โควิด

เช็กอาการ โควิด XBB.1.16 ต่างจากสายพันธุ์เดิมอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
โควิด
โควิด

อย่าลืมว่า โควิด ยังคงอยู่รอบตัวเรา ไม่หายจากไปไหน ล่าสุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่คาดกันว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกในช่วงต่อจากนี้ เนื่องจากแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งในประเทศไทยก็พบผู้ป่วยโควิด XBB.1.16 แล้วจำนวน 6 ราย

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือมีชื่อเรียกว่า อาร์คทูรัส (Arcturus) เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ BA.2.10.1 และ BA.2.75 โดยสายพันธุ์ XBB.1.16 พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566 ก่อนจะเริ่มระบาด ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้โควิด  XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (Variant Under Monitoring) และในปัจจุบันโควิด XBB.1.16 แพร่กระจายไปมากกว่า 20 ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยที่เริ่มพบผู้ป่วยบ้างแล้ว

โดยอาการที่พบได้ทั่วไปมีความคล้ายคลึงกับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ มีไข้ขึ้นสูงปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นคัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และไม่สบายท้อง แต่ที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ก็คือ พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 จำนวนหนึ่งที่มีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ทำให้มีอาการคล้ายตาแดง คันตา ระคายเคืองตา ขี้ตาเหนียว เปลือกตาลืมไม่ขึ้น หรือบางคนก็มีอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ส่งผลให้มีเลือดกำเดาออกจากจมูกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ยืนยันอย่างชัดเจนว่า โควิด XBB.1.16 มีส่วนทำให้ตาแดงได้จริงหรือไม่ เนื่องจากอาการตาแดงอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ไอ-จามมากๆ จนเส้นเลือดฝอยในตาแตก เป็นต้น จึงต้องรอการศึกษาที่แน่ชัดต่อไป

ทางด้าน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดไปทั่วโลกต่อจาก XBB.1.5 โดยยกข้อมูลการศึกษาของ Weiland J ที่พบว่า XBB.1.16 มีอัตราการแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้สูงกว่าโอมิครอน สายพันธุ์ BA2.75, BA.5, XBB.1

สอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า XBB.1.16 มีสมรรถนะในการแพร่สูงกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 อย่างชัดเจน แต่มีระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆ กัน ดังนั้นจึงคาดว่าสมรรถนะการแพร่ที่สูงขึ้นของ XBB.1.16 อาจมาจากการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนามที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์ก่อนหน้า โดย XBB.x ถือเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก อีกทั้งยังดื้อต่อแอนติบอดีที่ใช้รักษาด้วย

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาว่า โควิด XBB.1.16 สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ XBB.1 และ XBB.1.5 ราว 1.17-1.27 เท่า และยังมีฤทธิ์ต้านทานแอนติบอดีโควิด 19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น โควิด XBB.1.16 จึงมีศักยภาพที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โควิด XBB.1.16 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน อีกทั้งสามารถจับกับเซลล์ต่างๆ ได้ดีขึ้น อย่างเช่นจับกับเซลล์เยื่อบุตา เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้โควิด XBB.1.16 จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและติดเชื้อได้ง่าย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานบ่งชี้ว่าผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 จะมีอาการรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากโควิดสายพันธุ์เดิมแต่อย่างใด 

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างที่ใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ จึงควรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประจำปี และหากมีอาการเจ็บป่วยต้องสงสัย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบตรวจเช็ค ATK เบื้องต้น


ข้อมูล : www.channelnewsasia.com
ภาพ : Pexels

Praew Recommend

keyboard_arrow_up