นักออกแบบ

ศิลปินฮ่องกงรุ่นใหม่กับ 5 วิธีที่พวกเขาพลิกโฉมงานดีไซน์ในศตวรรษที่ 21

Alternative Textaccount_circle
นักออกแบบ
นักออกแบบ

ท่ามกลางอุตสาหกรรมออกแบบในเอเชียกำลังผลิบาน และการเติบโตของย่านสร้างสรรค์ในหลายเมืองใหญ่ รู้หรือไม่ว่าเหล่านักออกแบบรุ่นใหม่กำลังสรรหาวิธีในการสร้างสรรค์ผลงานที่ฉีกจากกฎเกณฑ์เดิมๆ โดยผสมผสานองค์ประกอบของวัฒนธรรมเข้าไปในผลงานของตน ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่งปิดฉากไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักออกแบบรุ่นใหม่ชาวฮ่องกง 10 คน จาก 8 แบรนด์ได้ร่วมค้นหาความหมายใหม่ของงานออกแบบสำหรับโลกยุคใหม่ ผ่านการเปิดกระเป๋าเดินทาง 8 ใบ กับนิทรรศการ DXHK-BANGKOK Pocket Worlds ซึ่งจัดโดยศูนย์ออกแบบฮ่องกง (เอชเคดีซี) และสนับสนุนโดย CreateHK แห่งรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และนี่คือ 5 วิธีที่นักออกแบบเหล่านี้กำลังพลิกโฉมอนาคตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย

5 วิธีที่ นักออกแบบ เหล่านี้กำลังพลิกโฉมอนาคตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย
  1. ศิลปินกลับไปค้นหาแรงบันดาลใจ จากรากเหง้าและเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมของตน

เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน นักออกแบบฮ่องกง รวมถึงชาติอื่นๆ ในเอเชีย มักจะหยิบยืมเทคนิคต่างๆ จากศิลปินในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เติบโตกว่า เช่น ยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีนักออกแบบรุ่นใหม่จำนวนมากในฮ่องกงที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับงานดีไซน์ของตน ศิลปินสตรีทอาร์ต นายอังเคิล จัง จาก AfterWorkShop นำเสนอธรรมเนียมจีนในรูปแบบใหม่ผ่านศิลปะบนกำแพง ในขณะเดียวกันก็ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นในการเผยให้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของศิลปะสมัยใหม่อีกด้วย ผลงานของเขา Mr. Waterloo ตัวละครลิงซึ่งเขาได้สร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรกในลอนดอน เป็นการเนรมิตศิลปะบนกำแพงที่โดดเด่นด้วยกลิ่นอายแบบตะวันออก ผ่านการหลอมรวมศิลปะการเขียนอักษร ปีนักษัตรจีน และสีสเปรย์เข้าไว้ด้วยกัน

 

  1. งานออกแบบในฐานะพลังขับเคลื่อนทางนวัตกรรม

สตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมมักมีมืออาชีพด้านเทคโนโลยีหรือผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเป็นผู้บริหารระดับสูง โดยมีนักออกแบบเป็นผู้รับคำสั่งและลงมือทำงานด้านดีไซน์ แต่นางสาว มุย คิโนชิตะ จาก ASA ได้พิสูจน์ว่าการมีนักสร้างสรรค์ในตำแหน่งบริหารจะช่วยเพิ่มศักยภาพของงานดีไซน์ ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมที่เปลี่ยนวิถีชีวิต ตลอดจนเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนได้ ผลงานของเธอ Airluna ไม่ได้เป็นเพียงโคมไฟอัจฉริยะที่สามารถกรองอากาศได้ แต่ความแปลกใหม่ของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อยู่ที่ว่ามันสามารถเข้ากับงานออกแบบภายในทุกๆ แบบได้ และทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในการตกแต่งอย่างแท้จริง

(จากซ้ายไปขวา) สตรีทอาร์ตและตุ๊กตาไวนิลในกระป๋องสเปรย์ขนาดยักษ์โดยนายอังเคิล จัง และโคมไฟกรองอากาศ ซึ่งสามารถแสดงผลคุณภาพอากาศโดยรอบได้ไกลถึง 25 ตารางเมตร โดยนางสาว มุย คิโนชิตะ

  1. ดีไซน์จะถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้น

ความรับผิดชอบทางสังคมมักถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล องค์กรสาธารณะ หรือไม่ก็ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่นักออกแบบรุ่นใหม่กลุ่มนี้กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความเชื่อดังกล่าว และนำงานดีไซน์มาประยุกต์ใช้ในด้านสังคมอย่างเห็นภาพมากขึ้น นางสาว เคย์ แชน จาก Good Day Society สร้างสรรค์ Mobile Bike Market โครงการชุมชนที่ผลักดันให้เกิดโครงสร้างทางธุรกิจแบบใหม่ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขายได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้อ ผ่านการขี่จักรยานไปหากลุ่มเป้าหมายโดยตรงและไม่ต้องอาศัยตลาดแบบถาวร โดยมีจักรยานพร้อมกล่องไม้ที่มีรูปลักษณ์สวยงามสำหรับใส่สินค้าเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของการหาบเร่แผงลอยในสังคมฮ่องกงให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น และเชื่อมคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน

  1. จากตึกสูงระฟ้าโดดเดี่ยวสู่ประสบการณ์ที่แตกต่าง

ภาพตึกสูงเบียดเสียดอาจเป็นภาพจำของฮ่องกงที่หลายคนคุ้นเคยกันดี แต่ในช่วงหลังมานี้ วงการออกแบบภายในของฮ่องกงกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ผ่านองค์ประกอบด้านการตกแต่งกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ นางสาว เคโกะ ลี และ นางสาวโรเซ็ตต้า เลา จาก Unite Unit สตูดิโอซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานดีไซน์ร้านอาหาร และการนำความเป็นมาของเมนูอาหาร และจุดเด่นของทำเลที่ตั้งมาร้อยเรียงในงานของพวกเขาได้อย่างน่าสนใจ ในผลงานชิ้นหนึ่งที่พวกเขาได้มีส่วนร่วม นักออกแบบทั้งสองได้ผสมผสานเอกลักษณ์ของฮ่องกงอย่างแสงไฟนีออนเข้ากับงานด้านกราฟฟิกสมัยใหม่ เพื่อสะท้อนตัวตนของเชฟซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรม และให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศการรับประทานอาหารที่น่าจดจำอย่างแท้จริง

(จากซ้ายไปขวา) คอลลาจผลงานออกแบบร้านอาหารหลายแห่งของ Unite Unit และโมเดลที่แสดงโครงสร้างธุรกิจแบบใหม่ของ Mobile Bike Market โดย Good Day Society

  1. งานดีไซน์ในอนาคตจะมาจากการร่วมมือระหว่างนักออกแบบในสายงานที่ต่างกัน

งานออกแบบมักถูกมองว่าเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นภายในห้องสตูดิโอเล็กๆ โดยศิลปินหนึ่งคน แต่ในปัจจุบันงานดีไซน์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำเนิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะและเป็นผลลัพธ์ของการสร้างสรรค์ร่วมกัน เอชเคดีซีตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างนักออกแบบ และต้องการให้โครงการ DXHK เป็นมากกว่างานนิทรรศการทั่วไป ดังนั้น เหล่านักออกแบบที่ได้ร่วมเดินทางมากแสดงผลงานที่กรุงเทพฯ จึงได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับมืออาชีพมากมายด้วยเช่นกัน

จริงอยู่ที่ผลงานออกแบบหนึ่งชิ้นสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้ แต่การที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการและข้อจำกัดต่างๆ ของสังคมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และที่สำคัญที่สุดคือการร่วมมือระหว่างนักออกแบบในสายงานและพื้นเพต่างกัน แม้ว่าเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ อาจปิดฉากไปแล้ว  แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างนักออกแบบมากมายที่ได้ร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจ เรื่องราว และมิตรภาพที่กำลังรอวันผลิบาน

Praew Recommend

keyboard_arrow_up