เคลียร์ปัญหาเขยฝรั่ง พิธีแต่งงานไทยเต็มไปด้วยอะไรที่ I ไม่เข้าใจสักนิด?!

account_circle

สะใภ้สายฝอ. ต้องเคลียร์ หาก เขยฝรั่ง ไม่เก็ตพิธีแต่งงานไทย

แพรว wedding ขอเอาใจสาวไทยหัวใจอินเตอร์ที่กำลังจะควงแขนแฟนต่างชาติเข้าพิธีวิวาห์ แต่ติดปัญหาเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ทำยังไง้ยังไงว่าที่ เขยฝรั่ง ก็ไม่เข้าใจว่า “ทำไมต้องจ่ายค่าสินสอด” “ทำไมต้องแห่ขันหมาก” และอีกหลายๆ “ทำไม…” ที่คุณก็ไม่รู้จะตอบยังไงให้ he เก็ต เราจึงขอไขข้อข้องใจบรรดาหนุ่มๆ ตาน้ำข้าว ด้วยคำตอบเหล่านี้ที่เราเตรียมมาให้ว่าที่เจ้าสาวสายฝอไปบอกเขยฝรั่งของครอบครัวให้เขาเข้าใจ รับรองว่าจะหมดปัญหาเป็นเจ้าบ่าวจำไมแน่นอน

สินสอดคืออะไร? นี่ไอกำลังจะจ่ายเงินซื้อ you เหรอ!!

เรื่องนี้คือปัญหาใหญ่สุด เพราะหากไปเจอเขยฝรั่งบางคนที่ไม่ยอมเข้าใจว่าต้องจ่ายเงินซื้อผู้หญิงไปทำไมกัน แล้วถ้ายิ่งอธิบาย หรือหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เรื่องยาวไปอีก เพราะฉะนั้นถ้าสาวๆ เจอคำถามนี้ อันดับแรกตั้งสติและทำความเข้าใจว่า นี่คือความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ยืนด้วยลำแข้งตัวเองมาตั้งแต่เด็ก พอแก่ตัวก็มีรัฐสวัสดิการดูแล ไม่ได้มีลูกหลานคอยเลี้ยงดูเหมือนคนไทย ดังนั้นเขาจึงไม่เข้าใจว่าค่าสินสอดและค่าน้ำนมคืออะไร ทำไมต้องจ่ายเงินให้พ่อแม่ของเจ้าสาวเพื่อที่จะได้แต่งงานเหมือนกับว่าเจ้าสาวเป็นสินค้า เมื่อว่าที่เจ้าสาวทำความเข้าใจข้อนี้ได้แล้ว ก็ค่อยๆ อธิบายให้เขาฟังอย่างใจเย็น ตามนี้นะคะ

ค่าสินสอดเป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณ เพราะสมัยก่อนคนไทยไม่ได้มีการคบหาดูใจกันนานๆ ก่อนแต่งเหมือนสมัยนี้ บางคู่แต่งงานกันโดยการแนะนำกันของแม่สื่อ บางคู่พ่อแม่จับคลุมถุงชน จึงต้องมีการเตรียมสินสอดเพื่อเป็นหลักประกันว่าฝ่ายชายมีฐานะที่พอจะเลี้ยงดูลูกสาวสุดที่รักให้ไม่ลำบาก หรือถ้าเป็นคู่ที่รู้จักหน้าค่าตากันอยู่แล้ว การที่ฝ่ายชายมีความพยายามในการหาสินสอดมาสู่ขอ ก็ทำให้พ่อแม่พอจะเบาใจว่ารักลูกสาวเราจริงและขยันขันแข็งทำมาหากิน จะไม่พากันไปอดมื้อกินมื้อ

เขยฝรั่ง

แล้วสินสอดเนี่ยไอต้องเตรียมเท่าไหร่?

เรื่องจำนวนสินสอดไม่มีกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับทางพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง ซึ่งต้องเข้าใจว่าทัศนคติของแต่ละครอบครัวนั้นต่างกัน บางครอบครัวที่หัวสมัยหน่อยอาจจะเรียกพอเป็นพิธี บางบ้านก็แล้วแต่ฝ่ายชายจะจัดหามาพอสมควร บางบ้านอาจขอแหวนหมั้นวงเดียวหรือไม่เรียกสินสอดเลย หรือบางบ้านไม่ขออะไรขอแค่เจ้าบ่าวอย่าหนีงานแต่งเป็นพอ!!

ขณะที่บางครอบครัวก็อาจจะเรียกเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก 2 กรณีคือฝ่ายหญิงมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี เมื่อลูกสาวจะแต่งงานก็อยากให้ดูสมฐานะ และมองว่าเงินก้อนนั้นไม่มากเกิน หรือบางครอบครัวอาจจะมีความคิดผิดๆ ที่ว่าเป็นชาวต่างชาติคงจะร่ำรวยและมีเงินเยอะแน่ๆ ดังนั้นถ้าแฟนคุณไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ก็ควรบอกพ่อแม่ไปตรงๆ ตั้งแต่แรกนะจ๊ะ พวกท่านจะได้ไม่คาดหวังจนเรียกสินสอดแพงลิ่ว

แต่ปัจจุบันนี้พ่อแม่ส่วนมากนิยมคืนสินสอดกลับมาตอนรับไหว้เพื่อให้ลูกสาวและลูกเขยได้นำไปตั้งตัว หากคุยกับพ่อแม่แล้วท่านบอกว่าจะคืนสินสอดให้แน่ๆ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบาวส่วน คุณควรบอกแฟนให้สบายใจว่าเงินสินสอดที่หามาให้นั้น ท่านจะคืนกลับมาให้คุณทั้งคู่ เพื่อที่ he จะได้สบายใจมากขึ้น

จ่ายค่าสินสอดแล้ว แล้วค่าน้ำนมคืออะไร ไอไม่เข้าใจ ต้องจ่ายอีกเหรอ?

บางบ้านอาจมีการเรียกค่าน้ำนมแยกต่างหาก คุณต้องอธิบายให้แฟนเข้าใจว่าเมืองไทยไม่ได้มีรัฐสวัสดิการเหมือนต่างประเทศ พ่อแม่สู้อุตส่าห์เลี้ยงดูและให้การศึกษาคุณมาอย่างดีตั้งแต่เล็กจนโต หากคุณจะแต่งงานและย้ายไปอยู่ต่างประเทศถาวร การมอบเงินทองไว้ให้ท่านใช้ยามชราก็ถือเป็นการแสดงน้ำใจและแสดงความกตัญญู ทดแทนกับการที่คุณจะไม่ได้อยู่ปรนนิบัติดูแลท่านเหมือนลูกคนอื่น ส่วนจะให้เท่าไหร่นั้นก็ตามแต่จะเรียกร้องและต่อรองกัน หรือบางคู่ใช้วิธีหักจากค่าสินสอดก็มี

ค่าผ่านประตูเงินประตูทอง เจอแบบนี้ไอยิ่งงงเข้าไปอีก!!

ข้อนี้แถมให้ขำๆ สำหรับเจ้าบ่าวขี้สงสัยว่ากว่าจะถึงตัวเจ้าสาวได้ทำไมยากเย็นเหลือเกิน แถมยังต้องจ่ายค่าผ่านประตูเงินประตูทองให้เพื่อนๆ ตั้งหลายด่าน บอกเขาไปเลยค่ะว่านี่เป็นประเพณีสนุกๆ อย่างหนึ่งที่จะให้เจ้าบ่าวได้ฝ่าฟันก่อนเข้าไปรับตัวเจ้าสาว ทำนองว่าเจ้าสาวเนี่ย สวย เลอค่าเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ถือเป็นการทำความคุ้นเคยกับญาติๆ และเพื่อนๆ ของฝ่ายหญิงไปในตัว เพราะบางคนอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนเลย แล้วอย่าลืมบอก he นะว่า ซองที่จะให้คนกั้นประตูหน่ะก็ไม่ได้มากมายอะไร ซองละ 100-200 บาทเท่านั้นเอ๊งงงง

ทำไมคนไทยแต่งงานแขกถึงได้เยอะขนาดนี้?

นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เขยชาวตะวันตกมักงงเป็นไก่ตาแตกเมื่อเห็นลิสต์รายชื่อแขกฝั่งเจ้าสาว ทั้งนี้ก็เพราะตามธรรมเนียมของชาวตะวันตกจะเชิญเฉพาะญาติและเพื่อนสนิทมางานเท่านั้น ดังนั้นคุณต้องอธิบายเขาว่า การแต่งงานสำหรับคนไทยไม่ใช่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของสองครอบครัว การแต่งงานของลูกคือความภาคภูมิใจและเป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่ อาจอธิบายเพิ่มไปอีกนิดว่าคนไทยค่อนข้างจะแคร์สายตาของคนรอบข้าง ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติอย่างหนึ่ง

และตามปกติแล้วนอกจากแขกของบ่าวสาว ยังต้องเชิญแขกของพ่อแม่และคู่ค้าทางธุรกิจด้วย โดยเฉพาะในแวดวงข้าราชการ ไม่ว่าจะตัวเราหรือพ่อแม่ที่รับราชการถ้าเชิญนายมาไม่ครบ หรือเชิญเพื่อนมาไม่พร้อมหน้า อาจดูเสียมารยาทและเกิดการขัดเคืองใจกันได้ ส่วนในวงการธุรกิจ การเชิญคู่ค้ามาร่วมงานก็ถือเป็นการสร้างคอนเน็กชั่นอย่างหนึ่ง และเพื่อให้ he สบายใจไร้กังวลก็บอกไปเลยว่า แขกที่เชิญมางานทุกคนจะใส่ซองช่วยงานกลับมาด้วย เพราะฉะนั้นถ้านำมาคำนวณค่าใช้จ่ายในการจัดเลี้ยงที่เมืองไทยซึ่งไม่ได้แพงหูฉี่เหมือนเมืองนอก บวกลบออกมาแล้วก็อาจจะไม่ได้เข้าเนื้อจนถึงขั้นล้มละลาย ขอหมายเหตุตัวโตๆ ไว้ว่า ถ้าคุณไม่ได้จัดงานเว่อร์เกินฐานะ

ขันหมากคืออะไร? ทำไมต้องทำเสียงดังไปทั้งซอย!!

เรื่องนี้เคลียร์ง่ายกว่าเรื่องเงินและเรื่องแขกเยอะ เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่ชื่นชอบวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว แค่อาจจะรู้สึกเขินๆ ปนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องโห่ร้องเสียงดังจนทำให้คนหันมามองขนาดนี้ ก็บอกเขาไปตรงๆ เลยว่า การแต่งงานถือเป็นข่าวดีที่ต้องประกาศให้โลกรู้ว่าลูกสาวบ้านนี้ขายออกแล้วจ้า ไม่ได้หนีตามกันไปนะจ๊ะ และในเมื่อเป็นงานมงคลก็ต้องมีขบวนกลองยาวสร้างความครึกครื้นกันหน่อย อีกอย่างชาวบ้านจะได้เห็นหน้าค่าตาเขยบ้านนี้ในฐานะสมาชิกใหม่ของชุมชนอีกด้วย สุดท้ายบอกเขาไปว่า ไม่ต้องเขิน แล้วมาสนุกกันดีกว่า

เคลียร์ให้ชัดทุกประเด็นขนาดนี้แล้ว รับรองว่าจากอาการคิ้วขมวดไม่เข้าใจจะกลายเป็นรอยยิ้มบนใบหน้าใสๆ ของว่าที่เขยต่างชาติสมาชิกคนใหม่ของครอบครัวคุณแน่นอน

แจกจ้า!! สคริปต์พิธีการแต่งงานไทยในช่วงต่างๆ แบบ 2 ภาษา
พิธีสงฆ์
พิธีรดน้ำสังข์

พิธีล้างเท้าเจ้าบ่าว
พิธีไหว้ผู้ใหญ่
พิธีแห่ขันหมาก
เจรจา สู่ขอ นับสินสอด และสวมแหวน
พิธีปูเตียงเรียงหมอน

ภาพประกอบงานแต่งงานคุณเพชร & คุณเจอโรม @ The House on Sathorn ถ่ายโดย Good Bless U Team 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up