‘ธันย่า-ธันยลักษณ์ พรหมมณี’ ผู้มีความรักในแฟชั่นขั้นสุด เธอเปรียบแฟชั่นเป็นงานศิลปะที่เคลื่อนที่ได้ เปี่ยมด้วยความงาม เรื่องราว และเสน่ห์
ชื่อของเธอติดอยู่ในลิสต์ท็อปสเปนเดอร์ของแบรนด์ชั้นนำมากมาย กระทั่งวันหนึ่งที่เธอเริ่มค้นหาตัวตน และพบว่าผ้าไทยคือสิ่งที่สะท้อนถึงตัวเธอได้ดีที่สุด และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Tanya Maithai ที่มีชุดผ้าไทยในครอบครองกว่า 400 ชุด

Fashion & Passion
“ชีวิตของธันย่ามีหลายมุมค่ะ พาร์ตของงานธันย่าทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สำหรับพาร์ตชีวิตส่วนตัวเป็นคุณแม่ลูกหนึ่ง และอีกพาร์ตคือความรักในแฟชั่น (ยิ้ม) ธันย่ามองว่าแต่ละคนมีความชอบและเลือกลงทุนหรือเลือกใช้เงินในสิ่งที่ชอบต่างกันไป
“สำหรับความชื่นชอบในแฟชั่นค่อยๆ ซึมซับมาทีละนิด ย้อนกลับไปสมัยเด็ก ธันย่าเติบโตมาในครอบครัวฐานะปานกลาง มีพี่น้อง 3 คน เป็นผู้ชายหมด เราเป็นผู้หญิงคนเดียว เสื้อผ้าข้าวของจึงได้รับการส่งต่อมาจากของพี่ชายบ้าง (หัวเราะ)
“โดยเฉพาะพวกกางเกงขาสั้น เสื้อยืด ซึ่งมุมหนึ่งก็เข้าใจว่าเสื้อผ้าบางชิ้นยังไม่เก่าเลย แต่อีกมุมเราก็อยากใส่กระโปรงฟรุ้งฟริ้งแบบเด็กผู้หญิง จึงบอกคุณแม่ว่าหนูอยากใส่กระโปรงแบบซินเดอเรลลาบ้างค่ะ ซึ่งท่านก็เข้าใจนะคะ จึงไปสั่งตัดให้ในโอกาสต่างๆ นี่เองที่ทำให้รู้สึกว่านี่แหละคือการแสดงความรักอย่างหนึ่ง และความรักสามารถส่งผ่านเสื้อผ้าได้ (ยิ้ม)
“บวกกับการที่เห็นคุณแม่ใส่เดรสกับเสื้อคลุม คุณยายนุ่งผ้าซิ่นกับเสื้อลูกไม้ ซึ่งเรามาเข้าใจทีหลังว่านี่แหละคือแฟชั่น คือสไตล์ของแต่ละคน และพอวันที่เราทำงาน มีกำลังทรัพย์ของตัวเอง จึงเริ่มจากซื้อเสื้อผ้าสไตล์แมสคิวลีนเท่ๆ ที่มีความคลาสสิก ดูเป็นผู้ใหญ่ที่ได้มาจากคนในครอบครัว ทั้งคุณแม่ คุณพ่อ พี่ชาย ผสมกับสไตล์และตัวตนของเรา จึงมีทั้งความเท่และหวานผสมปนกัน
“แต่ธันย่าไม่ได้ยึดติดอยู่กับสไตล์ใดสไตล์หนึ่งนะคะ แฟชั่นของธันย่าเปลี่ยนไปตามช่วงวัยและบทบาทในขณะนั้น อย่างช่วงวัยรุ่นก็จะใสๆ หน่อย แบบแบรนด์ Morgan, Moschino พอทำงานก็ขยับความเป็นทางการขึ้นมาอีกระดับ Chanel, Dior, Dolce & Gabbana, YSL ต่อด้วย Alexander McQueen, Balmain หรือ Valentino ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่ะ อย่างช่วงตั้งครรภ์เตรียมเป็นคุณแม่ก็มีแฟชั่นอีกแบบนะคะ ซึ่งซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่ชุดคลุมท้องจนถึงช่วงที่ลูกเดินได้ โดยต้องดูเนื้อผ้าที่เหมาะกับการอุ้มลูกด้วย ต้องนุ่มสบาย ไม่บาดผิวเด็ก หรือถ้าตอนป้อนข้าวลูกก็ต้องเช็ดออกได้ ดูแลง่าย ธันย่าจึงไม่ได้แต่งตัวเต็มแน่นตลอด 24 ชั่วโมง แต่จะเลือกให้เหมาะสมตามวาระโอกาสค่ะ (ยิ้ม)

“พอลูกเริ่มโต เข้าโรงเรียน ทำให้ได้กลับมาทำสิ่งที่ชอบอีกครั้ง เพราะไม่อยากเป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างเดียวโดยไม่ดูแลตัวเอง ไม่แต่งตัว เรายังอยากค้นหาตัวตนว่ามีอะไรที่ชอบอีก ซึ่งนั่นก็คือแฟชั่น (ยิ้ม) ธันย่าชอบแมตช์ชุดเตรียมไว้สำหรับโอกาสต่างๆ อย่างลุคโทนสีดำ ลุคสีหวาน หรือลุคสำหรับไปเที่ยวทะเล เสื้อตัวนี้ใส่กับกางเกงนี้ เติมหมวก เติมเครื่องประดับ แล้วแขวนในตู้เสื้อผ้าเตรียมไว้ เมื่อมีโอกาสก็พร้อมหยิบไปใช้ได้เลย ทำให้เห็นด้วยว่าเราซื้อชุดอะไรมาบ้าง มีสีนี้กี่ตัวแล้ว
“คล้ายกับการสร้างคอลเล็คชั่นของตัวเอง (หัวเราะ) อย่างสมมติจะไปเที่ยวทะเลก็แบ่งเป็นชุดต่างๆ ตั้งแต่นั่งรถไปหนึ่งชุด พอไปถึงโรงแรมก็เปลี่ยนอีกชุด ต่อด้วยชุดดินเนอร์ ชุดเดินเล่นริมทะเล หรือรองเท้าก็ต้องมีหลายแบบ ไม่ใช่ว่าไปทะเลแล้วต้องใส่แต่รองเท้าแตะ แต่ต้องเลือกให้เข้ากับชุดนั้นๆ ด้วย ธันย่ามีความสุขและสนุกที่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้
“บางครั้งต้องไปทำงานหรือติดต่อราชการที่ต้องการความเป็นทางการหน่อย ก็อาจจะเลือกแบรนด์ดิออร์ที่มีความเรียบโก้ หรือต้องไปต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่แอร์พอร์ตลุคควรเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นประเทศที่เข้มงวดมาก จะใส่ชุดแบบแฟชั่นจ๋าจัดเต็มก็ไม่เหมาะ เพราะ ตม. (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) อาจสงสัยได้ (หัวเราะ)
“จึงต้องเลือกเดรสโค้ดให้เหมาะกับประเทศที่ไป อย่างช่วงไปดูแฟชั่นโชว์ที่อิตาลีหรือฝรั่งเศส ก็ใส่แฟชั่นลุคแบบจัดเต็มลงเครื่องไปเลย เพราะเขาจะได้เข้าใจว่าเราเข้าประเทศไปด้วยจุดประสงค์อะไร หรือโรงแรมที่เชิญเราไปพัก ถ้าเป็นระดับ 6 ดาว แม้แต่ชุดลงไปกินข้าวเช้าก็ต้องเลือกนะคะ เพราะเราไม่รู้เลยว่าภายในโรงแรมมีแขกท่านใดบ้าง จึงต้องพร้อมและดูดีเสมอ
“หรือถ้าต้องไปงานกาล่าดินเนอร์ ก็ต้องแต่งตัวให้เข้ากับเดรสโค้ดที่ระบุ เพราะเมื่ออยู่ในงานไม่มีใครรู้ว่าคุณเป็นใคร แต่การแต่งตัวจะทำให้เขาอยากเข้าหา หรือทำความรู้จักกับเรา เขาจะมองว่าคุณใส่ชุดนี้เพราะอะไร อ๋อ…เพราะแบรนด์นี้มีเรื่องราว ซึ่งก็สะท้อนไปว่าคุณเป็นคนที่ใส่ใจดีเทล สนใจงานศิลปะ ซึ่งเสื้อผ้าเป็นสิ่งแรกที่สื่อสารกับคนก่อนที่เราจะพูดอะไรออกไปเสียอีก”

ผ้าไทย…แฟชั่นที่สะท้อนตัวตน
“เมื่ออยู่ในวงการแฟชั่นมาสักระยะ คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับธันย่าก็คือ จริงๆ แล้วตัวตนของเราคืออะไร มีบางครั้งที่เวลาไปงานแล้วเราใส่ชุดเหมือนคนอื่น เนื่องจากเป็นชุดเด่นของแบรนด์นั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่า จริงๆ แล้วอัตลักษณ์หรือตัวตนของเราคืออะไร
“กระทั่งวันหนึ่งไปงานของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร แล้วมีหัวโขนประดับอยู่ในบู๊ธ จึงสอบถามว่ามาจากที่ไหน ใครเป็นคนทำ ซึ่งคำตอบคือ เป็นงานฝีมือของชาวบ้าน เช่นกันกับผ้าไทยจากชาวบ้านชุมชนต่างๆ ที่มาจัดแสดง ซึ่งการอุดหนุนสินค้าเหล่านี้ นอกจากได้ครอบครองผ้าสวยๆ แล้ว ยังถือเป็นการช่วยชาวบ้านด้วย และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธันย่าสนใจเรื่องผ้าไทยอย่างจริงจัง
“ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ตอนช่วงอายุ 20 ต้นๆ ที่เริ่มทำงาน ธันย่าเลือกใส่กระโปรงผ้าไทยนะคะ เพราะรู้สึกว่าช่วยเสริมลุคให้ดูสง่างาม แต่กลับโดนแซวว่าดูโตเกินวัย ก็เลยต้องพับเก็บเข้าตู้ไป (หัวเราะ) คือความเป็นเด็กทำให้เราอาจจะฟังเสียงคนอื่นมากกว่าใจตัวเอง แต่ตอนนี้เมื่อชัดเจนแล้วว่าเราชอบอะไร จึงอยากนำความชอบในอดีตกลับมาอีกครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความสุขให้ตัวเองแล้ว การใช้ผ้าไทยยังเป็นการสนับสนุนสินค้าไทย ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
“ธันย่าเริ่มจากการซื้อผ้าไทยลายที่ชอบเป็นม้วนๆ มาเก็บไว้ ก่อนจะตัดเป็นชุดเดรสในแบบที่ชอบ คือเป็นเดรสคอกลม กระโปรงบาน ปรากฏว่าพอใส่ไปงานมีคนทักเยอะมากว่าชุดของอะไร ผ้าอะไร อาจเพราะแพตเทิร์นและสีสันที่สะดุดตา ธันย่าไม่ใช่ดีไซเนอร์ วาดรูปไม่เป็น ไม่รู้วิธีการตัดเย็บ แต่มีไอเดียและแรงบันดาลใจ จึงอาศัยวิธีบอกเล่าไอเดียให้ช่างฟัง เลือกผ้า เลือกสีว่าเราต้องการแบบไหน แล้วให้ช่างตัดเย็บออกมา

“และเวลาได้รับเชิญไปงานที่ต่างประเทศ ถ้าเป็นงานแฟชั่นโชว์ ตามธรรมเนียมเราก็อาจต้องใส่เสื้อผ้าของแบรนด์เขา แต่ถ้าเป็นงานจิเวลรี่หรืออื่นๆ ธันย่าจะเลือกชุดผ้าไทยที่สะท้อนถึงตัวตนของเราจริงๆ อย่างครั้งที่ไปร่วมงานของแบรนด์ Tiffany & Co. ที่ฝรั่งเศส เป็นงานกลางคืน ธันย่าเลือกใส่ชุดเดรสยาวตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ เมื่อแขกในงานเห็นก็ตื่นเต้น ถามว่าชุดของแบรนด์อะไร เนื่องจากตัวผ้ามีความพิเศษแวววาว ธันย่าตอบไปว่า Thai Silk เขาก็ถามต่ออีกว่าคืออะไร มาจากไหน และซื้อได้จากที่ไหน ธันย่าจึงตัดสินใจตอบไปว่าให้ติดต่อผ่านเรา และบอกเขาไปว่าชื่อ Tanya Maithai (ธันย่าไหมไทย) เพื่อให้เขาจดจำได้ว่าเราใส่ชุดผ้าไทยนะ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับอินสตาแกรมด้วยค่ะ (ยิ้ม) จะได้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการ ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยให้ต่างชาติได้ชื่นชม ซึ่งหลังจากนั้นพอมีคนสนใจติดต่อมา ธันย่าก็ช่วยเสาะหาหรือให้คำแนะนำเขาไป ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจค่ะ
“หรือครั้งที่ได้รับเชิญไปร่วมงานของ Van Cleef & Arpels ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ โดยปิดพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ให้แขกคนพิเศษเข้าชม พร้อมเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของเพชรแต่ละชิ้น โดยธันย่าเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับเชิญ จึงเลือกใส่ชุดเดรสที่ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่สีแดง ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากแขกที่มาร่วมงานมากๆ เช่นกันค่ะ ทำให้รู้สึกภูมิใจว่าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและผ้าไทยให้ต่างชาติรู้จัก
กระทั่งทางแบรนด์ Dolce & Gabbana ที่ธันย่าเป็นลูกค้าประจำของเขา ทราบว่าตอนนี้ธันย่าสนใจเรื่องผ้าไทย ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนคนในประเทศ เขาจึงบินมาประเทศไทย และเมื่อทราบว่าเป็นผ้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของโครงการศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เขาประทับใจมาก จึงรับออกแบบตัดเย็บชุดด้วยผ้าไทยให้ธันย่าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการหาผ้าที่เหมาะสมอยู่ค่ะ” (ยิ้ม)

จาก 1 ถึง 100 คอลเล็คชั่นผ้าไทย
“ถ้าถามว่าตอนนี้มีผ้าไทยจำนวนเท่าไร ตอบยากมากค่ะ (ยิ้ม) รวมกันน่าจะประมาณ 5,000 เมตร มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักล้าน (ยิ้ม) โดยธันย่าจะเลือกบางผืนไปตัดเป็นชุดกับช่างประจำที่รู้ใจกันประมาณ 3-4 เจ้า เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เขามีรายได้
“อย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 รายได้ของช่างแทบจะเป็นศูนย์ พอช่างโทร.มาถามว่า มีชุดอะไรให้เขาตัดไหม ธันย่าจึงปิ๊งไอเดียตัดชุดไทยในคอนเซ็ปต์ Social Distancing ให้มีเลเยอร์ มีโครงชัดเจน กระโปรงบานๆ แบบว่าใส่แล้วไม่มีใครเข้าใกล้ได้เลย (หัวเราะ) จากนั้นก็เลือกผ้าและบอกไอเดียช่างว่าอยากได้แบบไหนบ้าง ซึ่งความจริงช่วงนี้ก็ยังไม่ได้ใส่ออกงานที่ไหน แต่ธันย่าอยากให้ช่างมีรายได้ในช่วงสถานการณ์แบบนี้
“นอกจากความสุขที่ได้ใส่ชุดผ้าไทย อีกหนึ่งอย่างที่ตามมาคือ ธันย่าสนุกกับเรื่องราวระหว่างทาง การเดินทางไปตามหาผ้าไทยใน ชุมชนต่างๆ การที่ได้ศึกษาและลงลึกเกี่ยวกับผ้าแต่ละชนิด รวมถึงการดูแลรักษาผ้าแต่ละชนิดด้วย
“เมื่อก่อนธันย่าจะซื้อผ้าจากงานออกร้านต่างๆ ในกรุงเทพฯที่มีชาวบ้านจากหลายๆ ชุมชน มารวมตัวกัน แต่พอเราเริ่มลงลึกไปถึงลักษณะเฉพาะของผ้าแต่ละชุมชน อย่างผ้าทอจากชุมชนนี้มีเนื้อสัมผัสแตกต่างจากชุมชนนั้นเพราะอะไร ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัดที่ส่งผลต่อการเลี้ยงหม่อนไหม อย่างภาคอีสานจะผลิตใยไหมได้มากที่สุด เนื่องจากอากาศร้อน แต่ถ้าเป็นภาคเหนืออากาศเย็น ไหมจะหดตัว ทำให้มีความเหนียวกว่า รวมถึงการทอลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้ธันย่าอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น และอยากออกเดินทางไปตามหาผ้าที่ต้นกำเนิดด้วยตัวเอง
“และเวลาที่ได้ลงพื้นที่ไปตามชุมชน ยิ่งช่วงที่มีงานเทศกาล ชาวบ้านจะแต่งตัวด้วยผ้าที่ตัวเองทอมารวมตัวกัน ได้เห็นการมิกซ์แอนด์แมตช์ผ้าไทยในหลายแบบ สำหรับธันย่า นี่เป็นเหมือนงานแฟชั่นโชว์เลยนะคะ” (ยิ้ม)
ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 960
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ใช้เงินคุ้มค่า! ชมพู่-อารยา ซื้อเสื้อผ้าลูกแฝดแค่หลักร้อย เพราะเด็กโตไว
เพราะอะไร ปี 2020 ‘ดัชเชสเคท’ ทรงอิทธิพลด้านแฟชั่นมากกว่า ‘ดัชเชสเมแกน’
ไลฟ์สดอวดท้องโต! จีจี้ ฮาดิด จากนางแบบลุคเป๊ะ มาเป็นคุณแม่สายชิลในชุดนอน