สินนท์ ว่องกุศลกิจ… ผู้นำทัพเจนใหม่กับภารกิจสุดท้าทาย ของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

สินนท์ ว่องกุศลกิจ… ผู้นำทัพเจนใหม่กับภารกิจสุดท้าทาย ของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

Alternative Textaccount_circle

ในวัย 35  ปี คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หน้าที่นี้พ่วงด้วยความกดดันมหาศาลเมื่อต้องกุมบังเหียนธุรกิจพลังงานแสนล้าน โดยเฉพาะในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว การแข่งขันดุเดือด การจะผ่านไปให้ได้อย่างโดดเด่น มั่นคงคือภารกิจที่ท้าทายยิ่ง

เส้นทางก่อนรับตำแหน่งซีอีโอ เป็นอย่างไรคะ

“ผมทำงานที่บ้านปูมาโดยตลอด ช่วงแรกๆ อยู่ทีม Corporate Finance เรื่องการหาเงินทุน โปรเจ็คต์ใหญ่ จึงมีโอกาสสร้างผลงานให้ตัวเอง อย่าง การนำ “บ้านปู เพาเวอร์” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ยั่งยืน ทั้งจากพลังงานความร้อนและพลังงานหมุนเวียน ก่อนจะย้ายไปดูเรื่องการเปลี่ยนผ่านบริษัทไปสู่พลังงานสะอาด ต้องเล่าว่า ในยุคเริ่มแรก บ้านปูสร้างตัวจากพลังงานดั้งเดิม เช่น ถ่านหิน เหมือง แต่ขณะนี้ เราหันมาจับพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์โลกอนาคตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมจึงร่วมปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มบ้านปูจนเกิด’บ้านปู เน็กซ์’ ที่เน้นการลงทุนพลังงานสะอาด ทำ อยู่ 4 ปี ก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นเป็น ซีอีโอของ ‘บ้านปู เน็กซ์’ ก่อนจะได้รับเลือกจากคณะกรรมการ ให้ขึ้นเป็นซีอีโอบ้านปู จำกัด (มหาชน) เมื่อเมษายนปีที่แล้วครับ”

ถ้าให้รีวิวชีวิตซีอีโอ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นยังไงคะ

“ต้องบอกว่า น่าตื่นเต้น (ยิ้ม) ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านปูมาตลอด จึงรู้สึกตื่นเต้นที่เราจะเปลี่ยนบริษัทไปอีกขั้น วางแผนใหม่ๆ ให้บ้านปูเติบโต ซึ่งผมมองว่า ดีเอ็นเอของเรา คือการเป็นผู้บุกเบิก

“ย้อนกลับไปสมัยเด็ก ผมเห็นคุณพ่อ (คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ) ไปบุกเบิกเปิดธุรกิจทำเหมืองที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเหมือนดีเอ็นเอที่ส่งต่อมาถึงผมด้วย ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่บ้านปูต้องบุกเบิกสิ่งใหม่ๆ อีกครั้ง แผนทุกอย่างที่วางไว้ เป็นแบบระยะยาวและมองไปข้างหน้า เราเปลี่ยนผ่านตัวเองไปจับพลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์พลังงานดั้งเดิมที่เป็นพื้นฐานธุรกิจของเราไว้ด้วยเช่นกัน

“ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ก็เป็นความท้าทายว่าจะทำยังไงให้เรามีความรู้ให้มาก ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการเป็นซีอีโอไม่ต้องรู้ลึกเท่ากับทีม แต่ต้องรู้ให้กว้างเพื่อที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจากซีอีโอ”

การที่ไม่ต้องรู้ลึก แต่รู้ให้กว้าง ทำอย่างไรคะ

“สำหรับผม คือต้องอ่านและฟังให้เยอะจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นครับ ยิ่งยุคนี้มีเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ ออกมามาก เช่น พลังงานไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีเอไอ ก็ต้องดูว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยธุรกิจบ้านปูได้อย่างไร การออกไปคุยกับคนที่ถนัดในสายงานนั้นจริงๆ จะทำให้รู้ว่า เมื่อไรพลังงานเหล่านี้จะกลายเป็นโปรดักส์ที่ขายได้

“ต่อมา ต้องมีที่ปรึกษาที่ดี ผมมีประมาณ 2-3 ท่าน ได้แก่คุณพ่อ คุณสมฤดี ชัยมงคล อดีตซีอีโอบ้านปู รวมถึงพี่ๆ และโค้ชจากข้างนอก ผมคิดว่าเวลาจะปรึกษาใคร ต้องดูว่าแต่ละคนถนัดเรื่องไหน รวมถึงต้องคุยกับซีอีโอที่อายุเท่ากันด้วย ซึ่งทำให้ได้ไอเดียดีๆ มาหลายครั้ง

“อย่างคุณพ่อ ท่านบอกเสมอว่า อย่าทำอะไรยาก เพราะบริษัทเราทำหลายอย่าง ซึ่งล้วนต้องดูแลโฟกัส เวลาคุณพ่อให้คำปรึกษา ท่านจะไม่พูดเยอะ แต่จะฟังและให้คอมเมนต์กลับไปคิดต่อ ไม่เคยมีคำตอบตายตัว เพราะท่านสอนมาตลอดว่า ให้คิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง

“สาม ต้องมีทีมที่เชี่ยวชาญ เราสร้าง Intelligence team อยู่ภายใต้ทีมกลยุทธ์ ทำหน้าที่หาธุรกิจใหม่ๆ และดูว่าแนวโน้มธุรกิจในอนาคต ทั้งธุรกิจพลังงานดั้งเดิมและธุรกิจใหม่  และอีกทีมที่สำคัญคือ PMO (Project Management Office)ที่มองภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด ในฐานะซีอีโอ ผมต้องรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในบริษัททุกเรื่องเพื่อให้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ก็ต้องอาศัยพูดคุยกับหัวหน้าทีม

“ยิ่งตอนนี้บ้านปูมีฐานธุรกิจอยู่ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ก็ต้องรู้ทุกเรื่องของแต่ละประเทศ หัวหน้าทีมจึงสำคัญมาก เขาต้องเก่งและรอบรู้มากพอจึงจะดำเนินธุรกิจได้”

การดูแลบริษัทลูกในต่างประเทศ มีความยากอย่างไรคะ

“เราต้องรู้ก่อนว่า แต่ละประเทศเด่นในพลังงานอะไร แล้วค่อยหาซีอีโอที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น อย่างอเมริกา เด่นด้านก๊าซธรรมชาติ และกักเก็บคาร์บอนซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในอนาคต ก็ต้องหาคนที่เก่งและมีประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ ยิ่งอเมริกาอยู่ไกลจากบ้านเรามาก ยิ่งต้องเน้นว่าคนที่จะมาทำหน้าที่รันธุรกิจต้องเก่งสุดๆ และต้องเข้ากับทีมได้ดีด้วย

“ผมพูดเสมอว่า วัฒนธรรมองค์กรสำคัญกว่าคน คือต่อให้คนนั้นเก่งมาก แต่ถ้าถนัดทำงานคนเดียว ไม่สามารถเชื่อมทีม หรือไม่สามารถทำให้ลูกน้องในทีมมีศักยภาพที่เก่งขึ้นได้ ความเก่งก็ไม่มีประโยชน์                  “โดยเรามีมายด์เซ็ต 3 ข้อ ที่หล่อหลอมทีมเสมอมา ตั้งแต่ยุคคุณชนินท์คือ  หนึ่ง Innovation ต้องพัฒนาสิ่งใหม่อยู่เสมอ สอง Commitment มุ่งสู่ความสำเร็จ และสามคือ Passion ในการทำงาน

“ทุกปีเราจะมีนัดพบกันทุกเดือนตุลาคม เพื่อให้ทุกทีมจากทุกประเทศได้รู้จักกัน เพราะการอยู่เป็นครอบครัว คือหัวใจของบ้านปู”

ในยุคที่มีพลังงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย พลังงานประเภทใดที่ทำให้รู้สึกว้าว

“ผมคิดว่าพลังงานว้าวด้วยตัวเอง ยิ่งขณะนี้ที่กำลังโตแบบก้าวกระโดด ทั้งพลังงานดั้งเดิมและพลังงานใหม่ เราจึงมีแผนงานที่ชื่อว่า Energy Symphonics  เน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน โดยเราตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 และตั้งเป้าว่าลดการปล่อยคาร์บอนไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2030

“สอง เรามองว่า ธุรกิจก๊าซธรรมชาติคืออนาคตของบ้านปูและโลก เพราะก๊าซเป็นพลังงานดั้งเดิมที่มีความเสถียร มีปริมาณเพียงพอทั่วโลก อยู่ในราคาที่ดี เมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่น ก๊าซค่อนข้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สาม พลังงานสะอาดคือสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มี โลกก็ไม่สามารถลดคาร์บอนฯ แต่ประเด็นของพลังงานสะอาดคือความไม่เสถียร เช่น โซลาร์เซลล์สามารถใช้ได้เพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ก็ต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ใช้ได้ 24 ชั่วโมง เราจึงมุ่งไปที่ธุรกิจแบตเตอรี่ ตอนนี้บ้านปูจึงมีฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นพลังงานที่สามารถชาร์จไฟต่อจากโซลาร์เซลล์ได้ เราก็จะได้พลังงานสะอาดมากขึ้น และราคาก็สามารถเข้าถึงได้ไม่แพ้ก๊าซและถ่านหิน 

“ต่อมาคือ เหมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเชี่ยวชาญที่สุดและสร้างกำไรให้บริษัทมานาน ทุกวันนี้เราพยายามปรับปรุงธุรกิจไปสู่เหมืองแร่ยุคใหม่ ด้วยการใช้ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เอไอก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ทุกวันนี้เรามีทีมที่เชี่ยวชาญด้านเอไอประมาณ 20 คน เพราะถ้าไม่มีเอไอ เราจะไม่มีทางสู้กับบริษัทอื่นได้เลย อย่างผมก็คุยกับ Chat GPT ทุกวันเลย ให้ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ ซึ่งก็เสนอไอเดียใหม่ๆ ได้ดีนะ แต่แน่นอนว่า ไม่รู้ข้อมูลเสถียรขนาดไหน เราต้องมีที่ปรึกษาเก่งๆ เสริมเป็นหลักด้วย

“สุดท้ายทุกสิ่งที่ทำนำไปสู่ Decarbonization หรือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเรา ใครที่ไม่อยู่ในสายธุรกิจนี้ อาจไม่รู้ว่าพลังงานสำคัญขนาดไหน ความจริง มันอยู่รอบตัวเราตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับและไม่สามารถขาดมันได้ ขณะที่การลดคาร์บอนก็เป็นวาระใหญ่ของโลก เราจะบาลานซ์ความเขียวและความต้องการอย่างไร นั่นคือโจทย์ที่ท้าทายบ้านปู”

ถ้าอย่างนั้น บ้านปูมีวิธีจัดการพลังงานดั้งเดิม เช่น เหมืองถ่านหินอย่างไรคะ

“เราใส่ใจประเด็นนี้มาก ที่จริงธุรกิจขุดถ่านหินสำคัญนะ แม้คนจะมองว่าไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ธุรกิจสายนี้ช่วยให้แต่ละประเทศใช้ไฟฟ้าได้ในราคาถูก แน่นอนว่าคาร์บอนคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ว่า จะจัดเก็บคาร์บอนได้อย่างไร อย่างปีที่แล้วบ้านปูได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหลายอย่าง เช่น ใช้รถอีวีสำหรับขนส่งถ่านหินเพื่อช่วยลดคาร์บอนและค่าใช้จ่าย รวมถึงติดโซลาร์เซลล์ในฟาร์มเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซล เป็นแผนที่เราจะทำที่เหมืองในอินโดนีเซียและออสเตรเลียด้วย นอกจากนี้เราจะลงทุนเรื่องการปลูกป่า อย่างเหมืองที่อินโดฯ หลังจากขุดและกลบดินเสร็จแล้ว พอทิ้งช่วงไปสักพัก ดินจะกลับมาเป็นสภาพเดิม เราจะใช้พื้นที่ตรงนั้นปลูกป่าและได้คาร์บอนเครดิตกลับคืนมา”

ในวัย 35  ปี คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หน้าที่นี้พ่วงด้วยความกดดันมหาศาลเมื่อต้องกุมบังเหียนธุรกิจพลังงานแสนล้าน โดยเฉพาะในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว การแข่งขันดุเดือด

มีประสบการณ์สนุกๆ ในฐานะซีอีโอมั้ยคะ

“ผมคิดว่าการไปทำงานที่อินโดนีเซียสนุกที่สุด เพราะเหมืองที่นั่นใหญ่สุดลูกหูลูกตา ยังจำความรู้สึกที่ไปครั้งแรกได้ไม่ลืม ตอนนั้นเรียนอยู่ปีสอง ผมมีโอกาสมาฝึกงานที่บ้านปูในฝั่ง Corporate Finance จึงได้ไปเหมืองที่อินโดนีเซียด้วย นั่นคือวันที่เปิดโลก เพราะไม่เคยรู้ว่าครอบครัวเราทำธุรกิจสเกลใหญ่ขนาดนี้

“กระทั่งครั้งล่าสุดที่ผมไปอินโดฯ ก็สนุก พวกเรานอนในบ้านที่แยกเป็นหลังๆ ในป่า ผมตื่นกลางดึกเพราะได้ยินเสียงก๊อกๆ แก๊กๆ ปรากฏว่าเจอลิง 3-4 ตัว นั่งกินกล้วยอยู่ในบ้าน ตกใจมากเพราะลิงเปิดประตูเข้ามาเองได้ แถมยังอึใส่เต็มบ้าน ก็ตื่นเต้นดีครับ เปิดประสบการณ์ซีอีโอโดนลิงบุก (หัวเราะ)

“แถมยังได้อารมณ์แอดเวนเจอร์ เพราะการเดินทางเข้าเหมืองใช้เวลายาวนานมาก ถ้านั่งรถใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง ส่วนถ้านั่งเครื่องบินก็ต้องบินหลายต่อ และต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์ด้วย ซึ่งผู้บริหารระดับสูงนั่งเครื่องเดียวกันไม่ได้ ต้องแยกกันหลายเครื่องเพื่อกระจายความเสี่ยง (ยิ้ม) เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการฝ่าฟันของบ้านปู ผมนับถือพี่ๆ ยุคบุกเบิกมาก สมัยนั้นไม่มีอะไรเลยต้องนั่งรถแทรคเตอร์เข้าไปและทำทุกอย่างขึ้นมาเอง ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะขุดเจอเหมืองสักแห่ง สำหรับผมนักขุดเหมืองเป็นอาชีพที่สุดยอดมาก ผมเคารพพี่ๆ เหล่านี้เพราะเขาทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้”

คุณสินนท์เป็นซีอีโอตั้งแต่อายุน้อย กดดันไหมคะ

“ซีอีโอทุกคนต้องเจอความกดดัน ยิ่งในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้ ย่อมกังวลว่าจะทรานส์ฟอร์มธุรกิจสำเร็จไหม แต่ทุกอย่างเกิดจากความต้องการของตัวผมเอง ครอบครัวไม่เคยกดดันให้มารับตำแหน่งนี้ ผมมีแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

“เส้นทางของผมจึงชัด พร้อมลุย (ยิ้ม)”

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ Biz guy นิตยสารแพรว ฉบับเดือนเมษายน 2568


เรื่อง: Fai

ภาพ: วรสันต์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up