“ทุกคนคู่ควรกับการมีความรักที่ดี” คือแนวคิดในสร้างสรรค์ผลงานของ “ออฟ – นพณัช ชัยวิมล” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ซีรีส์วาย
“ออฟ – นพณัช ชัยวิมล” ผู้อำนวยการฝ่าย Content Production GMMTV คือผู้อยู่เบื้องหลัง ซีรีส์วาย ที่สร้างหลายปรากฏการณ์ อาทิ เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมผมครับ, เพราะเรา (ยัง) คู่กัน, นิทานพันดาว, แค่เพื่อนครับเพื่อน, พระจันทร์มันไก่ และล่าสุด Last Twilight…ภาพนายไม่เคยลืม ฯลฯ ส่งให้ออฟคว้ารางวัลมากมาย อาทิ Best LGBTO+ Programme Media in Asia จากเวที Content Asia Awards 2023 ติดต่อกัน 4 ปี ผู้กำกับ ซีรีส์วาย แห่งปี FEED Y Capital Awards 2022 ผู้กำกับซีรีส์ยอดเยี่ยม Y Universe Awards 2023
ขณะที่เส้นทางชีวิตก็น่าสนใจไม่แพ้กับ เขาตัดสินใจคัมเอาต์กับครอบครัวตอนอายุ 38 เพราะอยากเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร รวมถึงความตั้งใจที่จะสร้างค่านิยมว่า ความรักของ LGBTQ+ ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยโศกนาฎกรรม
เริ่มสนใจงานกำกับการแสดงตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
“ต้องเล่าก่อนว่า เราโตมากับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูละคร เป็นความบันเทิงที่ฮีลใจตั้งแต่เด็ก และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่หล่อหลอมให้เป็นตัวเองในวันนี้ ที่บ้านมีหนังสือเยอะ จำได้ว่า มีนิยายโรแมนซ์เรื่องหนึ่งที่เปิดโลกมาก เสียดายจำชื่อไม่ได้ เป็นเรื่องราวการสลับตัวของฝาแฝด ที่คนหนึ่งไปทำภารกิจและเสียชีวิตในทะเล ส่วนแฝดที่ยังอยู่ ถูกคนรักของแฝดที่ตายเข้าใจผิด คิดว่าเป็นแฟน อ่านแล้วรู้สึกประทับใจกับการคิดพล็อตเรื่อง พร้อมกับที่ได้รู้ว่า นิยายมีองค์ประกอบสำคัญนอกจากคาแร็คเตอร์ของตัวละครคือ พล็อต, การพลิกปมต่างๆ จากนั้นก็ติดหนังสือมาตลอด ส่วนภาพยนตร์ก็ดูทุกประเภท จนมาถึงเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ตัวว่าอยากทำงานสายนี้ คือตอนที่โรงเรียนจัดละครเวที แล้วเราอยากมีส่วนร่วมมาก มันเหมือนมีพลังงานบางอย่างดึงดูด กระทั่งม.ปลาย ก็ได้ทำสมใจ พอรู้ตัวว่าสนใจงานแนวนี้ จึงตัดสินใจเรียนสายนิเทศศาสตร์”
เข้ามาสู่เส้นทางการเป็นผู้กำกับอย่างไรคะ
“เราเริ่มงานแรกที่ GMMTV มีโอกาสทำงานหลายส่วน ทั้งอีเวนท์ การตลาด ฝ่ายสถานี จนรู้ว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวเรา จึงคุยกับพี่ถา (สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV) ว่า ผมทำงานสายนี้ได้นะ แต่วันหนึ่งคงลาออก พี่ถาถามว่า งั้นอยากทำอะไร ผมตอบว่า ซีรีส์ ทั้งที่ไม่เคยทำ
“พอพี่ถาอนุญาต ก็เริ่มจากทำหนังสั้น ‘รักจริงปิ้งเก้อ’ ที่คล้ายรายการคลับฟรายเดย์ คือนำเรื่องที่ทางบ้านโทรมาเล่า มาทำเป็นหนัง จากนั้นขยับไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ เขียนบท กระทั่งได้กำกับเต็มตัวเรื่องแรกใน ‘เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ’ โดยได้สิงโต-ปราชญา และโอม ภวัต มาแสดงนำ”
งานกำกับฯยากไหมคะ
“ความรู้สึกโดยรวมคือไม่ยาก ทั้งที่ไม่เคยกำกับ ไม่รู้เหมือนกันว่ามั่นมาจากไหน (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นพร้อมกระโจน อยากทำมาก ทำทุกอย่าง นอกจากกำกับเอง ยังเป็นโค้ชแอ็คติ้ง และเขียนบทเองด้วย มันทำให้รู้ว่าตัวเองต้องการสื่ออะไร และใช้ทุกประสบการณ์จากการดูหนัง ฟังเพลง มาสร้างซีรีส์ ซึ่งเราเล่นของยากตั้งแต่แรก คือเลือกแนวแฟนตาซี สืบสวนสอบสวน มีผี ซึ่งความยากก็คือฉากซีจีนี่แหละ
“ความที่ไม่ได้จบด้านฟิล์ม พอเจอฉากเทคนิค เช่น ผีต้องตัวโปร่งแสง หรือหายตัว ก็หาคนเก่งๆ มาช่วยให้ภาพในหัวเป็นจริง เขาแนะนำว่า ฉากนี้ต้องถ่ายสิงโตคนเดียวก่อน แล้วค่อยถ่ายน้องโอม จากนั้นค่อยมาแมตช์กัน นั่นกลายเป็นเรื่องยากของเรา เพราะถ้าน้องๆ ไม่ได้ถ่ายด้วยกัน ก็ต้องหาเครื่องมือมาช่วยให้อารมณ์นักแสดงต่อเนื่อง แม้จะถ่ายคนละเทคก็ตาม เป็นความยากที่สนุกด้วย”
ย้อนกลับไปตรงจุดเริ่มที่อยากกำกับซีรีส์วายหน่อยนะคะ
“ในฐานะคนในสังคมของ LGBTQ+ เราเข้าใจความโรแมนติกของผู้ชายกับผู้ชายเป็นอย่างดี บวกกับได้ทำซีรีส์ในช่วงที่ตลาดวายกำลังเติบโต จึงเหมือนได้ทำเรื่องที่ตัวเองเข้าใจดีที่สุด”
“ช่วงที่เรามาทำงานตรงนี้ เริ่มมีซีรีส์วายออกมาบ้างแล้ว แน่นอนว่าอาจจะมีบางคนที่ยังไม่ชินกับภาพที่ผู้ชายรักกันแล้วสับสน เกิดการตั้งคำถามว่า ซีรีส์วายคือซีรีส์เกย์หรือเปล่า โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ว่าจะซีรีส์วายหรือเกย์ ก็สามารถอยู่ในหมวดเดียวกันได้ ทฤษฎีของความเป็นวาย รากเหง้ามาจากการ์ตูนมังงะ (สำหรับคำว่า วาย (Y) ย่อมาจากคำว่า ยาโอย (Yaoi) เป็นคำจากภาษาญี่ปุ่น หมายถึงชายรักชาย) ที่เล่าถึงความรักของผู้ชาย-ผู้ชาย ในประเด็นโรแมนติก เนื้อหาเบา ย่อยง่าย แต่ขณะเดียวกันก็สื่อสารประเด็นบางอย่างออกไป เช่น กฎหมาย การกดทับในครอบครัว หรือการคัมเอาท์ โดยเนื้อหาต้องไม่หนักเกินไป เราสามารถใช้ซีรีส์วายมาเล่าประเด็นของ LGBTQ+ให้สังคมเข้าใจมากขึ้น ทั้งการสมรสเท่าเทียม ตัวตน ครอบครัว การบูลลี่ต่างๆ โดยไม่เสียความโรแมนติกไป”
มีประเด็นที่อยากสอดแทรกในงานเป็นพิเศษไหมคะ
“การยอมรับตัวตนของกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งจากตัวเอง ครอบครัวและสังคม ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักอีกทีว่าแต่ละเรื่อง สามารถใส่ได้แค่ไหน อย่างน้อยที่สุด ต้องสื่อว่าคนกลุ่มนี้สามารถมีความรักที่ดีได้ มีปลายทางที่สว่างไสว เพราะเมื่อก่อนละครมักพรีเซนต์กลุ่ม LGBTQ+ ผ่านตัวละครตลก เป็นช่างแต่งหน้า ช่างทำผม หากมีความรัก สุดท้ายมักไม่สมหวัง ฆ่าตัวตายบ้าง หรือไม่ก็ถูกจับแต่งงานกับผู้หญิง ซึ่งเราเชื่อว่าซีรีส์วายจะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายกับผู้ชายมีความรักที่ดี สมบูรณ์และสวยงามได้ ทุกวันนี้เราคิดว่า คนเริ่มชินแล้วกับการเห็นผู้ชายเดินจับมือกัน เพราะเขาก็เคยเห็นจากซีรีส์ ขณะเดียวกันการที่ประเทศถูกผลักดันเดินมาถึงวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านร่างพรบ.ก็คิดว่า ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของซีรีส์วายที่ทำหน้าที่บอกสังคมทางอ้อมให้เห็นความสำคัญของความรักและความเท่าเทียมด้วย”
ในยุคที่มีซีรีส์วายมากมาย คุณออฟคิดว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จ
“เนื้อเรื่องสนุก โปรดักชั่นดี แคสติ้งตัวละครได้น่าสนใจ และวิธีการกำกับที่สามารถใช้วัตถุดิบที่มีออกมาได้ตรงใจคนดู แต่สุดท้ายเราไม่สามารถตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า จะดัง หรือถูกใจคนดูหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่า นักแสดงมีผลอย่างมาก คู่นี้เคมีดีมากจนฉันอยากดู ฉันเริ่มเชื่ออะไรบางอย่างจากคู่นี้ จากนั้นเขาจะไปสวมบทบาทไหน เรื่องสนุกยังไง ก็เป็นองค์ประกอบถัดไป”
มีวิธีประเมินเคมีนักแสดงยังไงคะ
“ต้องเริ่มจากดูบทว่า คาแร็คเตอร์ในเรื่องว่านิสัยเป็นยังไง แล้วดูนักแสดงในค่ายว่าใครน่าจะเหมาะกับบท สิ่งที่ยากกว่านั้นคือเคมี เพราะไม่มีสูตรตายตัว ต้องใช้ประสบการณ์ เนื่องจากเคมีไม่ได้ขึ้นกับความสามารถเพียงอย่างเดียว มีนักแสดงหลายคนที่แสดงเก่งมาก แต่อยู่ด้วยกันแล้วอาจไม่มีเคมีเลย หรือบางคู่ แสดงยังไม่เก่ง แต่เวลาอยู่ด้วยกัน มีเคมีที่เชื่อว่าไปด้วยกันได้
“อย่าง ไบรท์ – วิน เริ่มจากรูปถ่าย พอวางรูปคู่กันก็เจอพลังงานบางอย่างที่รู้สึกว่า อยู่ด้วยกันแล้วน่าจะดี จากนั้นก็ให้น้องมาแคสติ้ง พูดคุยว่า นิสัยตัวละครเป็นยังไง ที่สำคัญคือ เวลาเขาอยู่ด้วยกัน เราจิ้นหรือเปล่า (ยิ้ม) คือเราต้องเชื่อก่อนว่า เขาจะจีบกันได้ เป็นแฟนกันได้ สามารถจินตนาการต่อได้ว่า หากคู่นี้ไปกินข้าวกันสองคน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ซึ่งคู่นี้แม้ตอนแรกจะมีกระแสดราม่าบ้าง ว่าวินไม่เหมาะกับบทของไทน์ เพราะรูปร่างใหญ่กว่าพระเอก แต่เพราะการแสดงที่ดี บทดี เคมีดี ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้
“เต – นิว ก่อนจะมาแสดงเรื่อง Dark Blue Kiss เขามีเคมีความเป็นเพื่อนอยู่แล้ว พอมาอยู่ด้วยกันเราก็รู้สึกถึงอะไรบ้างอย่าง หรือคู่ เอิร์ท – มิกซ์ ในเรื่อง นิทานพันดาว เราแคสติ้งได้เอิร์ธมาก่อน พอถึงบทครูเทียน ผ่านไปหลายสิบคนก็ยังไม่เจอที่ใช่ กระทั่งได้เจอมิกซ์ พอเขาอยู่ด้วยกันแล้วเคมีมันใช่ ซึ่งมารู้ทีหลังว่า เขาเป็นเพื่อนมาก่อนเข้าวงการ
“ส่วน เจมีไนน์ – โฟร์ท คู่นี้เข้าวงการมาพร้อมกัน พอมาทำเวิร์คช็อป เห็นเลยว่าเขามีพลังงานบางอย่างที่ดึงดูด แต่จำได้ว่า วันแถลงข่าวเปิดตัวซีรีส์ ‘แฟนผมเป็นประธานนักเรียน’ ไม่มีใครสนใจ กระทั่งถึงวันออนแอร์เพียงสองตอนแรก ก็รู้เลยว่าคู่นี้มาแน่นอน”
การจะสร้างซีรีส์ ใช้เกณฑ์การเลือกเรื่องอย่างไรให้ปัง
“มีสองอย่าง อย่างแรกถ้าเป็นเรื่องที่มีไอเดีย อยากทำ ก็แต่งขึ้นมาใหม่เลย เช่น Last Twilight ก็แต่งใหม่ทั้งหมด กับอีกแบบคือ อ่านจากนิยายแล้วสนุก เห็นภาพว่าสามารถเป็นซีรีส์ได้ หรือมีพล็อตบางอย่างที่น่าสนใจ ก็จะหยิบจุดนั้นมาพูด เช่น ตอนที่อ่านนิยายเรื่อง ‘หลังม่าน’ เจอพล็อตที่น่าสนใจมากคือ เด็กสองคนเป็นเพื่อนสนิท แต่ครอบครัวเกลียดกัน สุดท้ายเด็กก็ต้องเกลียดกันไปด้วย รู้สึกประเด็นนี้แข็งแรง จึงหยิบมาพัฒนาต่อ จนกลายเป็นซีรีส์ ‘แค่เพื่อนครับเพื่อน’
“และที่สำคัญคือ ก่อนจะสร้างซีรีส์ต้องทำการบ้านเยอะ อย่างตอนทำเรื่อง ‘เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ’ ตัวละครเรียนนิติศาสตร์ ก็ต้องไปสัมภาษณ์เด็กที่เรียนสาขานี้ ว่ามีวิธีคิดยังไง บุคลิกเป็นแบบไหน เช่น เด็กเรียนกฎหมายต้องอ่านหนังสือเยอะ สิ่งที่ต้องมีในกระเป๋าคือปากกาไฮไลท์ โพสต์อิท ฯลฯ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ต้องมีในตัวละคร หรืออย่างเรื่อง นิทานพันดาว ตัวละครเป็นคุณครูอาสา ตอนนั้นก็โพสต์ทวิตเตอร์เลยว่า มีใครเป็นครูอาสาบ้าง อยากขอสัมภาษณ์ เราก็ได้ข้อมูลเยอะว่าเขาไปเผชิญความลำบากยังไง ต้องปรับตัวเยอะขนาดไหน เรียกว่าเป็นข้อมูลชั้นดีที่ไม่มีทางนั่งเขียนได้ ถ้าไม่ได้รู้จากตัวบุคคลจริงๆ
“อย่างล่าสุด Last Twilight ตัวละครต้องเล่นเป็นคนที่กำลังจะตาบอด เราก็ต้องหาข้อมูลจากคนที่ตาเพิ่งบอด กับบอดแต่กำเนิดให้เขามาทำเวิร์คช็อปกับนักแสดง เพื่อให้น้องๆ เห็นความต่างและได้เข้าใจว่าคนตาบอดได้รับการดูแลยังไง มีวิธีมองโลกและคิดแบบไหน โดยให้นั่งกินข้าว พูดคุยกัน เพื่อให้เขาได้ทำความรู้จักจริงๆ”
มีฟีดแบคจากผู้ชมที่ประทับใจบ้างไหมคะ
“มีคุณแม่ท่านหนึ่ง ส่งข้อความมาหลังจากได้ดูซีรีส์ Dark Blue Kiss ว่า เข้าใจแล้วว่าลูกกำลังเผชิญกับอะไร แล้วเขาจะเป็นแม่แบบไหนเพื่อให้ลูกมีความสุข ขอบคุณมากที่ได้ดู เพื่อรู้ว่าจะคุยกับลูกยังไง อ่านแล้วภูมิใจมาก ไม่น่าเชื่อ ณ วันนั้นที่ทำซีรีส์ ไม่ได้คิดหรอกว่าจะสร้างอิมแพคได้ขนาดนี้ และรู้สึกดีใจกับครอบครัวของน้อง ที่อย่างน้อยเขาจะได้รับความเข้าใจจากครอบครัว ซีรีส์วายกลายเป็นช่องทางที่ทำให้คนเข้าใจง่ายขึ้นว่า ความรักเหล่านี้มีอยู่จริงๆ กับที่บ้านของตัวเองก็เข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ก่อนที่พ่อจะเสีย มีวันหนึ่งเรากับพ่อไปนั่งกินข้าวในห้าง เห็นเด็กผู้ชายจูงมือกัน พ่อบอกว่า เหมือนในซีรีส์ที่ลูกทำเลยนะ จึงรู้สึกว่างานเราช่วยทำให้คนเข้าใจและมองว่านี่คือเรื่องปกติ”
ทราบว่า คุณออฟก็คัมเอาท์ตอนอายุ 38
“ใช่ครับ เป็นการสารภาพกับที่บ้านครั้งแรก คิดว่าเขาน่าจะรู้อยู่แล้วล่ะ แต่ที่ไม่ได้เปิดเพราะเราก็เหมือนคนทั่วไป ที่รู้สึกถูกกดทับว่าสิ่งที่เราเป็นนั้นผิด พ่อแม่จะเสียใจ ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองมากมาย เพราะเราถูกหล่อหลอมโดยสื่อต่างๆ จนไม่สามารถเป็นตัวเอง สุดท้ายก็ตัดสินใจปลดล็อคตัวเอง ตอนนั้นกำลังจะเขียนบทเรื่อง ‘เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ’ แล้วต้องเขียนฉากคัมเอาท์ ที่ผ่านมาเวลาเราดูหนัง ก็รู้ว่าตัวละครต้องพูดประมาณไหน แต่เป็นการรู้ในฐานะคนนอก ซึ่งเราอยากเข้าใจจริงๆ จึงตัดสินใจคัมเอาท์กับครอบครัว เพื่อให้เจอโมเมนต์ว่าตัวละครรู้สึกยังไง
“ตอนนั้นวางแผนพาแม่ไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วสารภาพบนเครื่องบินขากลับ เป็นการเลือกสถานที่ที่หนีไปไหนไม่ได้ (ยิ้ม) บอกแม่ว่า รู้ใช่ไหมว่าผู้ชายที่เราคุยไม่ใช่เพื่อน แม่บอกว่ารู้แหละ เราก็เลยสารภาพออกไปทั้งหมด ความรู้สึกตอนนั้นทั้งกลัวแม่เสียใจ กังวล สับสน อยากจะร้องไห้ เหมือนเราแบกก้อนอะไรใหญ่ๆ ไว้กับตัว ฟังดูไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่คือการก้าวข้ามครั้งยิ่งใหญ่ที่อยากปลดล็อคสิ่งนี้ ตอนนั้นแม่บอกว่า ลูกเป็นอะไร แม่ก็รัก ขอแค่ให้มีความสุข ซึ่งแม่ไม่ได้ขอให้เราเป็นคนดีด้วยนะ ปกติเวลาเราดูละคร เขามักจะพูดประโยคว่า ลูกเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี แต่แม่กลับบอกว่า ขอให้มีความสุขกับตัวเองก็พอ รู้สึกชอบประโยคนี้มากจึงนำความรู้สึกไปถ่ายทอดให้นักแสดงฟัง ใช้ในซีรีส์ไปเลย แล้วก็กลายเป็นซีนที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ตัวเราเองก็รู้สึกถูกปลดล็อคด้วยเช่นกัน”
“แต่ส่วนตัวคิดว่าการคัมเอาท์ไม่จำเป็นขนาดนั้นนะ เพราะใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสทำ และบางคนก็ไม่อยากพูด แต่เขาอาจจะโดนคนอื่นกดดันว่า ต้องบอกๆ ฉะนั้นถ้าใครสบายใจที่จะเป็นอะไรก็ตามโดยไม่ต้องออกมาประกาศ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา”
อยากทำซีรีส์แนวไหนอีกคะ
“อยากทำคอนเซ็ปต์หลากหลายช่วงวัย เพราะเชื่อว่าแต่ละวัยมีความโรแมนติกที่ต่างกัน ที่ผ่านมา เราทำ ซีรีส์วาย ที่ตัวละครอยู่ในวัยมัธยม หรือไม่ก็มหาวิทยาลัย อยากทำเนื้อหาเกี่ยวกับคนวัยทำงานหรือคนที่อายุ 40-50 บ้าง เพราะเชื่อว่าความโรแมนติกยังมีอยู่ในทุกช่วงวัย และเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เราเชื่อด้วยว่า
“LGBTQ+ มีความรักที่ดีได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม”