วิกฤตวัยกลางคน

รู้เท่าทัน วิกฤตวัยกลางคน กับดักใหญ่ของเหล่าคุณแม่ 

Alternative Textaccount_circle
วิกฤตวัยกลางคน
วิกฤตวัยกลางคน

ปรากฏการณ์ของผู้หญิงไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากงานวิจัยสถาบันป๋วย อึ้งภากร พบว่า ผู้หญิงไทยที่จบปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น แต่งงานช้าลง และมีลูกน้อยลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่กดดัน หลายคนจึงเลือกหน้าที่การงานมาก่อน ส่วนที่เลือกครอบครัวและก้าวเข้าสู่บทบาทของ Working MOM ก็ต้องเก่งต้องแกร่งทั้งในบ้านและนอกบ้าน 

รู้เท่าทัน วิกฤตวัยกลางคน กับดักใหญ่ของเหล่าคุณแม่

พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและยังเป็นคุณแม่ลูกสาม กล่าวว่า การดูแลสุขภาพก่อนป่วยเป็นสิ่งสำคัญ คนเป็นแม่ในปัจจุบันต้องดูแลตัวเองให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ Body (ร่างกาย) Soul (จิตใจ) และ Spirit (จิตวิญญาณ) โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ในช่วงของ วิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) นอกจากการดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง ตรวจสุขภาพทุกปี เฝ้าระวังโรคภัยไข้เจ็บไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิต โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ดูแลเรื่องของจิตใจ เช่น ความเครียด อาการวิตกกังวล (Panic) นอนไม่หลับ ฯลฯ ส่วนที่นับว่ายากที่สุดคือ ด้านจิตวิญญาณ 

วิกฤตวัยกลางคน 2

คำว่า วิกฤตวัยกลางคน  Midlife Crisis หมายถึงกลุ่มคนอายุ 35 – 50 ปี ที่มักเป็น Sandwich Generation ที่ต้องรับมือกับภารกิจในบ้าน ต้องเลี้ยงดูลูก ดูแลพ่อแม่ รวมทั้งดูแลสามี ทำให้รู้สึกเหมือนถูกบีบอัดจากทุกด้านจนกลายเป็นความเครียด จนผลให้นอนไม่หลับมีปัญหาสุขภาพ จนถึงปัญหาในครอบครัว  

หลายคนเมื่อเป็นแม่จะมีความตั้งใจเป็นแม่ที่ดีที่สุดจนเกิดความคาดหวังต้องการให้ลูกเก่ง มีความเป็นเลิศ กลับกลายเป็นการสร้างความกดดันให้กับลูกจนเกิดบาดแผลในใจ กลายเป็นคนเก็บกด เป็นโรคซึมเศร้าจนถึงกับเลือกเดินเส้นทางผิดก็มี 

วิกฤตวัยกลางคน 3

หมอจึงอยากให้แม่ดูแลตัวเองก่อนทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ เมื่อเติมเต็มตัวเองพร้อมแล้วจึงจะสามารถไปดูแลคนรอบข้างได้ โดยไม่ปล่อยคำพูดที่จะไปทำร้ายคนอื่น จนกลับมารู้สึกผิดที่หลัง

และนี่คือสัญญาณเตือนความไม่สมดุลของร่างกายก่อนเกิดโรคเรื้อรัง 6 กลุ่มหลัก

1. อาหารไม่ย่อย ขับถ่ายไม่สะดวก กรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน ถ่ายออกมามีกลิ่นเหม็นเน่า ปวดท้องเรื้อรัง  

2. มีปัญหาการนอน เช่น นอนกระสับกระส่าย ฝันวุ่นวาย ตื่นมาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยครั้ง  

3. ตื่นนอนมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลียเรื้อรัง  

4. ปวดตามตัว ไมเกรน ตึงคอบ่าไหล่ ปวดหลังปวดข้อเรื้อรัง  

5. หน้าตาผิวพรรณไม่ผ่องใส มีฝ้า มีกระ ผมร่วงมากกว่าปกติ  

6. อารมณ์แปรปรวน เครียด โมโหร้าย วิตกกังวล ซึมเศร้า 

เหล่านี้คือสัญญาณความไม่สมดุลของร่างกายที่บ่งบอกว่าคุณแม่ควรได้รับการตรวจเช็คและดูแลตัวเองก่อน เพราะเมื่อใดที่คุณแม่พร้อม ไม่เพียงสามารถดูแลลูกและครอบครัวให้มีความสุข แต่พลังงานที่มีอยู่เต็มเปี่ยมนั้นจะเหนี่ยวนำสิ่งต่างๆ รอบข้างให้ดีขึ้นเช่นกัน  

ที่สำคัญคือ คุณแม่ที่แข็งแรงทั้งกายใจสามารถไปดูแลคนอื่นรอบข้างได้อีกเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพัน เป็นการขยายพลังงานดีๆ ส่งต่อไปให้กับผู้อื่นอีกทอดหนึ่งได้ 


ข้อมูล : พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ Jin Wellness โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up