แรงงานต่างด้าว

ปัญหา “แรงงานต่างด้าว” ในวิกฤติโควิด-19 พันธกิจที่ “กรมการจัดหางาน” มุ่งมั่นรับมือ

แรงงานต่างด้าว
แรงงานต่างด้าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แรงงานต่างด้าว” พวกเขาถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยให้หลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เช่นนี้ ก็เกิดหลากหลายปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทำให้ “กรมการจัดหางาน” ซึ่งทำหน้าที่ดูแล ตรวจสอบ และควบคุมการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในภารกิจดังกล่าว

ทั้งนี้ คุณไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เล่าให้ แพรว ฟังถึงแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างรอบด้านและจริงใจ เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวทุกคนอย่างเต็มที่ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย

 

การรับมือปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลามาเกือบ 2 ปี ทำให้เราจำเป็นต้องหยุดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางานจึงบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2,500,000 คนมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ ในจำนวนดังกล่าวประกอบด้วยแรงงานต่างด้าวที่ออกจากนายจ้างเดิม แต่ยังไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ ทำให้พวกเขากลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งปัญหานี้เราผ่อนผันให้พวกเขาสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อรอการขึ้นทะเบียนกับนายจ้างใหม่

“ส่วนแรงงานต่างด้าวแบบ MOU ที่ครบสัญญาการจ้างงาน 4 ปีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วแรงงานกลุ่มนี้จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางก่อน เพื่อเว้นช่วงการทำงานเป็นระยะเวลา 30 วันตามกฎหมาย แล้วค่อยกลับมาใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศไม่เอื้ออำนวย และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค กรมการจัดหางานจึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแก่คณะรัฐมนตรี โดยการผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางก่อน แต่สามารถขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานในประเทศไทยต่อไปได้

คุณไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

“นอกจากนี้ยังมีปัญหาของกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2562 ซึ่งเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางที่เรียกว่า CI หรือเอกสารรับรองบุคคล เริ่มทยอยหมดอายุตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้เป็นต้นมา ซึ่งหากไม่บริหารจัดการใดๆ แรงงานกลุ่มนี้ก็จะไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยต่อได้ ดังนั้นกรมการจัดหางานจึงเสนอแนวทางการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยต่อได้ โดยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ และยื่นขอเอกสารให้เรียบร้อย เพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการจ้างงานที่ถูกต้องต่อไป”

 

การรับมือปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
“สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ก็ต้องมาดูกันว่าเป็นการผิดกฎหมายแบบไหนนะครับ ถ้าเป็นการลักลอบเข้าเมือง ก็จะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่กรมการจัดหางานก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนด้วย อย่างจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน เช่น จันทบุรี ตาก เชียงใหม่ สระแก้ว หนองคาย ระนอง เราก็จะสั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเป็นตัวแทนของกรมการจัดหางาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ในการตรวจสอบและปราบปรามแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามา เราจึงถือเป็นหน่วยเสริมสนับสนุนในการแก้ไขปัญหานี้

คุณไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

“ส่วนภารกิจหลักของกรมการจัดหางานในการขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย คือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างใช้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน และขึ้นทะเบียนการทำงานอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง เพราะเรื่องนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย”

 

การให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในวิกฤติโควิด-19
“จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง กรมการจัดหางานก็ได้ทำโครงการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบ โดยช่วยเหลือด้านอาหารการกินเป็นหลัก ซึ่งในสเต็ปแรกได้แจกข้าวกล่องไปแล้วกว่า 1,250,000 กล่อง ให้กับแคมป์คนงานก่อสร้างที่ถูกปิดทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

“อีกทั้งเรายังให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวโดยการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ เพราะบางคนก็โดนนายจ้างเอาเปรียบ บางคนก็โดนนายหน้าเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติ กรมการจัดหางานจึงจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวใน 10 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา สมุทรสาคร สมุทรปราการ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่พวกเขา ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างหรือขบวนการค้ามนุษย์

“นอกจากนี้แรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ยังจะได้รับการดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 การตรวจโรค และการรักษาพยาบาลกรณีที่ติดเชื้อ จากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเช่นเดียวกับกรมการจัดหางานนั่นเอง”

 

การให้ความช่วยเหลือนายจ้างในวิกฤติโควิด-19
“ถ้าเป็นเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว เช่น โครงการ ม33 เรารักกัน ที่เป็นการช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งคนไทย แรงงานต่างด้าว และนายจ้าง สำหรับกรมการจัดหางานจะให้ความช่วยเหลือหลักๆ ในการให้คำปรึกษาเรื่องข้อกฎหมาย การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการหรือนายจ้างในการหาแรงงานต่างด้าวมาทำงาน ซึ่งสะดวกสบายมากขึ้น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 โดยเราจัดทำระบบพบแรงงานออนไลน์ และใช้โปรแกรม Zoom ในการสัมภาษณ์งาน

“สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวให้กับผู้ประกอบการหรือนายจ้าง เราก็กำลังดำเนินการเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบ MOU ซึ่งตอนนี้มีผู้ประกอบการหรือนายจ้างแจ้งความประสงค์นำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบ MOU มาแล้วประมาณ 420,000 คน เราจึงกำลังเร่งกำหนดมาตรการต่างๆ ให้รัดกุมและรอบคอบมากที่สุด เช่น การกักตัว 14 วัน การตรวจหาเชื้ออย่างละเอียด การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานต่างด้าวก่อนส่งไปทำงานกับนายจ้าง

“หากผู้ประกอบการหรือนายจ้าง รวมถึงแรงงานต่างด้าวคนไหนต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถติดต่อกรมการจัดหางานได้เลยที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือช่องทางออนไลน์ Line ID : @service_workpermit  อีกทั้งเรายังมีสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 เพื่อติดต่อกรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ซึ่งเราเตรียมล่ามภาษากัมพูชา พม่า และอังกฤษ ไว้คอยให้บริการแรงงานต่างด้าวทุกคนด้วย”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up