7 เทรนด์กินดีมีสุขปี 2024 เน้นคุณภาพ-ทำอาหารเอง-กินอย่างยั่งยืน

7 เทรนด์กินดีมีสุขปี 2024 เน้นคุณภาพ-ทำอาหารเอง-กินอย่างยั่งยืน

Alternative Textaccount_circle
7 เทรนด์กินดีมีสุขปี 2024 เน้นคุณภาพ-ทำอาหารเอง-กินอย่างยั่งยืน
7 เทรนด์กินดีมีสุขปี 2024 เน้นคุณภาพ-ทำอาหารเอง-กินอย่างยั่งยืน

ต้อนรับปีมังกรทองด้วยการดูแลสุขภาพด้วยไลฟ์สไตล์แบบวิถีใหม่ ทั้งพฤติกรรมการกินอาหาร ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ พร้อมเผยศาสตร์นวัตกรรมอาหารและสุขภาพ จากผลสำรวจของ Euromonitor ในปีที่ 2023 ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยวัยทำงานยุคหลังโควิด มีการใช้ชีวิตอยู่แบบประจำที่มากขึ้น เช่น การนั่งทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอาการเจ็บป่วย เมื่อไม่ได้ขยับร่างกายจึงส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมากยิ่งขึ้น หลายคนพยายามปรับไลฟ์สไตล์ด้านอาหารการกิน หรือแม้แต่การออกกำลังกาย แต่ก็ทำได้ยากเพราะพบกับข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่มีเวลาทำอาหารกินเอง ขาดทักษะทำอาหาร โดยพบว่าคนไทย 1 ใน 4 กำลังควบคุมอาหาร 65% ให้ความสำคัญกับส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และ 41% ใส่ใจในเรื่องฉลากโภชนาการบนสินค้า เมื่อจะซื้อสินค้าหรือบริการ ผู้บริโภค 65% รู้สึกว่าสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโลกด้วยทางเลือกและพฤติกรรมของพวกเขาได้

นอกจากนี้ คนไทยยังจัดสรรเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น โดย 66% นิยมออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งที่บ้าน ออนไลน์ หรือฟิตเนส 58% บริโภคอาหารเสริมหรือวิตามินเพื่อสุขภาพเป็นประจำ และยังนิยมใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพในการติดตามและวัดผลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิตมากขึ้น แม้หลายคนอาจเห็นว่า การปรับไลฟ์สไตล์ด้านอาหารที่ดีที่สุด คือการทำอาหารกินเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้การทำอาหารกินเองเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่มีเวลาออกไปซื้อของและเข้าครัว รวมถึงขาดทักษะการทำอาหาร

เผย 7 เทรนด์กินดีมีสุขปี 2024

  1. กินดี อร่อย เน้นคุณภาพ ผู้บริโภคยุคใหม่จะใส่ใจกับส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เน้นการควบคุมอาหารที่กินในแต่ละวันเพื่อควบคุมน้ำหนักและสารอาหารที่เหมาะสม เช่น การลดหวาน มัน เค็ม หรือลดโซเดียมเพื่อสุขภาพที่ดี แต่ยังคงความอร่อย ผู้บริโภคยังยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับซื้ออาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยจะซื้อสินค้ากับร้านค้าและแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ
  2. ใส่ใจฉลากโภชนาการ อ่านส่วนผสมและคุณค่าทางโภชนาการ ที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้กินอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง
  3. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนไทยที่นิยมการออกกำลังกายมากขึ้น จึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ให้พลังงานและบำรุงร่างกาย เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ผู้คนจึงให้ความใส่ใจกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อและข้อต่อมากยิ่งขึ้น
  4. ทำอาหาร เครื่องดื่มกินเอง คนไทยจะนิยมทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากคุ้นชินจากช่วงโควิด นอกจากนี้ การทำอาหารกินเองยังตอบอินไซต์คนไทยที่ใส่ใจกับส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยใช้เครื่องปรุงรสช่วยเพิ่มรสชาติหรือลดขั้นตอนในการทำอาหารให้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เทรนด์การชงกาแฟทานเองที่บ้าน (home café) ก็มาแรงในกลุ่มคอกาแฟ ช่วยให้ครีเอทเมนูโดนใจได้หลากหลายรสชาติ
  5. อาหารสายกรีน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคยุคใหม่จะเห็นความสำคัญของการบริโภคที่รักษ์โลกมากขึ้น เช่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยหันมาสนใจกินอาหารหรือทำอาหารที่มีวัตถุดิบจากพืช (plant-base foods) มากขึ้น ซื้ออาหารที่มีแหล่งผลิตหรือเป็นสินค้าท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อลดการเกิด carbon footprints และยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอาหาร ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และอยากสนับสนุนสินค้าที่มีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน
  6. ใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพกายใจ ใช้อุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น smart watch ในการประมวลผลการดูแลสุขภาพ ใช้ AI ในการวิเคราะห์การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล และยังมีการใช้แอปพลิเคชันสุขภาพมากขึ้น เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหารและคำนวณแคลอรี่ แอปคำนวณการดื่มน้ำ เครื่องช่วยนอนหลับ หรือการปรึกษาสุขภาพออนไลน์ (tele-medicine)
  7. มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่บ้าน และเห็นได้ชัดจากงานแข่งวิ่งที่เป็นเทรนด์ฮิตมากในช่วง 1-2 ปีนี้ อีกทั้งยังมีการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยให้รางวัลตัวเองด้วยการไปนวด ทำสปา เข้ารับคำปรึกษาหรือการบำบัด เพื่อความเป็นอยู่ดีที่ขึ้น

Source: อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ผู้บุกเบิกในการค้นคว้าศาสตร์แห่งกรดอะมิโน โดยพัฒนาองค์ความรู้และค้นพบนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมความอยู่ดีมีสุข
Photo: Pexels


Praew Recommend

keyboard_arrow_up