ระวังน็อก! ลองเช็คตัวเองว่า หักโหมออกกำลังกาย เกินพอดีไปหรือเปล่า

Alternative Textaccount_circle

เชื่อว่าทุกคนคงทราบถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายเป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกัน หากออกกำลังกายมากเกินไปจะกลับกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายแทน วันนี้ แพรวดอทคอม จึงมีบทความเรื่องอันตรายจากการออกกำลังกายมากเกินไป หรือ หักโหมออกกำลังกาย มาฝากกันค่ะ

ระวังน็อก! ลองเช็คตัวเองว่า หักโหมออกกำลังกาย เกินพอดีไปหรือเปล่า

หักโหมออกกำลังกาย

1. สำหรับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว

กรณีนี้หากออกกำลังกายมากเกินไปจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ยิ่งหักโหมมากเท่าไร ภูมิคุ้มกันก็จะยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ พอร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคจากภายนอกก็จะสามารถเข้ามาในร่างกายได้ง่ายขึ้นจนอาจทำให้เป็นไข้หวัด นอกจากนี้การออกกำลังกายมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บตามส่วนต่างๆ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เอ็น ฯลฯ

หักโหมออกกำลังกาย

2. สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว

กรณีนี้ยิ่งออกกำลังกายมากเกินไปก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง อาจส่งผลเสียหรือกระตุ้นโรคประจำตัวนั้นๆ ให้เกิดอาการแย่ลง เช่น โรคหัวใจ ยิ่งออกกำลังกายหนัก หัวใจก็ยิ่งบีบตัวถี่เพื่อให้มีเลือดพอไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย แต่ถ้าหัวใจบีบตัวมากเกินไปจนเริ่มไม่ไหวอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ หรือในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ถ้าหักโหมมากเกินไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงจนเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดได้

ในคนที่เป็นโรคหอบหืด ถ้าออกกำลังกายมากเกินไป จะกระตุ้นให้หลอดลมเกิดอาการเกร็งตัวจนแน่นท้อง หายใจลำบาก หายใจไม่ทัน ส่งผลให้เหนื่อยหอบจนเป็นลม ยิ่งถ้าเจอปัจจัยกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมภายนอก เช่น ในกรณีที่วิ่งออกกำลังกาย เอ๊าต์ดอร์แล้วเจอฝุ่นควันมลภาวะ ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการเกร็งของหลอดลม จนหายใจไม่สะดวก

และในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง กรณีนี้การออกกำลังกายมากจนเกินไปยังไม่น่ากลัวเท่าออกกำลังกายไม่ถูกต้อง!! เช่น การยกเวต ถ้ากลั้นหายใจบ่อยๆ ตอนที่ออกแรงยกจะทำให้ความดันในร่างกายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนปวดหัว และหลังจากเล่นก็จะยังไม่หาย เนื่องจากความดันโลหิตยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าสูงเกินลิมิตก็อาจทำให้เกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองหรือเส้นเลือดในสมองแตกได้

หักโหมออกกำลังกาย

3. สำหรับคนที่ไม่ระมัดระวังอุณหภูมิอากาศ

ถ้าออกกำลังกายในที่ร้อนมากเกินไป ร่างกายจะระบายความร้อนไม่ทันจนอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไป และอาจทำให้เป็นลมได้ หรือถ้าออกกำลังกายมาเหนื่อยๆ ร้อนๆ แล้วอาบน้ำ หรือเข้าไปนั่งพักในห้องแอร์ทันที จะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันจนเป็นไข้หวัดได้

หักโหมออกกำลังกาย

อาการแบบนี้ชี้ว่าหักโหมไปละ

– เพลีย & ล้าถึงขีดสุด ไม่มีแรงจะทำอะไร แต่ก็ไม่เหมือนกับอาการเหนื่อยที่อาจหอบแต่มีแรงวิ่งต่อได้
– ริมฝีปากแห้ง เหงื่อออกมาก หน้าซีดเซียว
– วิงเวียนศีรษะ มึนหัว จะเป็นลม
– เจ็บแปล๊บๆ ในกรณีที่เล่นเวต นั่นหมายความว่าดัมบ์เบลหรือเครื่องเล่นนั้นมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว จนกล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ

ช่วงอายุ 18 – 35 ปี เป็นช่วงที่สมรรถภาพทางกายดีที่สุด เราจึงควรออกกำลังกายหลายๆ อย่าง เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อทุกส่วน และ
ออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตรประจำวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

หักโหมออกกำลังกาย

แล้วต้องออกกำลังกายแค่ไหนถึงเรียกว่า “พอดี”

องค์การอนามัยโลกมีข้อมูลบอกไว้อย่างละเอียด แต่ขออธิบายเพียงคร่าวๆ ว่า คุณควรออกกำลังกายให้ได้ 70 – 80% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ จึงจะให้ผลดีกับร่างกาย โดย “อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ” นั้นสามารถคำนวณได้ง่ายๆ เพียงนำ 220 มาลบกับอายุของตัวคุณ และถ้านำไปคูณ 70% (หรือ 80%) ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นอัตราการเต้นของหัวใจที่ดีต่อการเผาผลาญพลังงาน
เช่น คุณ A อายุ 26 ปี ควรออกกำลังกายให้หัวใจเต้นที่ระดับ 135.8 ครั้งต่อนาที
ตัวอย่าง
(220 – 26) = 194
(194 x 70%) = 135.8

ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าอัตราการเต้นของหัวใจเราอยู่ที่ระดับเท่าไร เอาเป็นว่า ถ้าวิ่งบนลู่วิ่งจะมีด้ามจับสีเงินให้เราจับแล้วเช็กตัวเลขในหน้าจอ แต่ถ้าออกกำลังกายแบบอื่น เช่น เต้นแอโรบิก ควรเต้นอย่างน้อย 30 นาที แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง ทำ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ระบบหัวใจ ปอด และหลอดเลือดพัฒนาขึ้น ทำให้ไม่เหนื่อยง่าย ไม่ว่าจะเดินไกลๆ วิ่ง หรือขึ้นบันได ถ้าออกกำลังกายน้อยกว่านี้ หัวใจและหลอดเลือดจะไม่แข็งแรงขึ้นจากเดิม


เรื่อง : PP_แพรวดอทคอม
ภาพ : Pexels

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up