่วยไม่เฉลียวใจว่าอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือด ที่เกิดขึ้นเป็นอาการของ IBD ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ตรงกับโรค ผู้ป่วยจึงเป็นหนักขึ้นและมีอาการอักเสบเรื้อรังยิ่งขึ้น

ผศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ให้ข้อมูลว่า โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานมากผิดปกติ และคิดว่าลำไส้ของตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น คล้ายกับ “โรคพุ่มพวง” ต่างกันที่โรคพุ่มพวงทำให้เกิดการอักเสบได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจะเกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก

“โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ตีบตัน ลำไส้ทะลุ และมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้ ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด” นพ.จุลจักร กล่าว

“เมื่อรู้ตัวว่าป่วย ก็ปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิตทั้งหมด ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด จากที่เคยทานแต่อาหารรสจัด ก็งดในทันที รวมถึงคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน” คุณซาน โตส กุมารี ตัวแทนผู้ป่วยกล่าว ทางด้านคุณฐิรตา กรีใจวัง อีกหนึ่งผู้ป่วยที่เคยละเลยและไม่ทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลัวผลข้างเคียงที่ได้รับจากยา “สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ถ้ามีวินัยในตัวเอง เราสามารถควบคุมมันได้”

นอกจากอาการของโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพราะมักรู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ เกิดความเครียดจากการเจ็บป่วย ทำให้นอนไม่หลับ รู้สึกขาดอิสระในการดำเนินชีวิต และตกอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าจนต้องลาออกจากงาน

“เมื่อทราบว่าตัวเองป่วย จะก็เกิดอาการหดหู่ ส่งผลให้การดำรงชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปมาก กลายเป็นคนขี้กังวล ไม่มีสมาธิ เดิมทีเป็นคนชอบเล่นกีฬา ก็จำเป็นต้องหยุดเล่นกีฬาทุกชนิด เหมือนถูกสมองสั่งให้มองหาห้องน้ำตลอดเวลา ในตอนแรกเราไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร และไม่รู้ว่าจะผ่านมันไปได้อย่างไร แต่ตอนนี้สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ได้แล้ว เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโรคนี้ คือกำลังใจและความเข้าใจจากคนในครอบครัว” คุณบี ฮัว เมอรี่ ตัน ตัวแทนผู้ป่วยที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์กล่าว

เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้การป้องกันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นไปได้ยาก แต่สามารถควบคุมดูแลรักษาโรคให้ดีขึ้น รวมถึงสามารถลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสเกิดอาการกำเริบได้ โดยมักใช้ยาเป็นแนวทางการรักษาหลัก เพื่อทำให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติจนไม่มีอาการผิดปกติใดๆ  แต่เพราะโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น แม้จะได้หยุดยาแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และตรวจติดตามอาการเป็นระยะ เพื่อที่หากโรคเริ่มกลับเป็นซ้ำ จะได้รักษาอาการ ได้ทันท่วงที

แน่นอนว่า! ชีวิตดีแน่ ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง แต่ถึงจะเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง คุณภาพชีวิตก็ยังกลับมาปกติได้ ถ้ารักษาได้เร็ว ฉะนั้น เมื่อมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายมีมูก หรือถ่ายเลือดปน ให้พึงระวัง ไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรค IBD ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือ หากเป็นแล้วก็ยังมีโอกาสจะกลับมาเป็นปกติได้มากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น ถ้ารักษาได้ทันท่วงที


ข้อมูล : แพทยสมาคมฯ และ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร จับมือร่วมให้ความรู้ที่ถูกต้องผ่านเว็บไซต์ ibdthai.com
ภาพ : Pexels

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up