ตระเตรียมให้ถูกข้าวของต้องใช้ในพิธีล้างเท้าเจ้าบ่าว

account_circle

พิธีล้างเท้าเจ้าบ่าว อีกหนึ่งประเพณีแต่งงานที่บ่าวสาวควรคงไว้ ว่าแต่ต้องมีข้าวของอะไรบ้างน้า??

งานวิวาห์แบบไทยเราจะเห็นว่าบางงานอาจมี พิธีล้างเท้าเจ้าบ่าว หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! ต้องมีด้วยหรือ และถ้ามีต้องเตรียมอะไรกันบ้าง มาไขข้อข้องใจไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

พิธีล้างเท้าเจ้าบ่าวมีตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากคนไทยในสมัยก่อนยังไม่นิยมสวมรองเท้าเหมือนในปัจจุบัน ตามหน้าบ้านจะตั้งตุ่มน้ำให้เจ้าของบ้านหรือแขกที่มาเยือนได้ล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน ดังนั้นจึงได้แทรกการล้างเท้าเข้ามาเป็นหนึ่งในพิธีการก่อนที่เจ้าบ่าวจะเดินขึ้นเรือนเจ้าสาว โดยจะใช้ใบตองและหินก้อนใหญ่รองเท้าเจ้าบ่าวก่อนล้าง

สิ่งที่ต้องเตรียม

ฝ่ายเจ้าสาวตระเตรียมแบบโบราณ : ใบตองวางทับด้วยหินก้อนใหญ่ที่เจ้าบ่าวสามารถขึ้นไปยืนได้และน้ำสะอาดผสมมะกรูดมะนาวในขันเงินสำหรับล้างเท้าเจ้าบ่าว

ฝ่ายเจ้าสาวตระเตรียมแบบประยุกต์ : ก้านมะยมและน้ำสะอาดใส่ในขันเงินสำหรับพรมเท้าเจ้าบ่าว

ฝ่ายเจ้าบ่าว : เตรียมซองเงินหรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ฝ่ายเจ้าสาว

ขั้นตอนในพิธี

เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงหน้าประตูบ้านเจ้าสาวแล้ว น้องหรือญาติของเจ้าสาวจะเป็นผู้ล้างเท้าเจ้าบ่าว โดยตักน้ำที่เตรียมไว้ในขันเงินล้างและช่วยเช็ดเท้าให้ เพื่อเป็นการต้อนรับเจ้าบ่าวเข้ามาอยู่ในครอบครัว หลังจากนั้นเจ้าบ่าวจะให้ซองเงินเป็นสินน้ำใจ

ปัจจุบันคนไทยสวมรองเท้าเดินกันจนเป็นเรื่องปกติจึงไม่จำเป็นต้องล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน ทำให้มีการประยุกต์พิธีล้างเท้าโดยเปลี่ยนมาใช้ก้านมะยมมัดแล้วจุ่มน้ำในขันที่เตรียมไว้ พรมบนรองเท้าเจ้าบ่าว ไม่ต้องล้างจนเท้าเปียกเหมือนสมัยก่อน และบางพื้นที่อาจมีการชิงรองเท้าเจ้าบ่าว เพื่อเอาไว้เรียกค่าไถ่ และสร้างสีสันสีสันในงานแต่ง

แจกกันแบบสเต็ปบายสเต็ป กับขั้นตอนลำดับพิธีแต่งงานไทยฉบับสมบูรณ์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up