ใครจะคิดว่า “ฮอร์โมน” ที่เรามักนึกถึงในผู้หญิง จริงๆ แล้วก็สำคัญกับผู้ชายไม่แพ้กัน! ในโอกาส วันฮอร์โมนโลก 24 เมษายน 2568 ที่จัดขึ้นโดย มูลนิธิฮอร์โมนและการเผาผลาญแห่งยุโรป (ESE Foundation) และ สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งยุโรป (The European Society of Endocrinology) มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพฮอร์โมนของตัวเอง ภายใต้แนวคิดที่ตรงใจสุดๆ ว่า “สุขภาพดี เริ่มที่ใส่ใจฮอร์โมน” โดยเฉพาะผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป ต้องไม่มองข้าม! เพราะข้อมูลจาก Besins Healthcare ชี้ว่าผู้ชายในวัยนี้กว่า 40-60% กำลังเผชิญปัญหา ฮอร์โมนเพศชาย ลดลง โดยไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ
เช็กสัญญาณอันตราย ฮอร์โมนต่ำใช่ไหม?
หลายคนอาจรู้สึกว่า “ก็แค่เหนื่อย” หรือ “แค่นอนไม่พอ” แต่ลองดูสิว่า… คุณมีอาการเหล่านี้หรือเปล่า?
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
- กล้ามเนื้อลด ไขมันเพิ่ม
- ขาดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต
ถ้ามีหลายข้อต้องระวัง อาจเป็นสัญญาณของ ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Deficiency Syndrome – TDS) ซึ่งไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องเพศเท่านั้นนะ แต่ยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหลายอย่าง ทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง และโรคอ้วนลงพุงด้วย
เช็กง่ายๆ ด้วย “ADAM Check”
เบื้องต้นสามารถประเมินความเสี่ยงได้ด้วย แบบประเมิน ADAM Check (ถามตอบไม่กี่ข้อ) ถ้าผลออกมาน่าสงสัย แนะนำให้รีบไปตรวจระดับฮอร์โมนกับแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อจะได้วางแผนดูแลร่างกายให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม
ถ้าตรวจแล้วเจอว่าฮอร์โมนพร่อง… รักษาอย่างไร?
ไม่ต้องตกใจ การฟื้นฟูฮอร์โมนในปัจจุบันทำได้หลายวิธี แถมปลอดภัยกว่าที่คิด ตัวอย่างการรักษา อาทิ
- แบบกิน – สะดวก แต่ระยะยาวอาจกระทบตับ และดูดซึมได้ไม่เต็มที่
- แบบฉีด – เห็นผลเร็ว แต่ฮอร์โมนอาจแกว่ง
- แบบทา (เจล) – ได้รับความนิยมมากขึ้น ปลอดภัย ไม่เจ็บ ใช้เองที่บ้านได้ (ทาบริเวณไหล่ ต้นแขน หรือหน้าท้อง ในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อให้ฮอร์โมนคงที่)
ฟื้นร่าง ฟื้นใจ ด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ อย่าพึ่งพาแต่ยา ถ้าจะให้ผลดีระยะยาว ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, นอนให้พอ, เลี่ยงบุหรี่และแอลกอฮอล์, ลดความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชอบ
การดูแลฮอร์โมน คือการดูแลคุณภาพชีวิต เพราะเมื่อร่างกายและใจอยู่ในสมดุล ผู้ชายก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มพลังอีกครั้ง จำไว้! อย่าคิดว่า “ฮอร์โมน” เป็นเรื่องไกลตัว
Photo: Pexels