ช่วงนี้อากาศร้อนจัดกลับมาทำหน้าที่ประจำอีกครั้ง หลังพักร้อนสั้นๆ ให้ความเย็นเข้ามาทำงานแทนได้แป๊บเดียว ชนิดที่ยังไม่ทันหนาวก็โบกมือบ๊ายบายกันเสียแล้ว อากาศแบบนี้กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนทำงานไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความร้อนอบอ้าว รวมถึงคนที่ชอบออกกำลังกายหนักๆ ไม่ใช่แค่ทำให้เสื้อผ้าเปียกแฉะไปด้วยเหงื่อที่ทะลักทลายมากกว่าปกติ หรือผิวจะถูกเผาจนเปลี่ยนเป็นสีอื่น แต่ความร้อนน่ากลัวกว่านั้นเยอะ ถึงขนาดที่อาจจะคร่าชีวิตเราได้แบบไม่ทันตั้งตัว
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับโรค Heat Stroke หรือลมแดดมาบ้างแล้ว แต่รู้ไหมว่า โรคนี้ใกล้ตัวและอันตรายกว่าที่คิด แพทย์หญิงปานหทัย ทองมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต รพ.พระรามเก้า อธิบายว่า Heat Stroke เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการควบคุมอุณหภูมิเสียไปจนทำให้อุณหภูมิแกนสูงขึ้นและเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท
โดยปกติแล้วร่างกายจะมีการควบคุมอุณหภูมิแกน โดยผ่านสมดุลระหว่าง การสร้างความร้อนจากเมแทบอลิซึมหรือระบบเผาผลาญในร่างกาย และจากการดูดซับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมกับ การกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ผ่านทางการระเหยเป็นเหงื่อหรือลมหายใจ การแผ่รังสี การนำความร้อน และการพาความร้อน ในภาวะปกติทั้งสองด้านต้องทำงานกันอย่างสมดุลเพื่อกำจัดความร้อนก่อนจะถึงจุดที่เป็นอันตราย แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนอุณหภูมิแกนสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เซลล์และอวัยวะต่างๆ จะสูญเสียการทำงานจนเกิดความผิดปกติรวมทั้งระบบประสาทส่วนกลาง ก่อให้เกิดอาการสับสน กระวนกระวาย ซึม ชัก ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย และจากสถิติอัตราการเสียชีวิตจาก Heat Stroke ก็ค่อนข้างสูงทีเดียว
ที่ผ่านมามีข่าวทหารเกณฑ์หรือนักกีฬาเป็น Heat Stroke กันบ่อยๆ แต่ที่จริงแล้วคนทั่วไปอย่างเราๆ ก็มีโอกาสเป็นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนแก่ เด็กเล็ก คนอ้วน และคนที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดน้ำ รวมถึงคนวัยทำงานที่ชอบออกกำลังกายหักโหมเกินไป ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ยิ่งช่วงหลังมานี้ ผู้คนเริ่มหันมาสนใจการออกกำลังกายมากขึ้น ทั้งเข้าฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้ง ไปร่วมงานวิ่ง ฯลฯ ยิ่งต้องระวังตัว เพราะในระหว่างออกกำลัง ร่างกายเราจะมีการสร้างความร้อนจากกระบวนการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้น และหากไปอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงโดยเฉพาะร้อนชื้นด้วยแล้ว ระบบกำจัดความร้อนของร่างกายอาจจะทำงานไม่ทันจนทำให้เกิดอาการได้
วิธีสังเกตว่าลมแดดกำลังถามหาแล้วหรือยัง ดูได้จากอาการเตือนเบื้องต้น เช่น เป็นตะคริว รู้สึกหน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม หรือเริ่มเหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น หากมีอาการเหล่านี้แล้วไม่รีบพัก สุดท้ายอาจจะกลายเป็น Heat Stroke แต่บางครั้งโรคนี้ก็มาหาแบบทันทีทันใดไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น ป้องกันไว้ก่อนดีที่สุดด้วยวิธีง่ายๆ ตรงไปตรงมา คือ ในเมื่อสาเหตุมาจากความร้อนก็ต้องหลีกเลี่ยงความร้อน พยายามอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ และไม่หักโหมหรือฝืนร่างกายจนเกินไป แต่หากบังเอิญเห็นใครมีอาการของโรค Heat Stroke ให้รีบปฏิบัติ ดังนี้
-
พาหลบไปอยู่ในที่ร่มหรือที่เย็น และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
-
หาพัดลมมาเป่า เพื่อช่วยในการระบายความร้อนออกจากร่างกาย
-
ถอดเสื้อ แล้วเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ เพื่อลดอุณหภูมิ
-
นำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
จำไว้ว่า ยิ่งลดความร้อนในร่างกายได้เร็วเท่าไร โอกาสรอดยิ่งสูงเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่อยากเผชิญหน้ากับโรคร้อนที่มาพร้อมกับอันตรายนี้ ก็ต้องรู้ลิมิตและประเมินตัวเองให้ดี ถ้าช่วงนี้ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ร่างกายไม่พร้อม ก็อย่าเพิ่งคิดไปออกกำลังกายหนักๆ เลย เชื่อเถอะว่ากันไว้ดีกว่าแก้
ภาพ : Pexels