เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ขณะเกิดเหตุหลายคนหลงคิดว่าตัวเองหน้ามืด ตาลาย เวียนหัวเหมือนบ้านหมุน เพราะทำงานหนัก ไม่มีใครคิดว่าแผ่นดินไหวเลย นั่นเพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งจะประสบพบเจอแผ่นดินไหวในประเทศไทย ซึ่งหลังจากเหตุแผ่นดินไหวสงบ นอกจากความตื่นตระหนก และวิตกกังวลที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไปแล้ว ข้าวของและสิ่งก่อสร้างบางที่ก็ได้รับความเสียหาย รวมถึงมีอาการตอบสนองต่อร่างกายยังไม่จบเป็นอาการต่อเนื่องด้วย ซึ่งกลุ่มอาการต่อไปนี้ที่ญี่ปุ่นอาจเป็นเรื่องปกติในการรับมือเพราะเกิดแผ่นดินไหวบ่อย แต่ในไทยที่เพิ่งเกิดเหตุแบบนี้ครั้งแรก ก็ต้องเตรียมการรับมือไว้ ในการสังเกตตัวเองว่าจะมีอาการอะไรบ้าง ที่อาจเกิดต่อร่างกาย จิตใจหลังแผ่นดินไหว
เช็คอาการและความต่างระหว่าง ‘สมองเมาแผ่นดินไหว’ และ ‘สมองหลอนแผ่นดินไหว’
คนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีอาการเวียนหัว โยกคลอน ใจสั่น ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว สาเหตุหลักมาจาก โรคสมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk) กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome หรือ PEDS) ที่จะรู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ คล้ายกับความโคลงเคลงที่รู้สึกหลังจากลงจากเรือ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “อาการป่วยจากแผ่นดินไหว” หรือ “จิชิน-โยอิ” (แปลตรงตัวว่า “เมาแผ่นดินไหว” ในภาษาญี่ปุ่น) การศึกษาชี้ว่าอาการนี้อาจเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัว (vestibular system) ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ควบคุมความสมดุล การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระบบนี้เสียสมดุล ส่งผลให้สมองพยายามปรับความรู้สึกให้กลับมาปกติอย่างยากลำบาก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วย และอาการนี้อาจรุนแรงขึ้นในคนที่ไวต่อการเมารถอยู่แล้ว หรือในคนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการสั่นไหวจะรู้สึกชัดเจนกว่า
ระยะเวลาของอาการทางร่างกายเหล่านี้แตกต่างกันไป ในหลายคน อาการวิงเวียนจะค่อยๆ หายไปภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเมื่อร่างกายปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุในญี่ปุ่นปี 2011 (ขนาด 9.0) หรือแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในปี 2016 พบว่าบางคนมีปัญหาการทรงตัวนานถึงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การศึกษาหนึ่งพบว่า มากกว่า 42% ของผู้ที่ถูกสำรวจรายงานถึง “ความรู้สึกโคลงเคลงที่เหมือนภาพลวงตา” ในช่วงหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ
ภาพ: Pexels
ขอบคุณข้อมูล: ผศ. นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official)