เช็กลิสต์เรื่องต้องรู้! “มะเร็งเต้านม” ภัยใกล้ตัวผู้หญิงที่ห้ามมองข้าม

account_circle

เทรนด์ไลฟ์สไตล์มาแรงของผู้หญิงยุคนี้ นอกจากเรื่องบิวตี้ที่ต้องปังแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญก็ต้องยกให้กับเรื่องสุขภาพ เรียกว่าเข้าตำรา “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นั่นเอง โดยหากจะพูดถึงโรคภัยใกล้ตัวผู้หญิงก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ “มะเร็งเต้านม” ซึ่งถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในผู้หญิง 

ดังนั้น Praew Survey ครั้งนี้ จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับมะเร็งเต้านมแบบรอบด้าน เริ่มตั้งแต่การรู้จักกับปัจจัยเสี่ยง การสังเกตอาการ วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ไปจนถึงหากเป็นแล้วต้องทำอย่างไร แพรว รวบตึงเช็กลิสต์ต้องรู้! มาให้ตรงนี้แล้วค่ะ

เรื่องต้องรู้อันดับแรกที่ แพรว ขอแนะนำคือปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม หรือพูดง่ายๆ คือใครบ้างที่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมีเช็กลิสต์ดังนี้เลยค่ะ 

  • ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • คนที่มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมมาแล้วข้างหนึ่ง 
  • คนที่มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เพราะการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการได้รับฮอร์โมนเช่นเดียวกับการเป็นมะเร็งเต้านม 
  • คนที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ 
  • การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน เช่น คนที่มีประจำเดือนครั้งแรกไวกว่าปกติ (ก่อนอายุ 12 ปี) คนที่หมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ (หลังอายุ 55 ปี) ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาฮอร์โมนทดแทน คนที่กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโตนั่นเอง 
  • ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ น้ำหนักเกินเกณฑ์ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

มะเร็งเต้านม อาจฟังดูน่ากลัว แต่หากเรารู้จักสังเกตอาการ และได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ภัยใกล้ตัวนี้ก็ไม่ได้น่ากังวลใจอย่างที่คิด ดังนั้นการสังเกตอาการของมะเร็งเต้านมให้เป็น จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงทุกคน หากอยากรู้ว่ามะเร็งเต้านมอาการเป็นยังไงบ้าง สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองดังนี้เลยค่ะ 

  • คลำเจอก้อนหนาๆ ในเต้านมหรือใต้รักแร้
  • หัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา
  • รูขุมขนของผิวหนังบริเวณเต้านมใหญ่ขึ้นเหมือนผิวเปลือกส้ม
  • มีผื่นคันบริเวณหัวนมและลานหัวนม
  • มีอาการปวดเต้านมมากกว่าปกติ

นอกจากการหมั่นสังเกตอาการของมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราคลายกังวลได้คือการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด ซึ่งเราสามารถตรวจมะเร็งเต้านมได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • คลำเต้านมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตัวเอง ซึ่งสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยการคลำเต้านมเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง และแนะนำให้ตรวจหลังหมดประจำเดือน 2 – 3 วัน เพราะเป็นช่วงที่จะคัดเต้านมน้อย สำหรับวัยหมดประจำเดือนสามารถตรวจช่วงใดก็ได้ ส่วนคนที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกแล้ว ขอแนะนำให้ตรวจช่วงที่เต้านมไม่คัดตึง 
  • ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมวิธีแมมโมแกรมระบบดิจิตอล (Mammogram) และอัลตราซาวด์ เป็นวิธีตรวจมะเร็งเต้านมที่ขอแนะนำสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ซึ่งควรเข้ารับการตรวจทุกๆ 1 – 2 ปี โดยการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมเป็นการตรวจที่ใช้เอกซเรย์พลังงานต่ำถ่ายภาพของเต้านม เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งเมื่อมีอาการและยังไม่มีอาการ ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่าการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี ทำให้สามารถตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสสูงในการรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้า
  • ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง เป็นอีกหนึ่งวิธีตรวจมะเร็งเต้านมที่จะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติ ซึ่งต้องการตรวจหาเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น

มาถึงเรื่องสุดท้ายที่ แพรว อยากแชร์ความรู้ให้กับทุกคน คือการรักษามะเร็งเต้านม ที่เราสามารถต่อสู้กับมันได้อย่างอุ่นใจยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันมีหลากหลายทางเลือกในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน หรือการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) 

นอกจากนี้ แพรว ยังอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งมีทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ ที่ชำนาญการเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ หรืออายุรแพทย์ ที่จะร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีรักษา เช่น ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง อายุและสุขภาพของผู้ป่วย ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน ปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เป็นต้น

ที่สำคัญคือช่วยดูแลได้ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านม โดยศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทำงานภายใต้ 3 หัวใจหลัก ได้แก่ 

  • Fast Diagnosis (วินิจฉัยเร็ว) สามารถทราบผลได้ภายใน 72 ชั่วโมง โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยตั้งแต่ ซักประวัติ ตรวจคัดกรอง และส่งเจาะชิ้นเนื้อ
  • Fast Treatment (รักษาเร็ว) เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายมากยิ่งขึ้น
  • Excellent Outcome (ผลลัพธ์การรักษาและความปลอดภัย) ที่สามารถมั่นใจได้ในผลการรักษาจากทีมแพทย์และผู้ชำนาญการที่ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งหมดนี้คือความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ที่ แพรว อยากแชร์ให้ผู้หญิงทุกคนหันกลับมาใส่ใจภัยใกล้ตัวนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างที่เน้นย้ำไปว่ายิ่งรู้ไวเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้นค่ะ 

ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร 02 011 3680  หรือ คลิก www.bumrungrad.com/th/centers/breast-center-bangkok-thailand

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลแหล่งที่มาจากเว็บไซต์บำรุงราษฎร์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up