เปิดคัมภีร์ความสำเร็จเจ้าสัว INDEX

การตัดสินใจทุกอย่างของผม ไม่ได้มาจากการเรียนหรือเทคคอร์สที่ไหน แต่มาจากประสบการณ์ลองผิดลองถูก และเรียนรู้จากความผิดพลาดล้วนๆ กว่าจะมีวันนี้ ผมผิดพลาดมาเยอะ เพียงแต่ขอให้ผิดพลาดน้อยหน่อย ทำถูกให้มากหน่อย นั่นคือสิ่งที่ดีแล้ว



เปิดคัมภีร์ความสำเร็จเจ้าสัว INDEX
ปั้นจากเงินแสนจนเป็นอาณาจักรเฟอร์นิเจอร์ 1,000 ล้าน

เรื่อง : ๙ ลมหายใจ ภาพ : กฤตธี ผ่องเสรี-วรสันต์ ทวีวรรธนะ

“การตัดสินใจทุกอย่างของผม ไม่ได้มาจากการเรียนหรือเทคคอร์สที่ไหน แต่มาจากประสบการณ์ลองผิดลองถูก และเรียนรู้จากความผิดพลาดล้วนๆ กว่าจะมีวันนี้ ผมผิดพลาดมาเยอะ เพียงแต่ขอให้ผิดพลาดน้อยหน่อย ทำถูกให้มากหน่อย นั่นคือสิ่งที่ดีแล้ว”

นี่คือสิ่งที่คุณพิศิษฐ์ ปัทมสัตยาสนธิเจ้าสัวอินเด็กซ์ เจ้าของอาณาจักร INDEX LIVING MALL 19 สาขา — คลังแห่งเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านใหญ่ที่สุดของคนไทย บอกกับเราสั้นๆ

จนทำให้อยากรู้ต่อว่าเขาต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง กว่าจะสร้างอาณาจักรที่หลายคนดูก็รู้ว่า เหยียบหมื่นล้าน แต่เจ้าตัวกลับบอกเหนียมๆ ว่า “แค่พันล้านเท่านั้น” พูดจบ เขาหัวเราะอารมณ์ดี ก่อนเล่าถึงพื้นเพที่มาของตัวเอง ว่าเป็นคนจังหวัดน่าน ครอบครัวทำมาค้าขายของเบ็ดเตล็ด เป็นร้านเล็กๆ สามคูหา ขายเสื้อผ้า สบู่ วิทยุ เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งถือว่าหรูแล้ว สำหรับจังหวัดเล็กๆ เมื่อกว่าสี่สิบปีก่อน

เขามีพี่น้องเจ็ดคน ตัวเขาเป็นคนสุดท้อง เมื่อต้องสูญเสียคุณพ่อระหว่างเรียนม.3 (ถ้าเทียบกับสมัยนี้คือป. 6) ทำให้ต้องหยุดเรียนบ่อย เขาจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยที่บ้าน กระทั่งได้พบรักกับคู่ชีวิต — คุณขันทอง เป็นพนักงานขายเครื่องสำอางที่ขายในร้านของเขา จากนั้นการผจญภัยทางธุรกิจของทั้งเขาและเธอจึงเริ่มต้นขึ้น

‘สู้ยิบตา’ ‘ประสบการณ์’ สอนให้คน ‘เก่ง’ และ ‘แกร่ง’
“ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกเบื่อการค้าของที่บ้าน ต้องตื่นตี 5 เปิดร้านเจ็ดโมง ปิดร้านสามทุ่ม ปีหนึ่งหยุดแค่วันเดียวคือวันชิวอิก ช่วงตรุษจีน จึงคิดว่าในเมื่อชอบพอกับคุณขันทอง ซึ่งกำลังจะกลับกรุงเทพฯ เราก็มาหางานทำที่กรุงเทพฯด้วยเลยดีกว่า แต่ในเมื่อเราไม่ได้เรียนหนังสือสูง จะหางานอะไรทำ พอดีมีเพื่อนแนะนำให้รู้จักช่างเฟอร์นิเจอร์ เขาทำเก้าอี้พับจากเหล็กและไม้อัดบุนวมสีแดง เป็นเก้าอี้ราคาถูกที่นิยมใช้นั่งตามงานเลี้ยงสมัยก่อน ผมจึงตัดสินใจขอเงินที่บ้านมาเกือบแสน ทำโรงงานเป็นเพิงเล็กๆ เริ่มสตาร์ทด้วยคนงานสิบคน ตอนนั้นไม่ได้คิดเยอะ คิดแค่ให้วันนี้อยู่รอด มีข้าวกิน จบแล้ว อาศัยว่าผมกับคุณขันทองช่วยกันทำทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นเซลส์ แบกของ ขับรถส่งของ คุมโรงงาน และการเงิน ทำงานด้วยกันได้หนึ่งปี จึงแต่งงาน”

ทั้งคู่ช่วยกันทำมาค้าขายได้ห้าปี จนมีโอกาสเดินทางไปฮ่องกง มาเลเซีย เห็นเก้าอี้และเฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์แปลกไปจากเก้าอี้พับที่เขาทำอยู่ มีทั้งเก้าอี้ดินเนอร์ โต๊ะวางทีวี นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้เขาขยายงานผลิต สู่เฟอร์นิเจอร์งานไม้มีดีไซน์ และขยายกิจการมาเรื่อย จากโรงงานไม่กี่สิบตารางวา เพิ่มเป็นสองไร่แถวถนนพระราม 2 และกลายเป็นกว่าสิบไร่ในปัจจุบัน ไม่นับโรงงานในจังหวัดอื่นๆ อีกหลายร้อยไร่ รวมทั้งเริ่มผลิตเพื่อส่งออก โดยซาอุดิอาระเบียประเทศแรก ก่อนข้ามฝั่งส่งออกประเทศต่างๆ ในยุโรป จนทุกวันนี้เขาสามารถส่งออกกว่าเก้าสิบประเทศทั่วโลก
ต่อมา เขาเริ่มคิดทบทวนถึงการทำธุรกิจในประเทศ แต่เดิมเคยขายสินค้าผ่านยี่ปั๊ว พ่อค้าคนกลาง ส่งขายตามร้านในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่การขายผ่านยี่ปั๊ว ต้องแข่งขันกันหลายแบรนด์ ทำให้เขาริเริ่มนำสินค้าไปวางขายตามศูนย์การค้าฯ โดยนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศมาขายด้วยในชื่อ TREND DESIGN ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี

“พอดีผมไปหาลูกค้าที่ขอนแก่น จึงแวะดูร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อผ่านยี่ปั๊ว รู้สึกแปลกใจว่าสินค้าที่เราผลิตหายไปไหนหมด ถามดูถึงรู้ว่าเขาเอาไปหลบอยู่มุมร้าน เพราะเราขายเก้าอี้พับตัวละร้อยกว่าบาท ขายโต๊ะรีดผ้า โต๊ะวางทีวี ซึ่งเขาประกอบไม่เป็น จึงวางหลบๆ ไว้ เพราะของที่เราขายเป็นแค่น้ำจิ้ม ไม่ใช่เมนคอร์ส จึงทำให้ผมขยายจากการทำเฟอร์นิเจอร์เหล็ก สู่การผลิตโต๊ะ ตู้ เตียง ทำจากพาร์ติเคิลบอร์ด รวมทั้งต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง เพราะถ้าขายผ่านยี่ปั๊วไปนานๆ สุดท้ายเราก็เหมือนโรงงานทั่วไป ที่ทำแค่ขายส่ง แข่งราคากัน จึงสร้างแบรนด์ใหม่ชื่อ ‘อินเด็กซ์เฟอร์นิเจอร์เซ็นเตอร์’ เข้าไปขายในศูนย์การค้าฯ มีทั้งโซฟา ชุดห้องนอน ห้องนั่งเล่น ทำให้ดูครบเครื่องและหลากหลายขึ้น ติดต่อร้านค้าต่างจังหวัด ชวนเขามาทำกับเรา โดยยื่นข้อเสนอแต่งร้านให้ใหม่ คล้ายๆ เป็นช็อปหรือหนึ่งคอร์เนอร์ของเขาวางโชว์สินค้าของเรา กว่าจะพูดโน้มน้าวใจได้ ยากมาก เพราะเขาไม่รู้จักเรา ต้องเอาใจทุกอย่าง เมื่อประสบความสำเร็จในการปั้นสองแบรนด์นั้น จึงกลับมาทำเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศแบรนด์ LOGICA และวินเนอร์เฟอร์นิเจอร์เซ็นเตอร์ ขายสินค้าราคาประหยัด”

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่นิตยสารแพรวฉบับ 809 วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 คอลัมน์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up