Bridal Tale อิทธิพลสังคมต่อชุดเจ้าสาวจากอดีตถึงปัจจุบัน

account_circle

คีย์โน้ตสำหรับ ชุดเจ้าสาว สุดเก๋ในทศวรรษ 1920 ที่หลอมรวมเอาศิลปะอาร์ตเดโค เพลงแจ๊ซและการเต้นรำแบบชาร์ลสตัน ภาพวาดสุดมหัศจรรย์จากศิลปินนามเออร์เต้ งานปักวิจิตรจากลองแวง และผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จนกลายเป็นก้าวแรกที่เปลี่ยนวิถีชีวิต ความคิดและการแต่งกายที่ส่งอิทธิพลมาถึงยุคปัจจุบัน

1. Edwardian Style

ในยุคเอ็ดวาร์เดียน ราวปี ค.ศ. 1901 – 1910 คอร์เสตยังทำหน้าที่รัดเอวคอดกิ่วของผู้หญิง กระโปรงยาวกรอมเท้า คอเสื้อตั้งปิดขึ้นไปถึงคอหอยที่เรียกว่า “Wedding Band Collar” หรือคอเสื้อแหวนแต่งงาน แขนเสื้อพองช่วงต้นแขนและลีบเล็กตั้งแต่ช่วงศอกลงมาจนถึงข้อมือที่เรียกว่า “Gigot Sleeves” หรือแขนเสื้อขาแกะ ซึ่งฝ่ายสตรีนิยมมองว่าเครื่องแต่งกายแบบนี้สร้างมาเพื่อทรมานผู้หญิง เหมือนการรัดเท้าให้เล็กเพื่อจะถูกมองว่าสวย เป็นผู้ดี บอบบาง

คอนซูเอโล แวนเดอร์บิลท์ทายาทอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้ร่ำรวยทรัพย์แต่อับจนศักดินา ชุดแต่งงานของเธอออกแบบโดยชาร์ลส์เฟเดอริกเวิร์ธ แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ทรงอิทธิพลในยุคนั้น เธอแต่งงานกับชาร์ลส์ สเปนเซอร์ – เชอร์ชิลล์ ดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ ผู้ร่ำรวยที่ดินแต่จนเงินในปี ค.ศ. 1895 และกลายเป็นต้นแบบของเจ้าสาวที่กลายเป็นเซเลบริตี้ มีนิตยสารรายงานพิธีแต่งงานละเอียดยิบ ความงามของเธอถึงกับทำให้ผู้ชายคนหลายเพ้อ เช่น เซอร์เจมส์แบร์รี่ ที่รำพึงว่า “ข้าพเจ้านั่งรอกลางสายฝนได้ทั้งคืน เพียงเพื่อจะได้ยลโฉมคอนซูเอโล แวนเดอร์บิลท์ ก้าวขึ้นรถม้า”

2. Paul Poirel

ชุดเจ้าสาว

ในปี ค.ศ. 1905 ปอลปัวเรต์ ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสนำเสนอดีไซน์ใหม่ที่เรียกว่า “Nouvelle Vague” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากชุดกรีกโบราณที่เน้นการจับเดรปและปล่อยให้ชายผ้าทิ้งตัวลู่ไปตามสรีระของผู้หญิงโดยไม่มีคอร์เสตเข้ามาช่วยจัดแจงรูปร่าง ต่างจากแฟชั่นแบบเอ็ดวาร์เดียนที่ขับเน้นทรวดทรงองค์เอวชัดเจน โดยคอลเล็คชั่นต่อมาปัวเรต์ยังนำเสนอชุดที่ได้แรงบันดาลใจจากตะวันออก เช่น กิโมโน กางเกงแขก ผ้าโพกหัว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของดีไซเนอร์ผู้นี้ที่กล้าปฏิเสธคอร์เสตอย่างสิ้นเชิง

3. WWI

สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้ผู้หญิงชนชั้นล่างซึ่งทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้านต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ซ้ำยังถูกแย่งอาชีพไปโดยชนชั้นกลางที่ต้องการหารายได้เช่นกัน อีกทั้งระหว่างสงคราม ผู้ชายถูกเกณฑ์ให้ไปรบอยู่แนวหน้ากันหมด บรรดานายจ้างหรือเจ้าของกิจการต่างๆ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องว่าจ้างผู้หญิงที่ถูกทิ้งให้อยู่แนวหลังพวกเธอกลายเป็นแรงงานสำคัญเป็นทั้งสาวโรงงาน คนขับรถ พยาบาล ทำงานในไร่นาเป็นอาสาสมัครกาชาดและทำงานในกองทัพ ซึ่งในหลายๆ อาชีพมีข้อบังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบผู้คนลดความสุรุ่ยสุร่ายในการใช้ชีวิตลง ผู้หญิงงดใส่เครื่องประดับ ลดความบอบบางของวัสดุเช่น ลูกไม้ การปักเลื่อมพราย ฯลฯ

ประมาณกันว่าช่วงสงครามระหว่างปี ค.ศ. 1914 – 1918 มีผู้หญิงเป็นแรงงานกว่า 1,600,000 คน จึงอาจกล่าวได้ว่า สงครามที่อาจจะไม่มีข้อดีให้พูดถึงมากนัก แต่ในแง่หนึ่ง มันได้ปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระ เพราะการทำงานไปด้วยใส่สุ่มคอร์เสตไปด้วยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เครื่องทรมานร่างกายจึงถูกปลดออกจากสรีระผู้หญิงในที่สุด

4. Bohemian Gown

ลูซิล (Lucile) และเอด้าวูล์ฟ (Aida Woolf) สองดีไซเนอร์สร้างสไตล์ใหม่ที่ถือว่าเป็นแฟชั่นอาวองต์การ์ด หรือแฟชั่นที่มาก่อนกาลในทศวรรษ 1900 จากโครงสร้างรูปตัว S ที่เน้นอก เอว และสะโพกของผู้หญิง ถูกทดแทนด้วยอิทธิพลจากยุคกลาง ทำให้แฟชั่นคลี่คลายไปเป็นเชปทรงตรงเหมือนหลอด ช่วงเอวสูง และแขนเสื้อมีระบาย

5. Royal Weddings

ชุดเจ้าสาว

พิธีแต่งงานในราชวงศ์หลายคู่ส่งผลต่อเทรนด์ชุดแต่งงานในห้วงเวลานั้น เนื่องจากสื่อมวลชนกระจายข่าวอย่างแพร่หลาย

6. Jazz Age

ในยุคสงคราม ชาวแอฟริกัน – อเมริกันกว่า 500,000 คนในสหรัฐฯ พากันโยกย้ายไปหางานทำทางฝั่งเหนือของประเทศ พวกเขานำพาวัฒนธรรมทางดนตรีแจ๊ซบลูส์ และการเต้นรำแบบชาร์ลสตันเข้าไปเผยแพร่ในนิวยอร์กและชิคาโก ก่อนจะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปฮิตในอังกฤษและฝรั่งเศส ศิลปินแจ๊ซผู้มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น หลุยส์ อาร์มสตรอง, เบสซี สมิธ, วง The Hot Fives, ดุ๊กเอลลิงตัน, โจเซฟ โอลิเวอร์ และมาเรนีย์ การเต้นแบบชาร์ลสตันและจังหวะคึกคักของแจ๊ซ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กระโปรงของผู้หญิงต้องหดสั้นขึ้นเพื่อให้เต้นได้สะดวก

7. Erte: King Of Art Deco

โรแมน ดิ ติรตอฟ (Romain de Tirtoff) หรือเออร์เต้ เป็นศิลปินชาวรัสเซียที่เดินทางสู่ปารีสเพื่อทำงานออกแบบ เขาเข้าทำงานกับปอลปัวเรต์ ในปี ค.ศ. 1913 จากนั้นอีกสองปีได้เซ็นสัญญาวาดภาพปกให้กับนิตยสาร ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ซึ่งได้ทำงานต่อเนื่องมาถึง 24 ปีกับภาพปกกว่า 250 ชิ้น เออร์เต้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งอาร์ตเดโค ศิลปะที่เข้ามาแทนที่อาร์ตนูโว อันมีโครงสร้างหลักเป็นเส้นสายโค้ง บอบบางและเหมือนจริงตามธรรมชาติ เช่น รูปดอกไม้ใบหญ้าทั้งหลาย แต่เออร์เต้ตัดทอนรายละเอียดต่างๆ ให้เหลือแต่เค้าโครง เป็นลักษณะการใช้คิวบิสม์และรูปทรงเรขาคณิตที่มีเส้นสายชัดเจน ตรง แข็ง เด็ดเดี่ยว รวมทั้งสีสันสดเข้มเออร์เต้ยังออกแบบคอสตูมละครเวทีต่างๆ ปกนิตยสาร และคอลเล็คชั่นเสื้อผ้าอีกมากมาย และมีชีวิตยืนยาวถึง 97 ปี

8. The Flapper – Garconne

สังคมในช่วงหลังสงคราม ผู้คนมองชีวิตในกรอบกฎระเบียบอย่างเสียดเย้ยและสลัดความเศร้าจากสงครามด้วยการทำทุกอย่างที่เป็นด้านตรงข้ามของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมจรรยาอันดี เป็นสังคมที่เมามายอย่างวายป่วง จนเอฟสกอตต์ฟิตซ์เจอรัลด์ ผู้ประพันธ์นวนิยาย The Great Gatsby ที่สะท้อนความเสื่อมของสังคมยุคนี้ ขนานนามว่าเป็น Lost Generation ผู้หญิงที่ออกจากบ้านมาทำงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ไม่เคยกลับไปเป็นแม่บ้านผู้สงบเสงี่ยมอีกเลยนับแต่นั้น พวกเธอขับรถเที่ยว สูบบุหรี่มวนต่อมวน ดื่มเหล้าเป็นน้ำในทุกปาร์ตี้ ตัดผมบ๊อบสั้น แต่งหน้าจัด เซ็กซี่ ใส่เดรสที่ช่วงเอวต่ำลงมาที่สะโพก ชายกระโปรงหดสั้นขึ้นไป เป็นสาวเก๋ซิ่งและซ่าเรียกว่า “แฟลปเปอร์” เพราะเด็กสาวในวิทยาลัยมักใส่รองเท้าบู๊ต โดยไม่ได้ติดกระดุม เวลาเดินสายคาดรองเท้าจะสะบัดไปมาเหมือนนกกระพือปีกเป็นที่มาของชื่อ Flapper (ลูกนก) หรือการ์ซอนน์ (เด็กผู้ชาย) ในภาษาฝรั่งเศส โดยมีโคโค่ชาแนล เป็นผู้นำเทรนด์นำเสื้อผ้าผู้ชายเข้ามาปรับใช้กับเสื้อผ้าผู้หญิงด้วยเดรสหลวมโพรกไม่ขับเน้นสรีระ

9. Mary Jane

ตั้งแต่ยุคเอ็ดวาร์เดียน ผู้หญิงใส่แต่รองเท้าบู๊ต แต่ในยุคนี้รองเท้าบู๊ตติดกระดุมได้พัฒนาขึ้นให้สวยงามด้วยการปักประดับหรือหุ้มด้วยผ้าไหมแต่งลายด้วยมือ มีสายคาดเหมือนรองเท้านักเรียนหรือเป็นสายรูปตัวทีด้านหน้ารองเท้า เสริมส้นแบบคิวบัน (Cuban Heel) สูง 2 นิ้วที่เรียกว่า “แมรี่เจน” เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ปาร์ตี้แอนิมอลของสาวๆ ยุคนี้โดยเฉพาะ

10. Shower Bouquet

ช่อดอกไม้ทรงน้ำตกเป็นที่นิยมแทนบูเกต์ทรงกลม เป็นอิทธิพลรูปทรงเรขาคณิตของศิลปะแนวอาร์ตเดโค และยังเป็นน้ำตกช่อใหญ่มาก ดอกไม้สุดฮิตคือลิลี่สีขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์ของความรัก เจ้าสาวมักโอบช่อดอกไม้ไว้ข้างใดข้างหนึ่งแทนการถือช่อดอกไม้ไว้กลางลำตัว

11. Juliet Headdress

ยุคนี้ไม่มีหญิงรับใช้ตามบ้าน เพราะทุกคนต้องออกไปทำงานแทนผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงที่เคยไว้ผมยาวถึงสะโพกและมีคนรับใช้คอยหวีจัดแต่งทรงผมให้ ต้องตัดผมสั้นเป็นทรงบ๊อบยาวแค่คางและด้านหลังตัดให้ทุยสูงขึ้นไป เรียกว่า “Eton Crop” สำหรับเจ้าสาวมีเครื่องประดับผมแบบใหม่ที่นำมาจากหมวกของจูเลียตตัวละครเอกในวรรณกรรมคลาสสิกของเชกสเปียร์ โดยใส่หมวกคาดทับปิดหน้าผากและติดเวลเข้าไป อีกทั้งเวลในยุคนี้ยาวเป็นพิเศษ จนกล่าวได้ว่า กระโปรงยิ่งสั้น เวลยิ่งยาว

12. Heavy Beading

อิทธิพลของอาร์ตเดโคส่งผลต่อการตกแต่งเสื้อผ้าผ่านการปักประดับชุดให้วิบวับแพรวพราวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเดรสรูปทรงตรงๆ เหมือนหลอดในยุคนี้ยิ่งทำให้การปักประดับเป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้น ผู้นำเทรนด์ปักคือฌานน์ ลองแวง (Jeanne Lanvin) ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อ Lanvin ในปัจจุบัน งานออกแบบของเธอใช้ช่างปักจากเมซง เลอซาจ (Maison Lesage) ซึ่งเป็นงานฝีมือชั้นสูงของฝรั่งเศสที่ทำทุกอย่างด้วยมือ

13. 1920 s Themed Weddings
ชุดเจ้าสาว

และสุดท้ายสำหรับเจ้าสาวยุคปัจจุบันที่หลงใหลความงามในยุคแจ๊ซ แล้วนำมาปรับใช้กับพิธีแต่งงานในศตวรรษที่ 21ได้อย่างเก๋ไก๋และกลมกล่อม

Praew Recommend

keyboard_arrow_up