สามีเตรียมรับมือ “อาการวัยทอง” ของภรรยา เคียงคู่และเข้าใจการเปลี่ยนแปลง

account_circle

เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่ร่างกายต้องเปลี่ยนตามกาลเวลา แต่ดูท่าว่าผู้หญิงจะเริ่มเปลี่ยนก่อนผู้ชายเล็กน้อย โดยเฉพาะ ภรรยา หลายๆ ท่าน ที่กำลังมี อาการวัยทอง เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงความรู้สึกและสภาพจิตใจของผู้หญิงด้วย แพรวเวดดิ้ง จึงอยากให้คุณผู้ชายเข้าใจและคอยให้กำลังใจคนรักเยอะๆ

อาการวัยทอง ของ ภรรยา ที่สามีควรรู้ เข้าใจ และให้กำลังใจ

อาการวัยทอง ภรรยา
Photo by Gustavo Fring from Pexels

วัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง (Menopause) อยู่ในช่วงอายุ 45 – 55 ปี เป็นช่วงที่รังไข่เริ่มหยุดทำงาน ไม่มีการตกไข่ ไม่สร้างฮอร์โมนเพศสหญิง (เอสโตรเจน และโปรเจนเตอโรน) ทำให้ผู้หญิงไม่มีประจำเดือน ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ คนไทยมักเรียกอาการนี้ว่า “เลือดจะไปลมจะมา”

เมื่อคุณสามีรู้แล้วว่า ภรรยาสุดที่รักเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุดังกล่าว แนะนำให้สังเกตและเอาใจใส่ความเปลี่ยนแปลงของภรรยาอยู่เสมอๆ ว่าเริ่มมีสัญญาณเข้าสู่วัยทองหรือยัง ลักษณะอาการอาจไม่เห็นเด่นชัด แต่ถ้าภรรยาข้างกายเริ่มบ่นถึงเรื่องเหล่านี้ ก็เตรียมตัวรับมือกับวัยทองที่กำลังจะมาถึงได้เลย

  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • ร้อนวูบวาบ เหนื่อยง่าย ใจสั่น
  • มีผื่นแพ้ตามผิวหนังและอาการคัน
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อและกระดูก
  • เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ
  • ช่องคลอดมีน้ำหล่อลื่นน้อยกว่าปกติ
  • กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้

นอกจากอาการทางร่างกายแล้ว ยังมีอาการทางจิตใจที่อาจส่งผลกับความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย เช่น

  • หงุดหงิดง่าย
  • เครียดบ่อย
  • ซึมเศร้า ขี้น้อยใจ
  • อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ
อาการวัยทอง ภรรยา
Photo by krakenimages on Unsplash

อาการเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้ผู้ชายหลายคนเกิดความสงสัย ไม่เข้าใจ จนบางครั้งทะเลาะกับภรรยาใหญ่โต เอาเป็นว่า ไปดูวิธีรับมือกับอาการวัยทองกันดีกว่า จะได้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และไม่กลายเป็นปัญหาในภายหลัง

  1. เผชิญความเปลี่ยนแปลงด้วยความเข้าใจ

อย่างแรกที่ต้องทำคือ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ก่อน ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่ร่างกายคนเราจะต้องเสื่อมถอย แต่พอเข้าใจแล้วใช่ว่าจะปล่อยเลยตามเลย ต้องช่วยกันดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ชวนกันออกกำลังกาย และพยายามมองโลกในแง่ดีเพื่อบรรเทาอาการหงุดหงิด

  1. หากิจกรรมทำเพื่อรักษาจิตใจ

จากแต่ก่อนที่เคยยุ่งกับการทำงาน เจอหน้ากันเฉพาะเวลากลับถึงบ้าน อาจต้องเปลี่ยนมาหาอะไรทำด้วยกันมากขึ้น เช่น ออกไปทานข้าว เดินเล่น หรือชวนกันไปเที่ยวต่างจังหวัดเมื่อมีเวลา ช่วยกันปลูกต้นไม้ หรือจะชวนกันไปวัดทำบุญก็เป็นไอเดียที่ดี

อาการวัยทอง ภรรยา
Photo by Esther Ann on Unsplash
  1. หากทะเลาะกันต้องเคลียร์ให้เข้าใจ

ข้อนี้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับชีวิตคู่ แต่จะยิ่งสำคัญเมื่อเข้าสู่วัยทอง ด้วยอายุที่มากขึ้นบวกกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การปล่อยปัญหาคาใจทิ้งไว้นานๆ จะเหนื่อยง่ายกว่าตอนสาวๆ หนุ่มๆ อีกทั้งอารมณ์ที่เหวี่ยงสวิงไม่คงที่ อาจเป็นต้นเหตุให้เรื่องทะเลาะบานปลายมากขึ้น แนะนำว่าถ้าดูแล้วยังสามารถพูดคุยกันได้ในขณะนั้น ควรใจเย็นแล้วนั่งคุยกัน แต่ถ้าภรรยาหงุดหงิดหนักมาก ต้องอาศัยคำโบราณว่า “น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง” รอให้เธอใจเย็นสักนิด แล้วค่อยเริ่มจับเข่าคุย

  1. ปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ

วัยทองเกิดขึ้นกับทุกคน แต่อาการมากน้อยไม่เท่ากัน บางคนไม่ออกอาการเลยก็มี แต่บางคนร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งปวดเมื่อย เป็นลม ครั่นเนื้อครั่นตัว เครียด ไปจนถึงอาการซึมเศร้า ถ้าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาหนัก แนะนำว่าให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด อาจต้องทานยาเพื่อรักษาสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย หรือในรายที่ซึมเศร้าหนักๆ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์

อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งนึกว่าอาการวัยทองเกิดขึ้นได้เฉพาะในผู้หญิงอย่างเดียวนะคะ ขอเตือนเลยว่าผู้ชายที่เริ่มมีอายุก็เข้าสู่วัยทองจะมีอาการทางร่างกายและจิตใจได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหมั่นดูแลร่างกายและใส่ใจคู่รักอยู่สม่ำเสมอ จะได้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ

ปัญหาด้านสุขภาพของคู่รักยังมีอีกหลายเรื่องให้ต้องช่วยกันดูแลและทำความเข้าใจตามไปอ่านกันได้เลย

ภาพจาก : Unsplash.com

Praew Recommend

keyboard_arrow_up