สงสัยไหม..จำเป็นต้องตรวจสุขภาพหรือไม่ เริ่มตรวจอายุเท่าไร โปรแกรมไหนดี

Alternative Textaccount_circle

ใกล้ช่วงหยุดยาวหลายวัน ทั้งเที่ยว ทั้งกิน ทั้งดื่มกันเต็มที่ใช่ไหมคะ แต่อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ บางคนชอบละเลยมองข้ามเรื่องสุขภาพ เพราะยังไม่รู้สึกเจ็บป่วย แพรวดอทคอม จะบอกให้ค่ะว่า ตรวจสุขภาพสำคัญอย่างไร จำเป็นต้องตรวจหรือไม่ เริ่มตรวจตั้งแต่อายุเท่าไรดี…

เชื่อว่าหลายท่านคงมีคำถามเหล่านี้ในใจ คำตอบก็คือสำคัญมากค่ะ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันสูงถ้าเป็นระยะแรกมักไม่มีอาการแต่ถ้าปล่อยไว้ก็จะลุกลามกลายเป็นโรคเรื้อรังรักษายาก เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง ซึ่งโรคเรื้อรังเหล่านี้สามารถป้องกันรักษาหายได้ถ้ารู้ปัญหาตั้งแต่ระยะแรก แต่คนส่วนใหญ่มักรอมีเหตุหรืออาการก่อนจึงค่อยมาตรวจสุขภาพกัน การตรวจสุขภาพเป็นการหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค บางโรคมีความผิดปกติซ่อนอยู่ แอบแฝงอยู่เป็นปีๆ แต่ยังไม่แสดงอาการ การที่เราตรวจก่อนก็จะได้รู้ถึงความเสี่ยง หรือโอกาสที่จะเป็น เพื่อจะได้หาทางป้องกัน และบางโรคถ้าตรวจเจอก่อน ก็มีโอกาสรักษาให้หายมากกว่าเจอในขั้นที่รุนแรงแล้ว

แล้วใครบ้างที่ต้องตรวจสุขภาพ พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Addlife Total Check Up Center ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้แนะนำว่า ทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพ โดยทั่วไปเริ่มตรวจสุขภาพได้ตั้งแต่อายุ 30 ทั้งนี้ขึ้นกับภาวะสุขภาพ อายุ ประวัติครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพ วัยทำงานซึ่งเครียดพักผ่อนน้อยไม่มีเวลาออกกำลังกาย มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน วัยผู้สูงอายุ เพศหญิง เพศชายมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน หรือบางคนที่มีความเสี่ยงมากก็อาจต้องได้รับการตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติม ซึ่งเหล่านี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินแนะนำโปรแกรมการตรวจที่เหมาะกับแต่ละบุคคล โปรแกรมตรวจสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องตรวจละเอียดเพิ่มเติมตามวัย ร่างกายเสื่อมถอยมากขึ้นความเสี่ยงโรคต่างๆ ก็สูงขึ้น

อายุ 30-40 ปี เป็นวัยทำงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต การทานอาหาร จึงควรรับการตรวจสายตา ความดันลูกตา ระบบเม็ดเลือด น้ำตาล ไขมัน  ค่าการทำงานตับ ค่าการทำงานไต กรดยูริก ความยืดหยุ่นหลอดเลือด เอ็กซ์เรย์ปอด อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ตรวจการทำงานหัวใจ เช่น EKG ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ

อายุ 40-50 ปี ตรวจพื้นฐานเหมือนกับอายุ 30-40ปี และตรวจเพิ่มเติมละเอียดมากขึ้น เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็ง ตรวจฮอร์โมน การทำงานของปอด ตรวจการทำงานหัวใจที่ละเอียดมากขึ้น เช่น EXERCISE STRESS TEST, ECHOCARDIOGRAM VO2Max และสำหรับชาย หญิงจะมีการตรวจที่แตกต่างกันและเพิ่มเติมอีกคือ

  • ผู้หญิง ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง Mammogram แต่อาจต้องตรวจเร็วกว่านี้ถ้ามีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี ในครอบครัว
  • ผู้ชาย ตรวจต่อมลูกหมากและตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป การตรวจก็จะตรวจพื้นฐานเหมือนกับอายุ 40-50 ปี และตรวจเพิ่มเติมเน้นค้นหาโรค เนื่องจากพบว่าปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และภูมิคุ้มกันลดลงเป็นหวัดบ่อย  เช่น

  • ตรวจวัดระดับสารอาหารวิตามิน เช่น วิตามินดี
  • CT Heart Calcium Score ตรวจหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • MRI and MRA Brain ตรวจดูเนื้อสมอง โรคสมองขาดเลือด เนื้อสมองฝ่อ มะเร็งสมอง
  • Low Dose CT Scan Lung ตรวจโรคปอด มะเร็งปอด
  • CT Intra-Abdominal Fat วัดปริมาณไขมันในช่องท้องซึ่งสัมพันธ์กับ(หรือบอกความเสื่ยง)โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคความดันโลหิตสูง
  • Carotid Intima Thickness and Color Doppler ตรวจวัดการอุดตันและการไหลเวียนเลือดของเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจยีน (Gene Testing) เพื่อหาความเสี่ยงการเกิดโรคก็มีความสำคัญ สามารถบอกความเสี่ยงการเกิดโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอให้ผลเลือดผิดปกติ ช่วยวางแผนดูแลสุขภาพทั้งการออกกำลังกาย อาหาร การตรวจทางการแพทย์ที่เหมาะสมตามความเสี่ยงทางพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพเราควรคำนึงถึงสถานที่ตรวจสุขภาพ ควรเป็นสถานที่สะอาด ปลอดเชื้อ ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค เพราะเมื่อตรวจสุขภาพแล้ว เราก็จะได้ทราบถึงสุขภาพโดยรวม เพื่อจะได้หาวิธีดูแลและป้องกัน  ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดีและปราศจากโรคภัย


ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สาวออฟฟิศอาจแก้ปัญหารถติดไม่ได้ แต่เลี่ยงโรคกล้ามเนื้อที่เกิดจากการขับรถได้

เช็คเลย “ตกขาว แบบไหนไม่ธรรมดา” อย่าปล่อยไว้ไม่ไปหาหมอเพราะความอาย!!

Ketogenic Diet เข้าใจง่ายๆ ใน 4 นาที แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับทุกคน!!

ลดน้ำหนักแบบ Intermittent Fasting อิ่มบ้าง..อดบ้าง จะผอมไหม?

โยคะบำบัด เน้นบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม ผสานระหว่างหฐโยคะและการนวด

3 ทิปส์ดูแลสุขภาพให้สมดุล ยิ่งอากาศร้อนแบบนี้อย่าหงุดหงิดง่าย เดี๋ยวแก่เร็ว

อยากสวย..หยุดหงุดหงิด! อย่าปล่อยให้ความเครียดกระตุ้น “สิว” ให้ลุกลาม

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up