ความรู้สึกตอนที่ต้องลาออกจากโรงเรียนแล้วช่วยที่บ้านทำงาน เป็นอย่างไรคะ
“คือคนจน หน้าที่เราคือต้องช่วยครอบครัว รู้ตัวว่าไม่มีทางที่จะได้เที่ยวเล่นเหมือนเพื่อน เพราะนึกถึงความอยู่รอดเป็นหลัก เมื่อเรามีพ่อขี้เหล้า แม่หาเงินคนเดียวด้วยการเย็บปักถักร้อยและขายล็อตเตอร์รี่ ที่โตมาได้ก็เพราะแม่ประคับประคองจึงรู้สึกว่าต้องช่วยแม่มาตั้งแต่เด็ก ขี่จักรยานจากสวนดุสิตมาเยาวราชเพื่อช่วยแม่ขายล็อตเตอร์รี่ให้หมด พออายุ 15 พี่ชายทำเสื้อผ้าขายส่งที่ภาคอีสาน เราก็ช่วยไปวิ่งขายที่ภาคใต้ ทั้งที่ไม่มีใครสอน อาศัยดูจากรุ่นพี่ที่เขาทำกัน อะไรที่ทำให้ครอบครัวอยู่รอด ต้องทำทุกอย่าง”
มีธุรกิจของตัวเองตอนไหนคะ
“ช่วยพี่ชายอยู่พักใหญ่ ผมดูแล้วว่าธุรกิจเขาคงไม่รอด ถ้าไม่แยกออกไปจะช่วยอะไรไม่ได้ จึงขอจักรเย็บผ้า 3 คัน กับผ้าอีกกองแล้วออกไปทำธุรกิจเอง ตอนนั้นเลิกเรียนแล้ว ส่วนเรื่องทุนผมโชคดีได้รับการช่วยเหลือจากนายห้างชาวอินเดีย ที่เขาส่งผ้ามาให้พี่ชายตลอด วันหนึ่งเขาป่วย ผมไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ให้กำลังใจว่าไม่ต้องกลัวนะ หนี้สินที่ค้างอยู่ ยังไงก็จะรับผิดชอบ ความที่เราเป็นเด็กและแสดงสปิริต เขาจึงประทับใจและช่วยสนับสนุน
“ตอนนั้นมีเพื่อนเห็นฝีมือเราในเชิงการบริหาร การจัดการเสื้อผ้า ชวนไปหุ้นทำกางเกงยีนส์แบรนด์ ‘รีน่า ยีนส์’ พี่ชายเห็น อยากร่วมด้วย จึงร่วมมือกันขยายธุรกิจกลายเป็น ‘พีเจยีนส์’ ที่สามารถครองยอดขายอันดับหนึ่ง ในประเทศไทยยาวนานถึง 14 ปี ดังระเบิดจนกระทั่งมาเลเซีย สิงคโปร์ ติดต่อขอไปขาย จากนั้นจึงคิดทำห้างฯโรบินสัน มาจากตัวละคร ‘กัปตันโรบินสัน ครูโซ’ จากนิยายชื่อเดียวกัน เพราะเป็นคนกล้าเผชิญอุปสรรค เริ่มต้นที่สาขาอนุสาวรีย์ พอประสบความสำเร็จก็ขยายสาขาที่ราชดำริ”
มีกลยุทธ์การตลาดอย่างไรคะ
“ภาษาจีนมีคำพูดว่า ‘ลูกวัวไม่รู้จักเสือ’ สถานะเราคือลูกวัว ซึ่งราชดำริตอนนั้นมีเสือที่ยิ่งใหญ่มาก 2 ตัว คือไทยไดมารู กับ เซ็นทรัลชิดลม ผมไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ ฐานะการเงินก็ไม่มั่นคง มีแต่คำว่า บ้า กับ บอ เพราะดันไปสร้างห้างอยู่ในที่ยักษ์ใหญ่ แล้วที่สำคัญไม่ได้อยู่ติดถนนใหญ่
“ตอนนั้นพยายามคิดในเชิงการตลาดว่า เรามีจุดขายอะไร ก็ต้องขายความแปลก สมัยก่อนห้างฯนิยมสร้างเป็นพื้นที่เต็ม เปิดโถงเจาะแค่ให้บันไดเลื่อนขึ้นเท่านั้นเอง แต่ของโรบินสัน ราชดำริ เราทำเป็นโถงโล่งเจาะสูงทั้ง 6 ชั้น ลูกค้าได้เห็นภาพใหญ่ ซึ่งเป็นต้นแบบของห้างยุคนี้ และเราเป็นห้างแรกในเมืองไทยที่มีลิฟท์แก้วทำเป็นสีเงินกับกับสีทอง นั่นคือความแปลกของตัวห้าง
“เราคิดต่อว่า คนไทยชอบภาพลักษณ์ ตึกสวยจริง แต่เป็นความสวยในซอย ขณะที่คู่แข่งเขาสวยที่ถนนใหญ่ ความรู้สึกต่างกัน จะหากิมมิกอะไรให้ลูกค้ามาหา อะไรทำให้คนอยากซื้อของ ก็คิดว่า ซื้อของที่ไหนราคาก็เหมือนกัน ลดราคาก็ใกล้ๆ กัน แต่ของพิเศษคือต้องได้อะไร เป็นที่มาของโปรเจ็คต์ ซื้อครบ 600 บาท ได้กระดาษชำระ 6 ม้วน ถ้าพูดในเชิงมาร์เก็ตติ้ง ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะคุณเปิดร้านใหม่ แต่ทะลึ่งแจกกระดาษชำระ มันไม่ใช่ของมงคล แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะเป็นของที่ทุกคนต้องใช้ และมองว่า พฤติกรรมอยากได้ กับพฤติกรรมที่ยัดเยียดให้ ไม่เหมือนกัน ซื้อของห้างอื่น 600 บาทไม่ได้ของ แต่ซื้อกับเราได้ทันที คนเราต้องการของถูกและดี ปรากฏว่า ได้ผล ดังระเบิด”
กลายเป็นผู้บุกเบิกการตลาดให้ห้างอื่นๆ
“ใช่ ไม่ใช่แค่นั้น เราบุกเบิกแม้กระทั่งวิธีการตกแต่งร้าน เป็นห้างแรกในเมืองไทยที่จัดไฟคริสต์มาส ฟู้ดคอร์ทเราก็ดังที่สุด หรืออย่างร้านกาแฟ เราใช้กาแฟบด คนชอบมาก เป็นร้านอันดับหนึ่งในราชดำริสมัยนั้น และที่ฮือฮามากที่สุดคือ โปรโมชั่น ‘ถึงก่อนมีสิทธิ์ก่อน’ เราลดราคามอเตอร์ไซค์ เปียโน เพราะเป็นสินค้าราคาแพง แต่คุณลดให้ตั้งครึ่งราคา มีคนต่อคิวยาวข้ามคืน กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ส่งผลให้มีคนชวนไปทำธุรกิจเยอะ เรียกว่า โรบินสันกลายเป็นที่หนึ่งในยุคนั้น”
พอถึงวันที่ต้องตัดสินใจปล่อยมือ ทำใจนานไหมคะ
“ตอนนั้นประมาท พอชื่อเสียงธุรกิจเราดี แบงค์ต่างประเทศให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเมืองไทย จึงกู้ข้างนอกตลอด ซึ่งจากที่ผมคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจหลายๆ คนเขาก็ยืนยันว่า กู้ต่างประเทศดีกว่า เพราะไทยคงไม่มีทางลดค่าเงิน ถ้าลดเมื่อไหร่ เศรษฐกิจจะพัง พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเปรี้ยงเดียวเท่านั้น โอ้โฮ เหมือนล้มทั้งยืน ดอกเบี้ยจากที่ต้องจ่าย 5-6 เปอร์เซ็นต์ พุ่งไป 27 เปอร์เซ็นต์ ไม่นับค่าเงินของต่างประเทศที่สูงกว่าบ้านเราเป็นเท่าตัว ถึงจุดหนึ่งจึงต้องตัดสินใจขายโรบินสันให้กับเซ็นทรัล เพราะประคองตัวเองไม่อยู่ และอีกเหตุผลคืออยากให้พนักงานอยู่รอดด้วย
“ตั้งแต่ผมทำธุรกิจมา โรบินสัน คือเรื่องท้าทายมากที่สุด เพราะเราอยู่ในโลเคชั่นที่ห่วย เปอร์เซ็นต์เจ๊งสูง แต่ชนะได้ด้วยมาร์เก็ตติ้ง เป็นการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมากที่สุด แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
คุณมานิตสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก พอมาถึงรุ่นลูกๆ เขาทำงานสบายกว่าไหมคะ
“ไม่เลย ตอนรีน่า (รีน่า อุดมคุณธรรม) ลูกสาวคนโตเกิด ผมยังฐานะไม่ดี ต้องนั่งรถเมล์ เพราะไม่มีรถยนต์ มีแต่มอเตอร์ไซค์คันจิ๋ว อย่างตอนภรรยาท้อง (สุรีรัตน์ อุดมคุณธรรม) ผมไม่เคยคิดจะฝากท้องหรือไปหาหมอ นั่นคือเรื่องที่น่าเขกกบาลตัวเองมากที่สุด เพราะมุ่งแต่ทำงาน ตอนเขาปวดท้องคลอด ผมพาซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดตามยถากรรมเพราะจะคลอดแล้ว มาสำนึกตอนนี้ว่า เราแย่มาก ทำแต่งาน แต่ก็นั่นแหละเพราะความลำบาก ทำให้ลูกสาวได้เรียนรู้ชีวิตตั้งแต่เด็ก ตอนนี้เขาก็มาช่วยดูแลธุรกิจน้ำแร่ 6ty Degrees
“ส่วนลิลลี่ (ลิลลี่ อุดมคุณธรรม) ลูกสาวคนที่สอง มีพลังความคิดสู้ตายไม่แพ้พี่ ตอนนี้เขาดูแลโรงแรมบุราสาหรี่ ที่ภูเก็ตและหลวงพระบาง รวมทั้งโรงแรมไอซ์แลนด์เอสเคป และเซี่ยงไฮ้แมนชั่นที่เยาวราช ส่วนลูกชายคนสุดท้อง-กายสิทธิ์ (กายสิทธิ์ อุดมคุณธรรม) ทำร้านอาหารชื่อ ‘กระเพราคุณพ่อ’ เพราะพ่อชอบกินกะเพรา (ยิ้ม)”
แนะนำเรื่องการทำงานให้ลูกๆ อย่างไรบ้างคะ
“ผมปูพื้นฐานให้เขาแต่เด็ก อย่างเวลาผมสร้างห้างหรือทำร้านใหม่ๆ ก็พาลูกไปด้วย ให้เขาได้เห็นวิธีการว่า การเป็นผู้นำ ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ไปเช้า กลับดึก คุณต้องเห็นปัญหาดีกว่าคนอื่นถึงจะแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าทุกครั้งที่ไป คุณเอาแต่ชี้นิ้วอย่างเดียว คุณจะเป็นเจ้านายที่ไม่เห็นปัญหา ใช้แต่อำนาจสั่งการ เวลาลูกไปกับผม เขาจะเห็นว่าเราไปทำงาน ไม่ได้ไปเป็นนาย บรรยากาศหน้างานไม่มีคำว่าเจ้านายด้วยซ้ำ เราซื้อก๋วยเตี๋ยวไปฝากทีม ช่วยเขาคิดแก้ปัญหา ให้ทีมมีกำลังใจทำงาน เพราะไม่มีเขา เราก็อยู่ไม่ได้
“การทำงานต้องลงพื้นที่จริง อย่างการทำธุรกิจน้ำแร่ ตอนผมซื้อที่ดินที่เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีคนบอกว่าบริเวณนี้มีน้ำพุร้อน แต่ยังไม่เห็นด้วยตา ก็ตามไปดู ปรากฏว่ามีจริงๆ และมีถึง 30 บ่อ การลงพื้นที่ทำงานเอง ทำให้เราได้รู้ว่าอุณหภูมิน้ำมีหลากหลาย และน้ำแร่ที่ได้มาตรฐานสูงก็ควรจะอยู่ที่ 60 องศา เพราะเชื้อโรคอยู่ไม่ได้ แถมยังมีแร่ธาตุสูงถึง 16 ชนิด พอเห็นเองกับตา รู้เลยจุดแข็งคืออะไร จะสร้างจุดขายยังไง นอกจากเรื่องคุณประโยชน์ ผมทำการตลาดด้วยบริการส่งถึงบ้าน ซึ่งไม่มีใครทำมาก่อน”
ในฐานะผู้บริหารที่มีหลายธุรกิจ คุณมานิตหาสมดุลจัดการงานและชีวิตส่วนตัวยังไงคะ
“ผมถามกลับ สิ่งสำคัญของชีวิตคืออะไร?”
ใช่ความสุขไหมคะ?
“สำหรับผมคือสุขภาพ ถ้าสุขภาพไม่ดี ความสุขไม่มีทางเกิด เรื่องที่สำคัญมากคือ ต้องออกกำลังกาย มนุษย์เราเมื่อก่อนล่าสัตว์จึงแข็งแรง แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องออกไปล่า แต่กินอาหารสามมื้อห้ามื้อ บางทีก็กินอาหารขยะ กินคอเลสเตอรอล ลืมคิดไปว่า ยิ่งอายุเยอะ กระดูกยิ่งอ่อนแอ การเคลื่อนไหวช้าลง แต่กลับให้ร่างกายแบกน้ำหนักสองเท่า สามเท่า สุขภาพจะดีได้ยังไง?
“ผมเองต้องกลับมาดูแลสุขภาพ เพราะเคยเป็นสโตรก แล้วเอาชนะมาได้ด้วยใจสู้ พอถึงวันนี้จะอายุ 80 ปีแล้ว ต้องสร้างสมดุลระหว่างอายุกับร่างกายให้ดี ก่อนหน้านี้เคยหนัก 67 กิโล ตอนนี้เหลือ 58 กิโล ต้องหนักประมาณนี้จึงจะบาลานซ์กับมวลกระดูก
“นอกจากนี้ผมเลือกกินอาหารที่มีคุณค่า ไม่กินจุบจิบ ไม่กินหวาน เพราะอันตรายที่สุด ที่สำคัญคือคุณต้องควบคุมตัวเอง อย่าเห็นแก่ความอร่อย เพราะนี่คือชีวิต ทุกวันนี้เจอใคร ผมจะเทศน์เรื่องนี้ (หัวเราะ) อย่างเด็กๆ ที่ออฟฟิศ ถ้าเห็นว่าเขาน้ำหนักขึ้น ให้เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หรืออย่างเพื่อนเข่าไม่ดี ก็แนะนำให้ขี่จักรยาน ที่ชอบเตือนคนรอบข้างเพราะรู้สึกว่า เพื่อนมนุษย์ควรกระตุ้นสิ่งที่ดีให้กัน และผมเองก็ทำอย่างนั้น เวลาอยู่ออฟฟิศก็ไม่ใช้ลิฟต์ ไปทำงานก็ปั่นจักรยาน บางวันก็ปั่น 40 กิโลในกรุงเทพฯ รวมทั้งมาปั่นขึ้นเนินที่ Swan Lake ด้วย เพราะการปั่นขึ้นเนินจะช่วยให้หัวใจแข็งแรง นอกจากนี้จักรยานยังสอนเรื่องการใช้สติ เพราะต้องดูหนทางด้วย”
เล่าถึงตอนเป็นสโตรกหน่อยค่ะ
“ตอนทำโรบินสัน เรามุ่งจะประสบความสำเร็จ ความเครียดสูง ร่างกายอ่อนแอ มันคงสะสมมาตลอด เส้นเลือดไปแตกขณะที่นั่งปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชียงใหม่ ประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว ชาไปทั้งตัว พอไปถึงโรงพยาบาลหมอบอกว่า คุณมานิต สโตรกคุณแตกที่แกนกลางสมองนะ ซึ่งบริเวณนั้นเหมือนคอมพิวเตอร์ที่เก็บซอฟต์แวร์ เลือดไหลไปลงตรงนั้น ทำให้โปรแกรมทั้งหมดหายไป ร่างกายซีกขวาเป็นอัมพฤกษ์ไม่มีแรง ซีกซ้ายแค่พอขยับได้ หมอบอกว่าผมมีเวลา 6 เดือนในการฟื้นฟูร่างกายด้วยการทำกายภาพ และใน 3 เดือนแรกจะต้องฟื้นฟูให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำไม่ได้ ร่างกายจะไม่เหมือนเดิม ตอนนั้นภรรยาบินไปหา ผมบอกว่า ขอแค่ 2 วันนี้ ช่วยประคองหน่อยนะ แต่หลังจากนี้ต่อให้ต้องคลานก็ต้องปล่อยให้คลานไป ใจสั่งเลยต้องหาย สุดท้ายก็หายจริงๆ”
“ต้องบอกว่าก่อนหน้าจะเป็นสโตรก ผมเคยวิ่งมาราธอนมาก่อน เริ่มวิ่งตอนอายุ 39 ช่วงที่ทำงานที่โรบินสันเหมือนกัน ตอนนั้นผมเครียดมากจึงต้องออกกำลังกาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยทำเลย เพราะสมัยเด็กบ้านยากจน มุ่งแต่ทำงาน โตขึ้นมาก็ทำแต่งาน กลายเป็นขาไม่มีเรี่ยวแรง ผมใช้วิธีถ่วงถุงทรายที่ขาขณะวิ่งด้วยเพื่อให้มีกล้ามเนื้อ และด้วยความบ้า มาราธอนครั้งแรกในชีวิตผมลงสนามที่ 42 กิโลเลย ใช้เวลาซ้อม 1 ปี วิ่งไปเรื่อยๆ วันละ 10 กิโล 20 กิโล 30 กิโล จำได้ว่าวันลงสนามจริง ตอนที่วิ่งถึงกิโลเมตรที่ 33 แค่จะเดินยังไม่ไหว แต่ใช้ใจสั่งว่า ต้องทำให้ได้ จาก 33 กิโล ก็ค่อยๆ มีแรงไปที่ 35 กิโล พอถึงกิโลเมตรที่ 40 ความรู้สึกทำไม่ได้ ไม่มีแล้ว ชีวิตนี้ผมจบมาราธอนมา 3 ครั้ง การวิ่งมาราธอนทำให้รู้ว่า ร่างกายแข็งแกร่งแค่ไหน เพราะมาราธอนซื้อที่ใจ นั่นคือพลังจิต 100 เปอร์เซนต์ ผมคิดว่าถ้าชนะมาราธอน คุณจะชนะทุกอย่าง
“ใน 3 เดือนที่หมอกำหนดเวลา พอต้องทำกายภาพ ผมก็คิดถึงตอนที่ฝึกมาราธอน เพราะแขนขาไม่มีแรง จำได้ว่าเวลาเพื่อนมาเยี่ยม เขาเห็นผมจับตุ๊กตายางแล้วมือผมสั่นจนทำหล่น ใครเห็นก็คงปลงอนิจจังว่า ต้องตายแน่ๆ (หัวเราะ) เพราะตุ๊กตาเบาขนาดนั้นยังจับไม่ได้ แต่ผมไม่อายฝึกจับบ่อยๆ อย่างเรื่องขา ผมใช้วิธีถ่วงถุงทรายที่ขา ข้างละ 2 ถุง พอจะนอนค่อยถอดออก อันนี้คิดเองนะ หมอไม่ได้สั่ง ผ่านไปหนึ่งเดือน อาการดีขึ้น 5-6 เปอร์เซ็นต์ ขาเริ่มมีแรง นอกจากนี้พยายามเดินให้มากที่สุด อย่างเวลาพยาบาลเอารถเข็นมารับ ผมไม่ยอมนั่ง ฝืนเดิน แล้วคนเป็นอัมพฤกษ์ขาจะเป๋ เพราะไม่มีแรงบิด เราต้องฝืนบิดมันกลับมาให้เดินตรง ฝึกทุกวันจนทำได้ มือขวาที่ไม่มีแรง ก็คิดวิธีเอามือซ้ายประคองมือขวาไว้ข้างใต้ แล้วเอามือจุ่มกระบะทราย ค่อยๆ ฝึกกำทราย ยกทรายขึ้น ฝึกเป็นเดือน จนมือขวาแข็งแรงขึ้น
“และสิ่งที่ทำให้ผมกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมคือ จักรยาน พอเริ่มหายดี เดินได้ ขยับได้ ก็ไปขี่จักรยาน คนรอบตัวก็ต่อว่า ‘ป่วยแค่นี้ยังไม่พออีกหรือ (หัวเราะ) รู้ไหมว่าขี่จักรยานแล้วล้ม ตายทั้งเป็นเลยนะ’ ผมก็รับปากไปอย่างนั้นว่าไม่ไปๆ แต่ขี่จากคอนโดตรงหลังสวนไปสวนลุมพินี เพราะเป็นเส้นทางที่รถไม่เยอะและใช้ระยะทาง 1 กิโลเมตร ขี่ทุกวัน เห็นผลไวมาก เพราะจักรยานช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดี ทำให้นิ้วสามารถขยับได้เหมือนเดิม และจักรยานก็ทำให้ผมหายขาดจากสโตรก ร่างกายคืนกลับมา 99 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน จนหัวหน้ากายภาพบำบัดชมแล้วชวนผมให้มาช่วยคิดโปรแกรมทำกายภาพกับผมที่โรงพยาบาล (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นถ้าใจไม่สู้ ไม่มีทางหายแน่นอน”
แสดงว่าตอนป่วย ไม่เคยท้อใจเลยใช่ไหมคะ
“ผมคิดแต่ว่าจะชนะ คุณถึงจะมีพลัง แต่ถ้าคุณคิดว่าขอแค่ให้เดินได้ก็พอ คุณไม่มีทางไม่ชนะ ผมเคยไปช่วยกายภาพคนที่เป็นสโตรก พบว่ายากมาก ผมกับหัวหน้ากายภาพเห็นแล้วว่า เขาเดินท่าผิดปกติเพราะขาบิด นั่นหมายถึงประสาทสั่งการอาจจะเสีย ก็เตือนเขาว่า เดินอย่างนี้ไม่ได้นะ จะไม่หาย ต้องฝืนเดินให้ตรง พอเขาตอบกลับว่า ‘ถ้าฉันล้ม ใครรับผิดชอบ’ ผมคิดเลยว่าถ้าถามอย่างนี้คงช่วยไม่ได้ เพราะใจเขาไม่สู้ ถ้าคุณอยากหาย คุณต้องฝืนตัวเอง”
สำหรับคุณมานิต สโตรกสอนอะไรคะ
“สอนว่าชีวิตต้องไม่ยอมแพ้ สโตรกบอกถึงสังขารที่บกพร่อง แต่ข้อบกพร่องจะมากขึ้น เมื่อพลังจิตอ่อนแอ หรือจิตใจยอมแพ้ เช่นเดียวกับชีวิต มนุษย์เรามักง่าย บางครั้งต้องการโชว์ผลงาน ทำตั้งนานแล้วไม่มีผลงานกลัวจะเสียหน้าจึงเลิกทำกลางคัน คุณทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าตั้งเป้าแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งจะสำเร็จได้ ต้องไม่มีพลังลบให้บั่นทอนใจ ผมคิดว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าตั้งใจและไม่กลัว เราจะทำได้ทุกอย่าง ขอให้สิ่งนั้นบริสุทธิ์และสุจริต ลงมือทำเลย”
“หลักการนี้ใช้กับทุกเรื่อง อย่างการทำธุรกิจ มันยาก แต่ถ้าเราตั้งมายด์เซ็ตว่าต้องทำให้สำเร็จ ถ้ามีปัญหาก็ต้องแก้ตามที่ตั้งใจไว้ อย่าเพิ่งล้มเลิกเป้าหมายกลางคัน ทำให้เต็มที่”
อีกเรื่องที่หลายคนสงสัยคือ คุณมานิตมีภาพลักษณ์ที่เรียบง่าย ขัดกับภาพนักธุรกิจทั่วไป
“Easy, Simple, No Condition คือคติของผมน่ะ ผมเรียนรู้หลักการ 20/80 จากคุณอนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งหลักการนี้เป็นของนักปราชญ์ชาวอิตาลีชื่อ วิลเฟรโด พาเรโต ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต หลักเขามีอยู่ว่า บางครั้งเราลงมือทำอะไรสักอย่าง โดยใช้เวลา 20 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถให้ประโยชน์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กลับกันบางเรื่องทุ่มเวลาไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้ผลแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น การประชุมใช้เวลาเยอะ แต่บางครั้งให้ผลลัพธ์น้อย เพราะฉะนั้นคนบริหารประชุมต้องแม่นและเด็ดขาด ต้องรู้ว่าอะไรคือสาระ อะไรไม่ใช่ สำหรับผม ถ้ารู้สึกว่านอกเรื่อง ก็ตัดจบเลย
“หรืออย่างข้าวของที่คุณใช้ ลองสังเกตดู เสื้อผ้าที่หยิบบ่อยๆ จากตู้ มีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ที่เหลือมักไม่ได้ใช้ เมื่อก่อนผมก็มีเสื้อผ้ามากมาย พอใช้หลักการนี้ ผมก็ทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็น เพราะบางครั้งเราเก็บไว้ด้วยความเสียดาย ด้วยความงก ไปจนถึงคำว่า ‘เผื่อ’ ซึ่งเสียทั้งพื้นที่และเวลา แทนที่คุณจะเปิดตู้ เลือกเสื้อผ้า 5 นาที ให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่มักต้องใช้เวลาเลือกแล้วเลือกอีก ทั้งที่สุดท้ายก็หยิบเสื้อผ้าตัวเก่งใน 20 เปอร์เซ็นต์ นั้น”
“ถ้าต้องมีเยอะเพราะเป็นเรื่องงาน เรื่องจำเป็น ก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณมีเยอะ ซื้อเยอะเพราะอยากโชว์ออฟ ต้องแต่งตัวดีๆ ไม่อย่างนั้นกลัวคนอื่นจะดูถูก อยากให้ลองคิดว่า ชีวิตเราต้องอยู่กับคำว่า ดูถูก ดูผิดหรือ ทำไมไม่อยู่กับความมั่นคงของตัวเอง อยู่ด้วยความภูมิใจและความสามารถ ทำไมคุณถึงสร้างความรู้สึกไม่ดีกับหน้าตาตัวเอง คุณไม่ได้ขอเงินใคร แล้วทำไมศักดิ์ศรีคุณจะไม่มี ทำไมต้องให้สังคมตัดสิน คุณควรภูมิใจในเอกลักษณ์ของตัวเองสิ”
เมื่อก่อนคุณมานิตเคยซื้อของแพงๆ หรือห่วงหน้าตาไหม
“เสื้อผ้าแพงๆ ไม่เคยซื้อ แต่ซื้อรถ สมัยก่อนเขานิยมว่า เวลาเอาเงินเข้าธนาคารต้องขับรถเบนซ์ เราก็พยายามหารถเบนซ์มาขับจนได้ พอรู้หลักการ 20/80 ทิ้งรถเลย เพราะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ทุกวันนี้ปั่นจักรยานไปทำงาน ส่วนรถยนต์ถ้าจะใช้ ยี่ห้ออะไรก็ได้”
“ส่วนเรื่องห่วงหน้าตา สมัยอยู่โรบินสัน ถ้าคุณจะนัดเจอผม ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน บางครั้งให้เขารอเป็นเดือน เพราะผมหน้าใหญ่ ใครนัดมารับหมด อยากโชว์ออฟว่าตัวเองใหญ่ ส่วนเดี๋ยวนี้ถ้าจะคุยเรื่องไม่มีสาระ ผมไม่คุย แต่ถ้าคุยเรื่องที่เป็นประโยชน์ จะนัดผมพรุ่งนี้ แล้วตารางผมว่าง ก็ยินดี ทำแบบนี้ชีวิต Simple เลย เพราะเวลามีค่า”
ทุกวันนี้รู้สึกพอใจกับสิ่งที่มีแล้วยังคะ
“ความพอของมนุษย์ไม่มี ถ้ามีคือบวช (หัวเราะ) เมื่อไหร่ที่คุณทำธุรกิจต้องมีเป้าหมาย สำหรับผมเป้าหมายคือต้องชนะ คุณต้องไขว่คว้าหาความรู้ หาคนเก่งมาช่วยคุณ แต่สิ่งที่อยากทำมากๆ ตอนนี้คือ เรื่องที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ”
มีวิธีทำธุรกิจให้บาลานซ์เรื่องผลกำไรและประโยชน์อย่างไรคะ
“โปรเจ็กต์ Swan Lake สอนผมว่า มนุษย์อย่าทำลายธรรมชาติ เมื่อก่อนพื้นที่ 200 ไร่ตรงนี้เป็นเขาหัวโล้น ผมเปลี่ยนใหม่ทุกอย่าง ปลูกต้นไม้ใหม่ทั้งหมดกว่า 40,000 ต้น ขุดสระน้ำกว่า 7 สระ การทำธุรกิจนี้มันเริ่มเปลี่ยนจิตใจผม จากเดิมที่ทำธุรกิจเพื่อหาผลประโยชน์ ผมเริ่มเห็นแล้วว่าน้ำกับต้นไม้ คือเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต ถ้าไม่มีน้ำ ต้นไม้ตาย ถ้าไม่มีต้นไม้ ไม่มีอากาศ โครงการผมสร้างพื้นที่ป่ามากกว่าที่อยู่อาศัย และแต่ก่อนเราเคยเปิดสอนการทำแปลงผักออแกนิค ให้ชาวบ้านเข้ามาทำงานกับเราทั้งหมด 15 วัน สอนครบทุกอย่าง โดยจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้ด้วย เพื่อให้เขาไปต่อยอดได้ แต่ตอนนี้พอต้นไม้โตขึ้น มันบังแสงอาทิตย์ โปรเจ็กต์นี้จึงเลิกไป นี่คือการบาลานซ์การทำธุรกิจและประโยชน์ของชาวบ้าน ธุรกิจก็ทำ ก็ขายเต็มที่ แต่สิ่งให้ ก็เต็มที่เหมือนกัน
“อีกโปรเจ็กต์ที่ผมกำลังทำตอนนี้อยู่ที่เชียงดาว นอกจากซื้อที่ดินไว้สำหรับทำธุรกิจน้ำแร่ ผมมีที่จำนวนหนึ่ง กำลังให้ผู้เชี่ยวชาญทดลองเลี้ยงปลา ไก่ ห่าน แบบออร์แกนิก ไม่ได้เลี้ยงเพื่อทำธุรกิจแล้วหวังรวยคนเดียว แต่อยากจะสอนชาวบ้าน ฟรีๆ ให้เขาเอาความรู้ไปใช้ทำมาหากินได้ และผมก็วางแผนไว้ว่า อยากให้เชียงดาวเป็นเมืองของจักรยาน จะลงทุนซื้อจักรยานจากญี่ปุ่น ประมาณ 1,000 คัน คันละประมาณ 3,000-4,000 บาท แต่ขายให้ชาวบ้านในราคา 1,000 บาทเท่านั้น เพื่อให้คนที่นี่มีสุขภาพที่ดี เพราะชาวนา ชาวไร่ พออายุ 60 ขึ้นไป เขาแทบไม่ออกกำลังกาย นั่ง นอนอยู่ที่บ้านเป็นหลัก หากสังเกตดูตามต่างจังหวัดคนป่วยเยอะมาก นี่คือสิ่งที่อยากจะทำโดยไม่เคลือบแฝงธุรกิจหรือโปรโมตตัวเอง พอแอดติจูดเปลี่ยนว่าเราอยากทำเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นจะงกไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะถ้าคุณงก หวังแต่กำไร คุณจะไม่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น”
ธุรกิจยุคนี้การแข่งขันสูง หัวใจหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จคืออะไร
“มาร์เก็ตติ้ง คุณต้องมองตลาดให้ทะลุ และที่สำคัญคือของต้องดีจริง อย่าโกหก สมัยนี้การต่อสู้ดุเดือด แต่ถ้าของคุณดีจริงจะ คุณจะกลัวอะไร ที่คุณกลัวเพราะของคุณไม่ดีจริง และถ้าคุณโกหก คนเขาก็สัมผัสได้ อนาคตจะไม่มีใครเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นเรื่องจริง
“หลักต่อมาคือต้องจริงใจกับลูกค้า ต้องสนับสนุนลูกค้าให้ขายดี พอเราจริงใจ เวลาเกิดปัญหาอะไรเขาจะช่วยเหลือ แม้กระทั่งลูกน้องก็เหมือนกัน ความจริงใจสำคัญมาก เขาทำงานตรงไหนบกพร่องต้องสอน ต้องพูดเรื่องจริง แล้วเขาจะไว้ใจ”
ยังมีอะไรที่อยากทำอีกไหมคะ
“อยากสอนไทเก๊ก จะบอกว่าการเล่นไทเก๊กคือความสุขในทุกวันนี้ก็ได้ ผมเล่นมา 30 ปีแล้ว มันช่วยฝึกจิต เหมือนการปฏิบัติธรรมขั้นสูง เพราะคุณต้องมีสติกับการเคลื่อนไหว ตอนนี้อยากส่งต่อความรู้ให้คนอื่น เรียกว่าสร้างทายาทมารับช่วงต่อ
“ถ้าเป็นเป้าหมายอื่นๆในชีวิต ผมมองว่าครอบครัว ต้องเป็นทีมเวิร์คที่ดี รัก สามัคคี ปรองดองกัน ส่วนธุรกิจ ตั้งใจทำอะไรต้องประสบความสำเร็จ เพราะชีวิตคุณอยู่ได้เพราะงาน ที่ช่วยเลี้ยงดูครอบครัว ถ้าเจอปัญหาก็ใช้ความคิดและความตั้งใจ แก้ไขกันไป
เป้าหมายคือเท่านี้เลย (ยิ้ม)
เรื่อง Fai
ภาพ วรสันต์