โควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม

อัพเดต โควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม ในไทย แนะกลุ่มเสี่ยงรับเข็มกระตุ้นปีละครั้ง

Alternative Textaccount_circle
โควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม
โควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม

เป็นไปตามที่หลายภาคส่วนคาดการณ์เกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกระลอก หลังช่วงวันหยุดยาวและการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์[1] กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 พบว่าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหลักในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ลูกผสม คิดเป็น 86.8% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74% ในเกือบทุกเขตสุขภาพ โดยสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือ XBB.1.16 คิดเป็น 27.7% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็น 22.0% โดยทั้งสองสายพันธุ์มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งคู่ แต่สายพันธุ์ XBB.1.16 สามารถแพร่กระจายได้ดีกว่า ขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง

ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนในการปฏิบัติตัวอย่างระมัดระวัง เช่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยหากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะได้รับการเสริมภูมิคุ้มกัน เนื่องจากหากได้รับเชื้อ จะเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง และเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ 

ปัจจุบัน นอกจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วยังมี LAAB (ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป) ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้โดยออกฤทธิ์ใน 6 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเอง ซึ่งตามปกติแล้วร่างกายจะใช้เวลาในสร้างภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ สำหรับการฉีดวัคซีนทั่วไป ดังนั้น LAAB จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน แนะนำให้เว้น 2 สัปดาห์ แล้วจึงฉีด LAAB[2]
  • ผู้ที่เคยได้รับ LAAB  มาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน แนะนำให้ฉีด LAAB เข็มที่ 2[3]
  • ผู้ที่เคยได้รับ LAAB เข็มที่ 2 มาแล้ว แนะนำให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือน แล้วจึงกลับมารับ LAAB ซ้ำ[4]

สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง และได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มสุดท้ายนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป สามารถเลือกรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นชนิดใดก็ได้ตามความสมัครใจ ซึ่งแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่ให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ต่างกัน

สอดคล้องกับที่ กรมควบคุมโรค[5] กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าสุด ซึ่งได้แนะนำให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง เริ่มต้นปี 2566 เป็นต้นไป โดยฉีดห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลของการแพร่ระบาด โดยสามารถฉีดพร้อมวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในวันเดียวกันได้

โดยสถานที่ฉีดในสังกัดหน่วยงานรัฐเริ่มกลับมาเปิดให้บริการเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ สำหรับวัคซีนที่ให้บริการจะประกอบไปด้วย วัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ วัคซีนชนิด mRNA และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ตามที่กล่าวข้างต้น สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบวันและเวลาในการขอรับบริการได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422, กรมการแพทย์ โทร. 02 590 6000 และ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 02 203 2883


ภาพ : Pexels
อ้างอิง

[1] https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1878
[2] https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=181
[3] https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=181
[4] https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=181
[5] https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1417120230426124113.pdf

Praew Recommend

keyboard_arrow_up