กัญชาทางการแพทย์

‘กัญชาทางการแพทย์’ รักษาโรคผิวหนังและเวชสำอาง แบบไหนที่ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท

Alternative Textaccount_circle
กัญชาทางการแพทย์
กัญชาทางการแพทย์

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ให้ความรู้เรื่องคุณสมบัติของ กัญชาทางการแพทย์ที่รักษาโรคผิวหนังเกี่ยวข้องกับการอักเสบของผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงินโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง สิว โรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด และโรคผมร่วงบางชนิด เป็นต้น และนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเวชสำอางได้

กัญชา เป็นพืชสกุล Cannabis มีสารประกอบแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ ระบบการทำงานของ Cannabinoid ในผิวหนัง มีความเกี่ยวข้องกับรักษาสภาวะสมดุลของผิวหนัง ความแข็งแรงของผิวหนัง รวมถึงการซ่อมแซมตนเองของผิวหนัง

โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในกัญชา คือ

1. Delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) สาร THC ในกัญชามีผลต่อจิตประสาท แต่ก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้อยากอาหาร

2. Cannabidiol (CBD) สาร CBD ในกัญชามีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดการชักเกร็ง ช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย และมีคุณสมบัติยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง

3. Terpenes (สารเทอร์ปีน) สารเทอร์ปีนในกัญชาจะให้กลิ่นและรสชาติเฉพาะของกัญชา มีคุณสมบัติช่วยในการบำบัดรักษาโรค และยังเป็นตัวเสริมฤทธิ์โดยทำงานร่วมกับสารแคนนาบินอยด์

กัญชาทางการแพทย์ 1

เนื่องจากสรรพคุณในการต้านการอักเสบ (anti-inflammation) ของสารประกอบในกัญชา ทำให้เริ่มมีความสนใจในการนำกัญชามารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง สิว โรคมะเร็งผิวหนังบางชนิดโรคผมร่วงบางชนิด เป็นต้น

มีการค้นพบว่าการทำงานของ cannabinoid ในผิวหนัง มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการรักษาสภาวะสมดุลของผิวหนัง ความแข็งแรงของผิวหนัง ตลอดจนการซ่อมแซมตนเองของผิวหนัง มีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory effects) ตลอดจนฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant properties)

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่สนับสนุน ว่าสารประกอบในกัญชาสามารถกระตุ้น CB1 และ CB2 receptor ที่อยู่บริเวณเส้นประสาทรับความรู้สึกของผิวหนัง และที่เซลล์ผิวหนังสามารถช่วยลดอาการคันได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สถาบันโรคผิวหนังจึงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และพัฒนากัญชาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคผิวหนังต่างๆ และนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเวชสำอาง

โดยจะเลือกใช้เฉพาะสาร cannabidiol (CBD) และ terpenes เนื่องจากไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท จึงมีความปลอดภัยในการใช้มากกว่า THC วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับอาการแต่ละโรค โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นยาทา และอาจมีการกิน หรือหยดน้ำมัน CBD ร่วมด้วยในการรักษา สารสกัดกัญชานอกจากจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคทางผิวหนังแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เวชสำอางได้


ข้อมูล : กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up