เจาะแพสชั่น “ฟิลิป โคลแบร์” ศิลปินผู้สร้างจิตวิญญาณล็อบสเตอร์ยักษ์โลดแล่นทั่วโลก กับพิกัดล่าสุด @ สยามพารากอน

account_circle

แพรว พาไปทำความรู้จักกับศิลปินป๊อปอาร์ตแห่งยุค ที่จะเนรมิตอินสตอลเลชั่น “จักรวาลล็อบสเตอร์” (The Lobster) ขึ้นที่สยามพารากอนอย่างยิ่งใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

สยามพารากอน จับมือธนาคารกสิกรไทยและ JOOX สร้างปรากฏการณ์ระดับโลก ครั้งแรกของการคอลลาบอเรชั่นอย่างเป็นทางการกับศิลปินป๊อปอาร์ตระดับโลกชาวอังกฤษ Philip Colbert (ฟิลิป โคลแบร์) นำ “จักรวาลล็อบสเตอร์” (The Lobster) ผลงานศิลปะอันโด่งดังแลนดิ้งสู่ประเทศไทยสุดยิ่งใหญ่ เนรมิตอินสตอลเลชั่นอาร์ตสุดอลังการขึ้นที่ พาร์ค พารากอน ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งระดับโลก (World Class Shopping Destination) และตอกย้ำความเป็นที่หนึ่งในใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อเฉลิมฉลองอภิมหาสงกรานต์ที่พิเศษที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และป๊อปที่สุด

รู้จัก ฟิลิป โคลแบร์ ศิลปินผู้มีตัวตนเป็นลอบสเตอร์

“ผมกลายเป็นศิลปิน เมื่อผมกลายเป็นลอบสเตอร์” กล่าวโดย ฟิลิป โคลแบร์ ศิลปินชาวสกอตแลนด์ ที่มาเติบโตและทำงานโลดแล่นในประเทศอังกฤษ ผู้ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ เขาคือศิลปินที่สร้างผลงานระดับโลกด้วยแคแรกเตอร์ของลอบสเตอร์สีสันสดใสที่มาพร้อมท่าทางสนุกสนาน โคลแบร์ได้สร้างนิยามทางศิลปะของตนเองผ่านความหลงใหลในการใช้สัญญะ การสร้างตัวตน และเสรีภาพในการแสดงออก “ในฐานะศิลปิน ผมมีอิสระอย่างแท้จริงที่จะก้าวข้ามไปในโลกที่ผมใช้จินตนาการสร้างสรรค์มันขึ้นมา” เขาอธิบายแนวคิดให้ฟังตอนที่เจอกัน

Lobster at Marina Bay Sands, Singapore

โคลแบร์ ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดศิลปินป๊อปอาร์ตร่วมสมัย เขาได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Rolex, Montblanc, Christian Louboutin และ COMME des GARÇONS รวมถึงได้จัดแสดงงานในหอศิลป์หลากหลายประเทศ ทั้ง Saatchi Gallery ที่กรุงลอนดอน the Museo Archeologico Nazionale ที่เมืองเนเปิลส์ และ the Whitestone Gallery ที่สิงคโปร์ และตอนนี้โคลแบร์กำลังจะนำงานประติมากรรมลอบสเตอร์แนวไฮเปอร์ป๊อปของเขามาจัดแสดงในกรุงเทพ ที่พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตลอดเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 16 เมษายน 2567

ทายาทแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ป๊อบคัลเจอร์อาร์ทติสตัวพ่อ

งานของโคลแบร์โดดเด่นด้วยความฉูดฉาด และสไตล์แฟนตาซี จนทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ทายาทของแอนดี้ วอร์ฮอล’ ที่สานต่องานป๊อปอาร์ตสไตล์เอกเพรสชั่นนิสต์ในยุคปัจจุบัน “แต่ผมก็ไม่ได้เป็นทายาทจริงๆ ของแอนดี้ วอร์ฮอลหรอกนะ!” เขายืนยันไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ “แต่แน่นอนว่าผมได้รับแรงบันดาลใจจากเขา เช่นเดียวกับศิลปินคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นประติมากรอย่าง อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ หรือศิลปินเกาหลีอย่าง นัม จุน เพ็ก (Nam June Paik) และก็มี รอย ลิคเทนสไตน์  (Roy Fox Lichtenstein) อีกคนด้วย” มีคุณสมบัติหนึ่งในตัวศิลปินเหล่านั้นที่โคลแบร์ชื่นชม “พวกเขามีความเป็นนักแสดง และแสดงตัวตนผ่านแคแรกเตอร์ที่พวกเขาสร้าง” เขากล่าว “เช่นเดียวกับผม ลอบสเตอร์ก็คือด้านที่เป็นศิลปินของผม ตัวตนของลอบสเตอร์ก็คือภาพสะท้อนของอิสรภาพที่ผมมีในการสร้างตัวตนทางศิลปะของผมเอง”

Lobster at Venice, Italy

ทำไมต้องเป็น ‘ลอบสเตอร์’

เป็นเพราะสัตว์ทะเลชนิดนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งรูปร่างที่ดูเหมือนสิ่งมีชีวิตมาจากต่างดาว และมีความหมายเชิงสัญญะในโลกศิลปะ สิ่งเหล่านี้จุดประกายจินตนาการให้โคลแบร์ “ลอบสเตอร์เป็นสัญลักษณ์สำคัญทางศิลปะมายาวนาน ในสมัยโบราณ ลอบสเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะโมเสคและจิตรกรรมฝาผนัง มันเป็นส่วนหนึ่งของภาพหุ่นนิ่งของชาวดัตช์ มาจนถึงยุคศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์ ซัลวาดอร์ ดาลี ก็ใช้ลอบสเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชิ้นเด่นๆ ของเขา” มิสเตอร์ลอบเตอร์อธิบาย ตัดมาที่ยุคของฟิลิป โคลแบร์ ลอบสเตอร์ก็ถูกใช้เป็นสัญญะและมีตัวตนในแบบฉบับของมันเอง “เมื่อผมมองย้อนไปในอดีต ผมเห็นว่าลอบสเตอร์เป็นคาแร็คเตอร์สำคัญ ผมหลงใหลลอบสเตอร์ในฐานะที่มันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายในงานของผม และคนก็เริ่มเรียกผมว่าลอบสเตอร์แมน”

Lobster at Gstaad Palace, Switzerland

กว่าจะเป็นมิสเตอร์ลอบสเตอร์ โคลแบร์จบการศึกษาด้านปรัชญามาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ และการเรียนปรัชญาอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาหลงใหลสัตว์ทะเลตัวนี้ “ตอนที่ผมเรียนปรัชญา ผมสนใจเรื่องอารมณ์ขันและการเสียดสีที่เกี่ยวข้องกับป๊อปคัลเจอร์” แน่นอนว่า ลอบสเตอร์ของโคลแบร์มีคาแร็คเตอร์ที่สนุกสนาน สดใส ร่าเริง ขี้เล่น  มันเป็นการหลอมรวมกันระหว่างศิลปะที่เต็มไปด้วยสัญญะกับอิทธิพลจากศิลปะยุคโบราณ ที่โดดเด่นด้วยความมีชีวิตชีวา และการแหวกขนบ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างงานศิลปะ “ชั้นสูง” กับงานป๊อปอาร์ต “ตลาดล่าง” ดูพร่าเลือน ลอบสเตอร์ของโคลแบร์สะท้อนแนวคิดของผู้สร้างที่ว่างานศิลปะไม่จำเป็นต้อง “จริงจัง” เสมอไป เจ้าตัวได้ขยายความว่า “ผมไม่ชอบการเสแสร้ง ศิลปะมันคือความสนุก”

Lobster at Modern Art Museum, Shanghai

เพราะงานของโคลแบร์ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเช่นนี้เอง การจัดแสดงงานที่กรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงดูพอเหมาะพอเจาะกันเป็นอย่างมาก สงกรานต์คือหนึ่งในเทศกาลรื่นเริงและเปี่ยมไปด้วยสีสันมากที่สุดในประเทศไทย ลอบสเตอร์และงาน “ป๊อปอาร์ตสุดแนว” ตามที่โคลแบร์ได้ที่นิยามตัวเองไว้ ก็เข้ากันดีสุดๆ กับเทศกาลสนุกสุดเหวี่ยงอย่างสงกรานต์ ตลอดเทศกาลจะมีคนหลายหมื่นคนแวะเวียนมาชมงานของเขาที่สยามพารากอน และโคลแบร์รู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่งานของเขาจะได้เข้าถึงผู้ชมที่หลากหลาย “ผมตื่นเต้นจริงๆ ที่จะได้มากรุงเทพ ผมว่ากรุงเทพฯ มีเสน่ห์ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สีสัน และงานสถาปัตยกรรมภายในเมือง” นี่เป็นครั้งแรกที่ผลงานของฟิลิปถูกนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทย บริเวณพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยฟิลิปได้ดึงเอาวัฒนธรรมไทยเข้ามาผสมในชิ้นงาน เราจะได้เห็นลอบสเตอร์ถือปืนฉีดน้ำ, ขี่หลังช้าง และขึ้นรถตุ๊กตุ๊ก เป็นการแสดงถึงความรักที่ศิลปินมีให้เมืองไทย

ส่งพลังผ่านงานศิลปะ

และนี่ยังเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ที่โคลแบร์จะได้มาจัดแสดงงานในศูนย์การค้าอย่างสยามพารากอน แทนที่จะเป็นหอศิลป์ แล้วเขาคิดว่าคนที่มาดูงานจะรู้สึกกับงานของเขาต่างไปจากคนที่มาดูงานของเขาที่หอศิลป์หรือไม่? “ถึงผมจะเชื่อว่าการใช้มัลติมีเดียจะทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนในวงกว้าง ผมก็เชื่อว่าไม่มีงานศิลปะชิ้นไหนที่จะถูกใจคนทุกคนได้หรอก” โคลแบร์กล่าว “และบางครั้ง การที่คนไม่ชอบนั้นน่าสนใจกว่าด้วยซ้ำ” การสร้างงานให้คนชอบไม่ใช่เป้าหมายของฟิลิป โคลแบร์ ไม่ต่างจากศิลปินตัวจริงคนอื่นๆ “สำหรับผม ศิลปะไม่ใช่เรื่องของการมีคนมาชอบ ศิลปะคือการถ่ายเทพลังงาน เวลาคุณมองดอกทานตะวัน คุณสัมผัสได้ถึงพลังของแสงอาทิตย์ที่เจิดจ้า” โคลแบร์อธิบาย

Lobster at Huashan 1914 Creative Park, Taiwan

“ผมอยากให้งานของผมมีผลแบบเดียวกัน อยากให้มันเป็นมวลพลังงานที่ส่งไปถึงผู้ชม ผมมองศิลปะเป็นการเฉลิมฉลองให้กับความสนุกและอิสระเสรี” โคลแบร์อยากให้งานของเขาที่สร้างความคึกคักและมีชีวิตชีวาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สยามพารากอน และส่งต่อพลังบวกให้ทุกคนในบริเวณนั้น

Lobster at Roman Rooftops

โคลแบร์ตื่นเต้นมากที่จะได้มาเมืองไทยเพื่อจัดแสดงงานในกรุงเทพช่วงสงกรานต์นี้ และเขายังเชิญชวนให้ศิลปินรุ่นใหม่ของไทยหันมาสนใจวัฒนธรรมไทยอีกด้วย “ยิ่งคุณอยู่ในประเทศอย่างประเทศไทย ที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ อย่ากลัวที่จะใช้ประโยชน์จากมรดกที่คุณมี มีเรื่องราวอันน่าทึ่งมากมายให้คุณพูดถึงในเมืองนี้” เขากล่าว “คุณสามารถใช้ศิลปะทำให้จิตวิญญาณความเป็นไทย มันร่วมสมัยในแบบฉบับของคุณเองได้ เล่าเรื่องของคุณ และสร้างตัวตนของคุณขึ้นมา” โคลแบร์ทิ้งท้าย สงกรานต์ปีนี้เตรียมพบกับ “ดินแดนล็อบสเตอร์ยักษ์” ผลงานสุดอลังการที่โคลแบร์สร้างสรรค์และภูมิใจนำเสนอเป็นที่แรกในโลก! ในเทศกาลมหาสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ @ งาน Siam Paragon Ultrasonic Water Festival 2024 “Songkran Lobster Wonderland by Philip Colbert” ระหว่างวัน
ที่ 9 – 16 เมษายน 2567 ณ พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน

Praew Recommend

keyboard_arrow_up