Gemholic…Never Stops การพัฒนาไอเดียที่ไม่เคยหยุดของ คุณปัน-รมย์มนันท์ ติรณศักดิ์กุล

Passion ทำให้คุณปัน-รมย์มนันท์ ติรณศักดิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมฮอลิค จำกัด ไม่เคยหยุดที่จะมองหาไอเดียใหม่ๆ มาพัฒนา Gemholic ที่เป็นแบรนด์เพชรแฟนซีสีหนึ่งเดียว ที่โดดเด่นได้ใจลูกค้าอยู่เสมอ

คุณปันเริ่มต้นธุรกิจ เมื่อ 4 ปีที่แล้วจากการขายเพชรแฟนซีในช่องทางออนไลน์ผ่าน Instagram โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงทำการขยับขยายมาเปิดหน้าร้านที่ศูนย์การค้า Terminal 21 อโศก เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

        อ่านแล้วดูเหมือนง่าย แต่กว่าจะมีวันนี้เธอเจอแต่โจทย์หิน เพราะย้อนไป ณ จุดเริ่มต้น คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับเพชรแฟนซี หรือเพชรสี จึงเต็มไปด้วยข้อสงสัยว่าเป็นเพชรแท้ไหม ของปลอมหรือเปล่า  แต่เธอก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อาศัยความตั้งใจ ความซื่อสัตย์ เอาชนะทุกอุปสรรค จนทำให้ Gemholic เป็นแบรนด์เพชรแฟนซีอันดับหนึ่งอย่างในวันนี้

เสน่ห์เพชรสี

      “สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับเพชรแฟนซี ขอเล่าให้ฟังว่า เพชรแฟนซี หรือที่เรียกว่าเพชรสี มีต้นกำเนิดเหมือนเพชรขาวเลยค่ะ แค่มีสีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งสีน้ำตาล เหลือง เขียว ส้ม ม่วง ชมพู ฟ้า และแดง สาเหตุที่เพชรแฟนซีไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เพราะหายาก ถ้าเทียบให้เห็นเป็นภาพ หากขุดเจอเพชรขาว 2,000-3,000 กะรัต จะเจอเพชรสีเพียง 1-2 กะรัต ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วก่อนจะมี Gemholic เพชรแฟนซี หรือเพชรสีนั้นยังไม่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทย แต่ที่ต่างประเทศได้รับความนิยมมานานแล้ว

          “ปันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบซื้อเพชร ซื้อเครื่องประดับ โดยเฉพาะเพชรแฟนซี การที่ปันมีโอกาสได้ไปเรียนไฮสคูลที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่เด็ก จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และก็ได้ไปเรียนต่อที่ประเทศจีนหลังจากนั้น เรียกว่าใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างประเทศ ทำให้รู้จักแหล่งซื้อขายเพชร และมีคอนเน็คชั่นมากมายในมือ และด้วยที่เป็นคนที่ชอบซักถาม สืบต้นตอว่าของมาจากไหน เขาขึ้นเรือนที่โรงงานอะไร ขนส่งอย่างไร ฯลฯ ขยันหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนสามารถจับแพะชนแกะ และสร้างธุรกิจด้วยตัวเองได้

“ปันกลับมาเมืองไทย พบว่าตลาดจิวเวลรี่ส่วนใหญ่ขายเพชรขาว พลอย มีเพชรแฟนซีบ้าง แต่น้อยมาก และไม่ได้มีร้านเพชรร้านไหนในประเทศไทยที่ขายแต่แฟนซีโดยเฉพาะ ปันมองว่านี่เป็นช่องว่างของตลาดจึงก่อตั้งแบรนด์ Gemholic ในปี 2019 โดยขายเฉพาะเพชรแฟนซีอย่างเดียวเจ้าแรกในเมืองไทย โดยขายช่องทางออนไลน์เป็นหลัก”

อุปสรรคมีไว้ชน

       “ต้องบอกว่าช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจยากลำบากมากค่ะ เพราะหนึ่ง เพชรแฟนซียังไม่แพร่หลายในหมู่ลูกค้าคนไทย พอไม่รู้จักก็ยากที่จะวางใจแบรนด์เราที่นับว่ายังใหม่มากด้วย เขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร จะโกงไหม เพชรที่ขายเป็นของแท้หรือเปล่า บวกกับตอนนั้นขายทางออนไลน์เป็นหลัก ไม่มีหน้าร้าน เพราะปันยังไม่กล้าลงทุน ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จขนาดไหน พอลูกค้าไม่ได้เห็นของจริงจึงไม่กล้าซื้อ เรียกว่า ตอนนั้นเสียลูกค้าไปเยอะ ด้วยอุปสรรคที่รอบด้าน

        “ปันแก้ปัญหาจากเรื่องใหญ่ที่สุดคือ ทำคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้จักเพชรแฟนซี เช่น เพชรแฟนซีมีสีอะไรบ้าง สีไหนแพง สีไหนถูก แบรนด์แนะนำวิธีเลือกเพชรอย่างไร ฯลฯ คือเวลาใครเปิดช่องทางออนไลน์ของเรา จะเหมือนการเข้ามาเรียนรู้เรื่องเพชรแฟนซีมากกว่า ปันอาศัยการโพสต์ให้ความรู้ที่สม่ำเสมอ จนคนเริ่มเข้าใจ รู้ที่มาว่าเพชรสีก็ไม่ต่างจากเพชรขาว ซึ่งเพชรที่เรานำมาขายเป็นเพชรแท้เกิดจากธรรมชาติ  เราไม่ขายเพชร CVD (Chemical Vapor Deposition) ที่เกิดในห้องปฏิบัติการ รวมถึงเพชร HPHT (High Pressure High Temperature) ที่ผ่านความร้อนและแรงดันสูงเพื่อปรับปรุงคุณภาพและสี จนท้ายที่สุดคนให้ความเชื่อใจ และไว้วางใจในการให้เราดูแลเรื่องเพชรสีให้

      “โดยแหล่งเพชรของเรามีหลากหลาย ทั้งออสเตรเลีย แอฟริกา อินเดีย ฯลฯ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาไม่ว่าลูกค้าออเดอร์อะไร เราก็สามารถหาให้ได้ ในส่วนของราคา ขึ้นอยู่กับความนิยมของสี เช่น ถ้าเป็นสีเหลือง หรือสีน้ำตาล มูลค่าจะไม่สูงมากเพราะหาง่าย และคนนิยมน้อยกว่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับขนาดและความสะอาดด้วยนะคะ

       “ส่วนสีที่ได้รับความนิยมมากคือ สีเขียว สีชมพู และสีฟ้า ที่ราคาต่อกะรัตแพงกว่าเพชรขาวอีก อย่างในเฉดสีชมพู ซึ่งมีหลากหลาย เช่น Fancy Intense Pink เห็นสีชมพูชัดเจน ราคา 1 กะรัตอยู่ที่ 6-7 ล้านบาท (หากมาพร้อมกับใบเซอร์ GIA) หรือ Fancy Vivid Pink เป็นเฉดสีชมพูที่แพงที่สุด ราคาต่อกะรัตแตะ 8 หลักเลยทีเดียว “ในส่วนของขั้นตอนการสั่งซื้อเพชรกับเรา หลังจากเลือกเพชรได้แล้ว ลูกค้าจะส่งแบบในใจมาให้ว่าอยากได้ประมาณไหน เราอาจมีปรับดีไซน์เพิ่มเล็กน้อย จากนั้นส่งให้โรงงานขึ้นเรือน ซึ่งโรงงานที่เราติดต่อมีความ เชี่ยวชาญด้านเพชรแฟนซีอยู่แล้ว พอลูกค้าได้สัมผัสงานจริง ก็แฮปปี้มาก จึงมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ”

เสียใจวันเดียวพอ

       “ธรรมชาติของการทำงาน ปัญหาที่เข้ามารายวันถือเป็นเรื่องปกติ  ไม่อย่างนั้นคงไม่เรียกว่าทำธุรกิจ อย่างช่วงที่จะเปิดหน้าร้านแรกๆ ไม่ง่ายเลย ห้างบางแห่งไม่รู้จักแบรนด์จึงปฏิเสธให้เราเช่า บวกกับช่วงที่จะเปิดหน้าร้าน ตรงกับเกิดวิกฤตโควิดพอดี แต่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ก็ยังมีด้านบวก ตอนนั้นปันได้คุยกับ Terminal 21 เขาบอกว่ามีหลายร้านที่ปิดตัวไปเพราะพิษเศรษฐกิจ จึงมีพื้นที่ว่าง เป็นโอกาสให้เปิดหน้าร้านที่นี่

       “แม้จะมีหน้าร้านแล้ว ก็ยังเจอปัญหา เพราะช่วงที่โรคระบาดหนัก ขายได้ทางออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งตามหลักการบริหาร ต้องตัดเงินเดือนพนักงานหน้าร้านเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง แต่ปันยังให้ตามปกติ  เพราะรู้สึกว่าอย่างมากเราแค่ขาดทุน แต่เรายังมีชีวิตที่สบาย ในขณะที่พนักงานต้องกินต้องใช้ ใช้เดือนชนเดือน หากเราตัดเงินเดือนเขา เขาจะอยู่ไม่ได้ จึงขอรับผิดชอบทุกอย่างไว้เอง

        “ปันลุยก่อตั้งแบรนด์มาด้วยตัวคนเดียวก็จริง แต่การทำธุรกิจจิวเวลรี่ ไม่สามารถเป็น One Man Show ได้ กว่าจะได้แหวนเพชรหนึ่งวง มีหลายองค์ประกอบ ทั้งดีไซเนอร์ ช่างขึ้นเรือน ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงพนักงานที่คอยช่วยเหลือด้านต่างๆ ปันยึดหลักว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรเราต้องไม่ทิ้งลูกค้า ไม่ทิ้งพนักงาน เราต้องมีน้ำใจ แม้พนักงานอาจจะทำพลาดในบางเรื่อง แต่หากเขาไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหาย เราก็ควรให้โอกาส

       “เวลาเจอปัญหาเยอะๆ ยอมรับว่าเครียด อยากแก้ปัญหาให้ดีที่สุดและจบอย่างรวดเร็วเพื่อจะได้เดินหน้าต่อ แต่ปันไม่ท้อ ไม่เคยรู้สึกอยากเลิกทำ เพราะปั้นธุรกิจมาเองกับมือด้วยความรัก เพราะฉะนั้นเวลามีเรื่องทุกข์ใจ เสียใจ ปันจะให้เวลาตัวเองแค่วันเดียว รุ่งขึ้นพร้อมลุยใหม่ ไม่จมอยู่กับปัญหา”

Gemholic Vintage เจาะตลาดแฟนจิเวลรี่วินเทจ  

        “การทำธุรกิจต้องมองตัวเองให้ออก ความที่เราเป็นนิชมาร์เก็ต แม้ตลาดจะเล็ก เพราะคนเล่นเพชรแฟนซีมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เพราะลูกค้าส่วนใหญ่รู้ว่าเราเป็นผู้นำด้านนี้ เราจึงจับตลาดคนรักเพชรแฟนซีได้ ปันคิดว่าไหนๆ แบรนด์เราก็มาทางนี้ ควรทำจิวเวลรี่ให้ครอบคลุม คือมีหลากชนิด ทั้งเพชรน้ำงาม กับเพชรวินเทจ หรือเพชรดิบ จึงเป็นที่มาของแบรนด์ลูก Gemholic Vintage

       “ลักษณะของเพชรวินเทจ หรือเพชรดิบ คือไม่สะอาดไม่แวววาว ลักษณะเหมือนก้อนหินสี เช่น เพชรประเภท Salt & Pepper ถ้าแปลเป็นไทยคือพริกกับเกลือ ตัวเพชรมีตำหนิ มีทั้งความดำและขาว ทำให้สีดูหม่น แต่ก็เป็นความหม่นที่ดูวินเทจ ดิบ และอาร์ต ซึ่งเพชรแต่ละเม็ดหน้าตาไม่เหมือนกันเลย ถึงแม้ว่าเพชรพวกนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าเพชรน้ำงามปกติ แต่ก็ยังคงเป็นเพชรแท้ และเป็นอีกหนึ่งช่องว่างของตลาดจิวเวลรี่ที่ปันมองเห็น “อีกเหตุผลที่เรามาจับตลาดตรงนี้ เพราะปันมองว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการความหรูหรา ยังมีกลุ่มคนที่ชอบความอาร์ต ติสท์ เซอร์ มีเสน่ห์ และเพชรแนวนี้มาในราคาที่จับต้องได้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เปิดตัวจึงได้กระแสตอบรับที่ดีมาก”

ไม่หยุดที่ความพอใจ..พัฒนาสิ่งใหม่อยู่เสมอ

       “ในอนาคต ปันมีแพลนจะขยายธุรกิจ ปรับปรุงสถานที่ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสดูเพชรได้หลากหลาย และมีจำนวนเพชรมากขึ้นกว่าเดิม คาดว่าปีหน้าน่าจะได้ชมกัน

       “ถ้าถามว่าทุกวันนี้ปันพอใจกับธุรกิจแล้วหรือยัง ตอบได้เลยว่ายังค่ะ เพราะเราไม่หยุดนิ่ง ต้องการความแปลกใหม่ตลอดเวลา อย่างตอนที่ยังไม่มีหน้าร้าน ก็มีความฝันว่าอยากมีร้านเพชร แต่พอมีร้านแล้ว ก็อยากขยับขยาย คือมีโปรเจ็คต์ในหัวตลอด ขนาดวันว่างปันยังไม่เคยหยุดคิดเรื่องงาน อาจเพราะแพชชั่นของปันอยู่ที่การทำงาน การคิดงานจึงเป็นการพักผ่อนรูปแบบหนึ่งสำหรับปัน (ยิ้ม)
“เพราะฉะนั้นในอนาคตจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จาก Gemholic  ออกมามากมาย ไม่หยุดนิ่งแน่นอนค่ะ”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up